ย้อนอดีตของเล่นญี่ปุ่นสมัยเก่า แต่ยังเจ๋งแจ๋วถึงปัจจุบัน (ตอนที่ 2)

มาต่อกันเลยค่ะกับเรื่องราวของของเล่นญี่ปุ่นจากตอนที่แล้ว ย้อนอดีตของเล่นญี่ปุ่นสมัยเก่า แต่ยังเจ๋งแจ๋วถึงปัจจุบัน (ตอนที่ 1)

羽子板 (hagoita) เดิมทีเป็นเครื่องราง!

ฮาโกอิตะเป็นการเล่นตีลูกขนไก่โดยจะใช้ไม้ตีที่มีลักษณะแบน ตีลูกขนไก่รับส่งกับอีกฝ่าย ถือเป็นตัวแทนของการเล่นในช่วงปีใหม่ เป็นที่นิยมในหมู่เด็กผู้หญิงเนื่องจากเชื่อว่าจะช่วยปัดเป่าเคราะห์ร้ายให้กับปีใหม่ที่จะมาถึง ในอดีตจะเป็นไม้แบนวาดลวดลายอย่างง่าย ๆ แต่ในปัจจุบันมีการตกแต่งแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า oshie คือนำผ้าฝ้ายมาพันเพื่อให้เกิดภาพนูนเป็นสามมิติที่สวยงาม ไม้ที่ใช้ตีไม่เพียงแต่ใช้สำหรับการเล่นเท่านั้น แต่บางครั้งก็ถูกนำไปจัดวางในร้านค้าเพื่อเป็นเครื่องรางนำโชค และความเจริญรุ่งเรืองทางการค้าขาย

เดิมทีฮาโกอิตะถูกใช้ในศาลเจ้าสำหรับเป็นเครื่องรางป้องกันภัยและใช้ในพิธีกรรมทำนายดวงชะตา แต่ในช่วงสมัยมุโรมาจิ ก็ถูกใช้เป็นการละเล่นประจำเทศกาลปีใหม่และมอบเป็นของขวัญของมงคลให้แก่กัน ในเวลานั้น ไม้ที่ใช้ตีจะเรียกว่า 胡鬼板 (koki ita) ลูกขนไก่จะเรียกว่า 胡鬼子 (koki no ko) และว่ากันว่ามีการจัดการแข่งขันขึ้นภายในวังอีกด้วย

คำว่า 胡鬼 (koki) จีนโบราณหมายถึงแมลงปอ แมลงปอเป็นแมลงที่คอยปกป้องผู้คนจากโรคภัยต่าง ๆ โดยการช่วยกินศัตรูพืชและยุง ทำให้การเล่นตีลูกขนไก่มีนัยถึงการขอพรให้สุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ในปัจจุบันฮาโกอิตะแบ่งเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือสำหรับการเล่นจริง ๆ และอีกประเภทคือใช้ประดับตกแต่งหรือเป็นของขวัญ โดยประเภทหลังจะมีการออกแบบที่งดงามประณีตมาก บางชิ้นเลียนแบบภาพเหมือนของนักแสดงคาบุกิและการเต้นรำแบบญี่ปุ่น

 

ดูโพสต์นี้บน Instagram

 

โพสต์ที่แชร์โดย 遊美和裁 (@yumi_wasai)

めんこ (menko) ของเล่นของลูกผู้ชาย

เมงโกะเป็นของเล่นกระดาษที่ประกอบด้วยกระดาษสำหรับตีลงบนพื้น กับกระดาษสำหรับวางบนพื้นหรือเมงโกะ วิธีเล่นโดยทั่วไปคือปากระดาษลงไปบนพื้น หากเมงโกะของอีกฝ่ายพลิกกลับด้าน ก็จะได้เมงโกะของอีกฝ่ายมา สามารถเล่นได้ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ความสนุกคือเมื่อต้องการเมงโกะแผ่นไหนก็จะต้องเล็งให้ดี กะจังหวะให้ถูก ใช้เทคนิคในการปากระดาษเพื่อให้เมงโกะแผ่นนั้นพลิกกลับด้านให้ได้ ในปัจจุบันมีการปรับปรุงคุณภาพกระดาษได้ดีกว่าเดิม จนเป็นที่ชื่นชอบในฐานะกีฬาชนิดหนึ่ง ไม่ใช่แค่เพียงของเล่นยุคเก่า

การเล่นเมงโกะมีต้นกำเนิดมาจากการเล่น 穴一遊び (anaichi asobi) ในสมัยเอโดะ คือการขุดหลุมเล็ก ๆ บนพื้นแล้วโยนหอยลงไป แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนเป็นการปั้นดินเหนียวก้อนเล็ก ๆ เป็นรูปร่างต่าง ๆ เรียกว่า 泥めんこ (doro menko) ในสมัยเมจิมีการเล่นเมงโกะแบบใหม่เกิดขึ้นคือ 鉛めんこ (namari menko) เป็นการหลอมตะกั่วให้เป็นรูปร่างต่าง ๆ แทนและเปลี่ยนวิธีเล่นเป็นการตีลงบนพื้นให้ตะกั่วของอีกฝ่ายพลิกกลับด้านเหมือนกับที่เล่นในปัจจุบัน เมื่อตีลงไปครั้งแล้วครั้งเล่า ตะกั่วจะเริ่มผิดรูป เกิดคำแสลงว่า オカチメンコ (okachi menko) หมายถึงหน้าตาขี้เหร่ แต่สุดท้าย 鉛めんこ ก็มีอันต้องจบลงเมื่อเกิดเหตุการณ์พิษจากสารตะกั่วในโอซาก้า และในปีเมจิที่ 10 紙めんこ (kami menko) หรือเมงโกะแบบกระดาษก็เข้ามาแทนที่จนเป็นการเล่นเมงโกะแบบที่ทุกคนรู้จักจนถึงปัจจุบัน

เมื่อเมงโกะทำจากกระดาษ ก็ต้องมีการพิมพ์ภาพลวดลายต่าง ๆ ทั้งนักรบซามูไร นักเล่นซูโม่ นักกีฬาเบสบอล ดาราภาพยนตร์ ฮีโร่ในมังงะและอีกมากมาย ทำให้เหล่าเด็กผู้ชายเริ่มคลั่งไคล้การเล่นเมงโกะและตั้งอกตั้งใจเล่นอย่างจริงจังเพื่อให้ได้เมงโกะลายที่ต้องการ แต่นอกจากเด็ก ๆ แล้ว ยังมีนักสะสมวัยผู้ใหญ่จำนวนมากที่สะสมเมงโกะลายเก่า ๆ เนื่องจากการผลิตเมงโกะกระดาษเริ่มลดลงอย่างมากในปัจจุบัน

ตอนหน้า ถึงคิวของฟุคุวาราอิกับโอริกามิ เป็นตอนสุดท้าย อย่าลืมติดตามกันนะคะ ^^

สรุปเนื้อหาจาก thegate12

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save