“ยุทธการโอกินาวา” เวทีสุดท้ายก่อนสิ้นสุดสงครามโลก

โดยผิวเผินเรารู้เพียงแค่ว่าสงครามโลกครั้งที่สองจบลงด้วยการทิ้งระเบิดปรมาณูที่จังหวัดฮิโรชิมา (広島県) และนางาซากิ (長崎県) แต่ในช่วงก่อนสงครามโลกจะปิดฉากลง ยังมีช่องว่างอีกมากมายให้เราไปสืบค้นและเติมเต็มเรื่องที่ขาดหายไป เช่น “ยุทธการโอกินาวา (沖縄戦)” หรือ “Operation Iceberg” ที่เพื่อนๆ อาจจะไม่คุ้นหูกันแต่นับเป็นสมรภูมิสุดท้ายก่อนการทิ้งระเบิดดังกล่าว เนื่องในโอกาสที่ช่วงนี้ตรงกับช่วงยุทธการโอกินาวาพอดี เรามาทำความรู้จักหนึ่งในเวทีสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 กันค่ะ

(เนื่องจากในบทความนี้มีบางประเด็นที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนในเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชีวิตของผู้คน ANNGLE จึงพยายามเสนอข้อมูลจากทั้งสองฝ่ายอย่างเป็นกลางที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยขอให้เพื่อนๆ ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการเสพข้อมูลอีกทีด้วยนะคะ)

รู้จักหมากและกระดาน

ถ้าสมมติให้ยุทธการโอกินาวาเป็นหมากรุก กระดานของเกมนี้มีเกาะโอกินาวา (沖縄本島) ทั้งเกาะเป็นสนามหลัก โดยหมากฝั่งหนึ่งคือจักรวรรดิญี่ปุ่น (日本帝国) และอีกฝั่งหนึ่งคือสัมพันธมิตรที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนหลัก สำหรับฐานกำลังนั้นแรกเริ่มฝั่งญี่ปุ่นมีฐานกำลังอยู่ที่เกาะคิวชู (九州) และไต้หวันก่อนจะเข้ามาตั้งกำลังหลักที่พระราชวังชูริ (首里城) บนเกาะโอกินาวา ในขณะที่อเมริกายึดเกาะเครามะ (慶良間諸島) ที่ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของเกาะโอกินาวาเป็นฐานได้ก่อนจะรุกขึ้นฝั่งเกาะโอกินาวาค่ะ

คนโอกินาวาอยู่ที่ไหนในยุทธการนี้?

โอกินาวาที่ตอนนั้นเป็นจังหวัดหนึ่งของญี่ปุ่นโดยสมบูรณ์ทำหน้าที่เป็นฐานกำลังให้กับญี่ปุ่น โดยประชาชนชาวโอกินาวามีหน้าที่ให้ความสนับสนุนด้านเสบียงอาหารให้กับกองทัพญี่ปุ่นค่ะ อย่างไรก็ตาม โอกินาวาที่ยังไม่ฟื้นตัวจากนรกสาคู (ソテツ地獄) ดีนั้นยังอยู่ในสภาวะอดอยาก และด้วยภาวะสงครามจึงทำให้หลายครัวเรือนขาดแคลนอาหาร ถึงอย่างนั้นก็ยังต้องมอบเสบียงของตนให้กับกองทัพญี่ปุ่นเพราะข้อหากบฏ นอกจากนี้คนโอกินาวาคนหนึ่งจะถูกตั้งข้อหาว่าเป็นกบฏก็ต่อเมื่อพูดภาษาถิ่น เนื่องจากภาษาถิ่นของโอกินาวานั้นแตกต่างและไม่สามารถสื่อสารกับภาษาญี่ปุ่นได้ ทางกองทัพญี่ปุ่นจึงมองว่าการพูดภาษาถิ่นระหว่างคนโอกินาวาด้วยกันนั้นมีความเสี่ยงที่จะเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ส่งผลเสียต่อกองทัพ หรือาจจะเป็นสายลับให้กับทางสัมพันธมิตรก็เป็นได้ จึงเป็นที่มาของการตั้งข้อหากบฏกับชาวโอกินาวาที่ใช้ภาษาถิ่นค่ะ

นอกจากคอยสนับสนุนด้านเสบียงให้กับกองทัพญี่ปุ่นแล้ว ยังมีการเกณฑ์คนพื้นเมืองรวมถึงแรงงานจากเกาหลีเข้ากองทัพไปทำหน้าที่ต่างๆ เช่นนักเรียนมัธยมต้นชายที่ถูกเกณฑ์เข้าเทคเคตสึคินโนไท (鉄血勤皇隊) ที่ประจำการอยู่แนวหน้าในสนามรบ และนักเรียนหญิงจากโรงเรียนฮิเมยูริ (ひめゆり学徒隊) ถูกเกณฑ์เข้าหน่วยพยาบาล เป็นต้น นอกเหนือจากกลุ่มคนที่ถูกเกณฑ์แล้ว ที่ชาวโอกินาวาที่เหลือต่างหลบภัยอยู่ในสุสานบรรพบุรุษ ถ้ำหินปูน หรือนั่งเรือลี้ภัยไปคิวชูกัน อย่างไรก็ตาม ในจำนวนเรือที่ลี้ภัยไปคิวชู มีจำนวนไม่น้อยที่ถูกเรือดำน้ำของสัมพันธมิตรโจมตีและล่มลง

「花匂う海」หนึ่งในผลงานธีมสันติภาพที่ถูกจัดแสดงในนิทรรศการที่หอสันติภาพ เนื้อเรื่องของภาพนี้คือเหตุการณ์เรือสึชิมะมารุในคืนวันที่ 22 สิงหาคม 1944 เหตุการณ์นี้เป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมของโอกินาวาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเรืือสึชิมะมารุที่มีนักเรียนและครูโดยสารอยู่เพื่อลี้ภัยสงครามถูกเรือดำน้ำของสหรัฐอเมริกาโจมตีทำให้เรือล่มและนักเรียนประถมรวมถึงครูทั้งหมดรวม 1484 คนเสียชีวิตในเหตุการณ์นั้น ในภาพนี้อาจารย์นิชิมุระผู้วาดเปลี่ยนเด็กๆ ที่เสียชีวิตให้เป็นมือของเทพเทวดาซึ่งยื่นออกยังดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ถึงสันติภาพ นอกจากนี้ในคลื่นทะเลยังมีตัวเลขวันที่เกิดเหตุการณ์เขียนอยู่

ยุทธการโอกินาวาตามลำดับเหตุการณ์

หลังจากทำความรู้จักฉากหลังของยุทธการโอกินาวากันไปแล้ว ลองมาดูลำดับเหตุการณ์กันค่ะ

24 มีนาคม ค.ศ. 1945

-กองทัพเรือสหรัฐฯ โจมตีตามแนวชายฝั่งเพื่อเตรียมยกทัพขึ้นฝั่งบนเกาะโอกินาวา

-หน่วยที่ 77 ยึดเกาะเครามะสำหรับเป็นฐานเพื่อบุกเกาะโอกินาวาต่อไป

29 มีนาคม ค.ศ. 1945

สหรัฐฯ ยึดเกาะเครามะเป็นฐานทัพของสัมพันธมิตรได้โดยสมบูรณ์

31 มีนาคม ค.ศ. 1945

กองทัพสหรัฐฯ หยุดการโจมตีตามแนวชายฝั่ง ถึงตอนนั้นระเบิดที่ถูกใช้ในการโจมตีมีทั้งหมด 3 หมื่นลูกโดยประมาณ

1 เมษายน ค.ศ. 1945

กองทัพสหรัฐฯ ยกพลขึ้นฝั่งที่เมืองโยมิตัน (読谷村) ได้โดยแทบไม่เจอกองกำลังของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลยุทธ์ของฝั่งญี่ปุ่นที่ยอมยกชายฝั่งโยมิตันให้เพื่อเก็บกำลังไว้รบในภายหลัง

5 เมษายน ค.ศ. 1945

กองกำลังสัมพันธมิตรพบแนวป้องกันของฝั่งกองทัพญี่ปุ่นในช่วงตอนใต้ของเกาะ

6 เมษายน ค.ศ. 1945

-การปะทะกันในเกาะโอกินาวารุนแรงขึ้นเมื่อกองกำลังสัมพันธมิตรเคลื่อนที่จากชายฝั่งเข้าไปในเกาะมากขึ้น โดยเฉพาะการรบที่คาคาสุ (嘉数) ซึ่งเป็นแนวสันเขาและที่ตั้งแนวป้องกันของฐานทัพญี่ปุ่นที่พระราชวังชูริ

-กองกำลังสัมพันธมิตรแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งเคลื่อนขึ้นตอนเหนือของเกาะที่ยันบารุ (やんばる) และอีกกลุ่มเคลื่อนไปทางใต้ การรบบนเกาะโอกินาวาจึงถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน

-กองทัพญี่ปุ่นใช้กลยุทธ์คามิคาเสะ (神風) ซึ่งเป็นการโจมตีแบบพลีชีพ โดยนักบินจะบังคับเครื่องเข้าชนเรือรบของสัมพันธมิตร กลยุทธ์นี้มีผลในด้านความแม่นยำ ความเสียหาย และผลกระทบด้านจิตใจของฝ่ายตรงข้าม จำนวนเรือรบที่ถูกคามิคาเสะโจมตีมีทั้งหมด 34 ลำ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับความเสียหายใกล้เคียงกัน เนื่องจากมีเครื่องบินรบจำนวนไม่น้อยที่ถูกยิงตกก่อนจะทันดับเครื่องเข้าชนเรือสัมพันธมิตร

เรือรบยามาโตะ (大和) หนึ่งในเรือรบที่ใหญ่ที่สุดที่เคยถูกสร้าง เคลื่อนออกจากญี่ปุ่นพร้อมเรือลาตระเวนและเรือพิฆาตเล็ก 8 ลำ

7 เมษายน ค.ศ. 1945

เรือดำนำสหรัฐฯ สำรวจพบเรือรบยามาโตะที่กำลังเข้าใกล้สนามรบที่โอกินาวาโดย ณ ขณะนั้นสำหรับฝั่งญี่ปุ่นแล้วเป็นที่ชัดเจนว่าภารกิจที่โอกินาวาคือภารกิจพลีชีพเนื่องจากไม่มีเครื่องบินรบคุ้มกันให้ ในช่วงเช้าของวันกองทัพเรือและเครื่องบินรบสหรัฐฯ พบเรือยามาโตะและสกัดไว้โดยใช้เครื่องบินรบ 380 ลำ เรือยามาโตะที่ไม่มีเครื่องบินรบคุ้มกันถูกโจมตีทางอากาศและล่มลงในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน โดยมีลูกเรือหลายคนหายสาบสูญไปในเหตุการณ์นี้

ภาพขณะเรือยามาโตะระบิดหลังถูกโจมตีมาเป็นเวลานานจากกองทัพอากาศ

10 เมษายน ค.ศ. 1945

กองกำลังสหรัฐฯ เข้ายึดเกาะฝั่งตะวันออกของเกาะโอกินาวาตามแผน Island Hopping หรือ Leapfrogging ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่เน้นการยึดเกาะสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่แม้จะไม่ได้ถูกวางกำลังแน่นหนาแต่ก็มีศักยภาพที่จะช่วยให้บุกเกาะหลักของญี่ปุ่นได้มากขึ้น

13 เมษายน ค.ศ. 1945

กองกำลังสหรัฐฯ ที่มุ่งหน้าขึ้นเหนือเดินทางไปถึงแหลมเฮโดะ (辺戸岬) ที่อยู่เหนือสุดของเกาะโอกินาวา

16 เมษายน ค.ศ. 1945

กองกำลังสหรัฐฯ ปะทะกับกองกำลังญี่ปุ่นที่เกาะอิเอะ (伊江島) ที่ตั้งอยู่ตอนเหนือของแหลมโมโตบุ (本部) ทางตะวันตกของเกาะ โดยกองกำลังที่แหลมโมโตบุเป็นฐานแนวป้องกันของกองทัพญี่ปุ่น

19 เมษายน ค.ศ. 1945

แนวป้องกันของญี่ปุ่นถอยร่นมาที่เมืองนะฮะ (那覇市) และถูกตั้งแนวป้องกันใหม่ตามเขตแดนที่เสียไป

20 เมษายน ค.ศ. 1945

ญี่ปุ่นเสียแหลมโมโตบุให้กับกองทัพสหรัฐฯ โดยทหารที่ญี่ปุ่นที่อยู่ในแนวป้องกันต่างถูกจับเป็นเชลยหรือเสียชีวิตในการรบ

 21 เมษายน ค.ศ. 1945

ญี่ปุ่นเสียเกาะอิเอะของโมโตบุให้กับกองทัพสหรัฐฯ

4 พฤษภาคม ค.ศ. 1945

กองทัพญี่ปุ่นตั้งแนวป้องกันใหญ่ในตอนใต้ของเกาะ โดยแนวป้องกันถูกตั้งตลอดแนวขวางของเกาะ จากชายฝั่งตะวันตกไปยังชายฝั่งตะวันออกของเกาะ กล่าวคือจากเมืองนะฮะไปยังเมืองโยนาบารุ (与那原町) การปะทะในแนวรบนี้เป็นหนึ่งในการรบที่ดุเดือดที่สุดของเกาะ โดยหนึ่งในนั้นคือการรบที่สันเขามาเอดะ (前田高地) หรือที่เพื่อนๆ บางคนอาจจะรู้จักในฐานะ Hacksaw Ridge จากภาพยนตร์ Hacksaw Ridge (2016) ค่ะ

27 พฤษภาคม ค.ศ. 1945

เมืองนะฮะถูกกองทัพสหรัฐฯ ยึดโดยสมบูรณ์ทำให้กองกำลังสัมพันธมิตรเข้ายึดแหลมโอโรคุ (小禄) ได้ง่ายขึ้น

29 พฤษภาคม ค.ศ. 1945

หลังจากกองกำลังสัมพันธมิตรเข้ายึดสันเขารอบพระราชวังชูริในช่วงวันที่ 13-25 พฤษภาคม ญี่ปุ่นก็เสียพระราชวังชูริซึ่งเป็นฐานกำลังสำคัญให้กับสัมพันธมิตร โดยตัวพระราชวังถูกทำลายโดยสิ้นเชิงจากการรบ

พระราชวังชูริก่อนถูกทำลายในสงคราม

10 มิถุนายน ค.ศ. 1945

สหรัฐอเมริกายื่นข้อเสนอให้กองทัพญี่ปุ่นยอมจำนนแต่ไม่ได้รับการตอบรับ การรบจึงยังดำเนินต่อไป

17 มิถุนายน ค.ศ. 1945

กองกำลังญี่ปุ่นถูกแบ่งออกเป็นสามกลุ่มและมีการเกณฑ์คนเข้ามารบมากขึ้น แต่กองกำลังที่ถูกเกณฑ์โดยมากยอมจำนนต่อสัมพันธมิตรมากกว่าจะสู้จนตัวตายตามแผนของกองทัพญี่ปุ่น โดยจนถึงตอนนี้การรบที่โอกินาวาเป็นการรบเพื่อถ่วงเวลาให้กับจักรวรรดิญี่ปุ่น

22 มิถุนายน ค.ศ. 1945

พื้นที่เกาะโอกินาวาส่วนมากถูกกองกำลังสัมพันธมิตรยึด ทหารญี่ปุ่นที่ไม่ได้ถูกจับเป็นเชลยหรือเสียชีวิตในการรบเลือกกระทำอัตนิวิบาตกรรม หนึ่งในนั้นคือนายพลอุชิจิมะ มิตสึรุ (牛島 満) ผู้บัญชาการรบที่โอกินาวา ซึ่งกระทำอัตนิวิบาตกรรมพร้อมเจ้าหน้าที่ใต้บังคับบัญชาหลังรายงานความพ่ายแพ้ที่ยุทธการโอกินาวาให้เบื้องบนทราบ เป็นอันสิ้นสุดยุทธการโอกินาวาหรือพายุเหล็ก (鉄の暴風)

ความสูญเสีย

แม้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจะไม่แน่นอน แต่จากจำนวนที่มีการสำรวจสามารถประมาณได้คร่าวๆ ว่ามีผู้เสียชีวิตจากฝ่ายสัมพันธมิตร 14,000-20,000 คน ฝ่ายกองทัพญี่ปุ่น 77,000-110,000 คน และพลเมือง 40,000-150,000 คนค่ะ จากจำนวนคร่าวๆ จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตส่วนมากตกอยู่ที่พลเมืองคนโอกินาวา ซึ่งสาเหตุมีทั้งจากการถูกเกณฑ์เข้ากองทัพ ความอดอยาก ถูกลูกหลงจากการรบ และกระทำอัตนิวิบาตกรรมค่ะ

จากบันทึกคำบอกเล่าของผู้รอดชีวิต มีรายงานที่กล่าวว่าทหารญี่ปุ่นเข้าไปหลบภัยในที่พัก สุสาน และถ้ำหินปูนร่วมกับชาวบ้าน จึงมีความเป็นไปได้ที่ทหารจากฝั่งสัมพันธมิตรจำต้องสังหารทุกคนในที่นั้นเนื่องจากไม่สามารถแบ่งแยกได้ว่าใครคือทหารญี่ปุ่นและใครคือพลเมืองโอกินาวา

สำหรับการกระทำอัตนิวิบาตกรรมของชาวบ้านนั้น ยังมีข้อถกเถียงและข้อขัดแย้งว่ามีเหตุจากการให้ข้อมูลของกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งให้ข้อมูลกับชาวบ้านว่าจะถูกทหารสัมพันธมิตรทำร้ายหากถูกพบหรือแพ้สงคราม ทำให้ในช่วงที่ญี่ปุ่นจะแพ้สงครามจึงมีชาวบ้านกระทำอัตนิวิบาตกรรมทั้งครอบครัวเพราะความหวาดกลัวค่ะ ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เคยเป็นประเด็นถกเถียงกันระหว่างหน่วยงานรัฐท้องถิ่นของจังหวัดโอกินาวากับหน่วยงานรัฐของญี่ปุ่นเนื่องจากมีหนังสือเรียนที่มีเนื้อหาว่าชาวบ้านถูกบังคับให้กระทำอัตนิวิบาตกรรมเพื่อเลี่ยงการตกเป็นเชลยศึก เมื่อมีข้อเสนอให้แก้ไขเนื้อหาดังกล่าวเป็นอื่นจึงเกิดการประท้วงขึ้นในกลุ่มคนจังหวัดโอกินาวาโดยเรียกร้องให้เสนอเนื้อหาตามความเป็นจริง ในช่วงที่เกิดการประท้วงมีการหยิบยกคำให้การของผู้รอดชีวิตซึ่งมีรายงานที่ตรงกันว่าได้รับระเบิดมือจากกองทัพและมีการกล่าวถึงการตายที่มีเกียรติซึ่งกระทำได้โดยฆ่าผู้อื่นก่อนฆ่าตัวตายตาม หรือให้ทหารญี่ปุ่นฆ่าให้ ข้อถกเถียงนี้สิ้นสุดโดยการยินยอมให้มีการตีพิมพ์เนื้อหาว่ากองทัพเป็นผู้รับผิดชอบต่อการกระทำอัตนิวิบาตกรรมของพลเมือง ทั้งนี้เนื้อหามีความจริงเพียงใด ก็มีเพียงผู้อยู่ในเหตุการณ์เท่านั้นที่รู้ค่ะ

โอกินาวาที่ไม่เหมือนเดิม

ยุทธการโอกินาวานั้นถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อหนึ่งของโอกินาวาก็ว่าได้ค่ะ นอกจากภูมิประเทศที่เปลี่ยนไปเพราะสงครามแล้ว วิถีชีวิตใต้การปกครองของสหรัฐฯ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของโอกินาวาไปอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีวัฒนธรรมและประเพณีที่หายสาบสูญไปกับสงครามเพราะภูมิปัญญาที่หายไปพร้อมกับผู้เสียชีวิตในสงคราม อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีความพยายามกู้วัฒนธรรมเหล่านั้นกลับมา หนึ่งในวัฒนธรรมที่กู้มาได้สำเร็จนั้นมีเช่นการระบำพื้นเมืองและชาบุกุบุกุ (ブクブク茶) เป็นต้น นอกจากเนื้อหาที่เราได้ดูกันมาข้างต้นแล้ว ยังมีรายละเอียดอีกมากที่มีแต่ผู้อยู่ในเหตุการณ์เท่านั้นที่จะรู้ได้

สภาพเมืองนะฮะหลังสงคราม

รู้จักยุทธการโอกินาวาเพิ่มเติม

เพื่อนๆ ที่สนใจสามารถเดินทางไปเยี่ยมสวนอนุสรณ์สันติภาพ (平和祈念公園) ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณสนามรบสุดท้ายของยุทธการโอกินาวา ในสวนมีพิพิธภัณฑ์ยุทธการโอกินาวาและสื่อบันทึกคำบอกเล่าผู้อยู่ในเหตุการณ์ให้เพื่อนๆ ที่สนใจได้อ่านได้ฟังกันค่ะ จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้ไปเยี่ยมมานั้น ด้วยความที่พิพิธภัฑ์นี้ให้เราได้เห็นภาพความโหดร้ายแบบไม่ปิดบังสำหรับเรานั้นอาจเหมือนการดิ่งเข้าไปในฝันร้ายและตื่นขึ้นมาเมื่อออกจากพิพิธภัณฑ์ แต่สำหรับผู้อยู่ในเหตุการณ์มันคือความจริงไม่ว่าในยามตื่นหรือหลับ ถึงอย่างนั้น ยุทธการโอกินาวาก็เป็นตัวต่อชิ้นหนึ่งในสงครามโลกที่ไม่ควรลืมค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก asahiokinawa-senshicity.okinawa.okinawaprecedensecondworldwarhistoryhistorynetkouen.heiwa-irei-okinawamca-marineswikimediasyuri-sinkoukailivedoor.blogimg ค่ะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save