ของเล่นสมัยโบราณ ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัยก็ยังคงมีคุณค่าและสำคัญต่อการเรียนรู้วัฒนธรรมในอดีต แต่บางชิ้นก็ยังคงเล่นกันอยู่จนถึงปัจจุบัน มีของเล่นสมัยเก่าของญี่ปุ่นที่หลาย ๆ คนคุ้นเคยเช่น ลูกข่างโคมะ ถุงโอเทดามะ เคนดามะ วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักของเล่นเหล่านี้ให้มากขึ้น รวมทั้งต้นกำเนิดของแต่ละชิ้น ต้องบอกว่าน่าสนใจทุกอันเลยทีเดียว จัดไปเลยค่ะจุก ๆ 7 ชิ้น!
独楽 (koma) ของเล่นที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น ??
ดูโพสต์นี้บน Instagram
โคมะเป็นของเล่นลักษณะทรงกรวยคล้ายกับลูกข่าง วิธีเล่นคือนำเชือกมาพันรอบ ๆ อย่างแน่นหนา จากนั้นก็สะบัดให้โคมะหลุดออกจากเชือก แรงที่คลายเชือกออกจะทำให้โคมะหมุนอยู่บนพื้น หากเป็นโคมะขนาดเล็กจะใช้นิ้วหมุนแทนโดยไม่ต้องใช้เชือก โคมะเป็นของเล่นที่ต้องอาศัยความละเอียดอ่อนเนื่องจากจะสามารถหมุนได้เพียงวิธีเดียวคือการพันเชือกและหมุนได้ยากพอสมควร แต่หากฝึกฝนบ่อย ๆ ก็จะสามารถหมุนได้อย่างสวยงาม ไม่โอนเอนและหมุนได้นาน เป็นความสนุกและท้าทายไม่เพียงแต่สำหรับเด็กแต่รวมถึงผู้ใหญ่ด้วย
มีสองวิธีในการสนุกกับโคมะ หากเล่นคนเดียวคือหมุนแล้วลุ้นให้หมุนได้นานที่สุด หากเล่นกับเพื่อน ๆ คือปล่อยให้โคมะหมุนมาชนกัน ของใครหยุดหมุนก่อนจะเป็นฝ่ายแพ้ สำหรับวิธีในการหมุนโคมะ หากใช้นิ้วบิดจะเรียกว่า ひねり独楽 (hineri goma) หากใช้เชือกพันจะเรียกว่า 投げ独楽 (nage goma) กับ 糸巻き独楽 (itomaki goma) ถือเป็นของเล่นคลาสสิกที่เป็นที่ชื่นชอบไปทั่วโลก แต่อาจจะมีรูปลักษณ์ที่ต่างกันออกไป
ว่ากันว่าโคมะเป็นของเล่นที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น ต้นกำเนิดของโคมะคือบูจิโกมะ ซึ่งมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 เป็นของเล่นโบราณที่จะใช้ไม้ลักษณะคล้ายแส้ตีให้ลูกข่างหมุนไปเรื่อย ๆ มีการขุดค้นพบโคมะไม้ทรงกรวยจากซากปราสาทฟูจิวาระและปราสาทเฮโจวในจังหวัดนาระ สันนิษฐานว่าเล่นกันในช่วงศตวรรษที่ 7-10
เจ้าชายโชโตคุก็ชอบเล่น お手玉 (otedama) ด้วย!
ดูโพสต์นี้บน Instagram
โอเทดามะเป็นถุงผ้าลูกกลม ๆ ที่ข้างในบรรจุถั่วเม็ดเล็ก ๆ อย่างเช่น ถั่วแดง เป็นของเล่นที่เด็กผู้หญิงชื่นชอบมาตั้งแต่อดีต เป็นการสอนงานเย็บปักถักร้อยและสอนกิริยามารยาทอย่างการนั่งทับส้นเท้าให้กับเด็ก ๆ ไปด้วยในตัว ในญี่ปุ่น โอเทดามะถือเป็นตัวแทนของของเล่นที่สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น นอกจากจะเป็นของเล่นที่เด็ก ๆ เล่นได้ง่าย เล่นได้หลายรูปแบบ ก็ยังสื่อได้ถึงการสืบทอดกิริยามารยาทประเพณีต่าง ๆ จากคุณย่าคุณยายสู่หลานสาวผ่านการเล่นของเล่นชนิดนี้ โดยทั่วไปแล้วโอเทดามะจะทำโดยการเย็บผ้าสี่ชิ้นเข้าด้วยกันแล้วใส่ถั่วแดง ถั่วเหลือง และลูกเดือยเข้าไป ทำให้เกิดเสียงที่ไพเราะของเมล็ดถั่วที่กระทบกัน
โอเทดามะสามารถเล่นได้ทั้งคนเดียว เล่นเป็นคู่ เล่นเป็นกลุ่ม และเล่นเป็นจำนวนกี่ลูกก็ได้ มีเกมการเล่นที่หลากหลายขึ้นอยู่กับที่ผู้เล่นต้องการ
ว่ากันว่าถุงลักษณะนี้ถูกประดิษฐ์ขึ้นราวศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาลโดยชาวลิเดียซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ปัจจุบันคือตุรกี ในเวลานั้นผู้คนจะใช้กระดูกส้นเท้าของแกะแทน มีทฤษฎีต่าง ๆ มากมายเกี่ยวกับโอเทดามะ แต่ว่ากันว่าถูกนำเข้ามาในสมัยนาระผ่านประเทศจีน ตัวเจ้าชายโชโตคุ นักการเมืองในสมัยอาสุกะเองก็ชื่นชอบการเล่นโอเทดามะอีกด้วย
กษัตริย์ฝรั่งเศสก็เล่น けん玉 (kendama) ด้วยนะ
ดูโพสต์นี้บน Instagram
เคนดามะเป็นของเล่นญี่ปุ่นที่คนไทยน่าจะคุ้นเคยกันดีใช่ไหมคะ มีลักษณะคล้ายค้อน มีเชือกห้อยลูกบอล 1 ลูก ผู้เล่นจะต้องกระตุกลูกบอลขึ้นมาให้วางลงบนถ้วยหลุมบนไม้ให้ได้ สามารถตัดสินผลคะแนนได้ทั้งจากส่วนที่รับลูกบอลหรือจำนวนเทคนิคที่ใช้ ปัจจุบันสมาคมเคนดามะแห่งประเทศญี่ปุ่นก็ได้จัดการแข่งขันระดับชาติ ทำให้เป็นกีฬาที่หลุดกรอบจากของเล่นล้าสมัย ผู้คนจำนวนมากก็สนุกกับของเล่นชนิดนี้ การเล่นเคนดามะมีประโยชน์มากมายทั้งในการทำกายภาพบำบัดเพื่อการฟื้นฟู และยังช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุอีกด้วย
เคนดามะเป็นที่รู้จักในฐานะของเล่นพื้นบ้านของญี่ปุ่น แต่ของเล่นประเภทนี้ได้รับความนิยมไปทั่วโลกมาเป็นเวลานานแล้ว ในภาษาอังกฤษจะเรียกว่า Cup and Ball ในภาษาฝรั่งเศษคือ Billeboquet และในภาษาเยอรมันคือ Kugelfang บันทึกที่เก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงเคนดามะกล่าวว่า พระเจ้าอ็องรีที่ 3 แห่งฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 16 ก็กำลังเล่นเคนดามะอยู่ในเวลานั้น มีหลายทฤษฎีเกี่ยวกับที่มาของของเล่นชนิดนี้แต่ดูเหมือนว่ายังไม่ได้รับการยืนยัน
สิ่งที่เรียกว่าเคนดามะในสมัยเมจิเป็นเพียงไม้แท่งตรงกับลูกบอล 1 ลูก แต่ลักษณะที่เราเห็นในปัจจุบันนั้นเริ่มมีในสมัยไทโช โดยในปีไทโชที่ 7 จังหวัดฮิโรชิม่า เมืองคุเระ นาย Egusa Hamaji นำเคนดามะจากสมัยเมจิมาปรับปรุงใหม่จนมีลักษณะเหมือนที่เราเห็นในปัจจุบัน และใช้ชื่อว่าเคนดามะ ต่อมาก็ได้กลายเป็นของเล่นที่ได้รับความนิยมในทุกเพศทุกวัย
ตอนต่อไปเราจะพาไปรู้จักฮาโกอิตะกับเมงโกะ รอติดตามกันได้ในตอน 2 เลย!
สรุปเนื้อหาจาก thegate12