มารู้จักวิธีอ่าน “โอมิคุจิ” หรือเซียมซีญี่ปุ่นกัน

คาดว่าผู้อ่านบางคนอาจจะรู้จักหรือเคยเห็น “โอมิคุจิ”「おみくじ」หรือเซียมซีญี่ปุ่นกันมาบ้าง เราสามารถหาเซียมซีแบบนี้ได้ตามวัดและศาลเจ้าต่างๆ ทั่วญี่ปุ่น จริงๆ แล้วโอมิคุจิมีหลายรูปแบบ บางที่อาจจะมาในรูปแบบกระบอกที่ใส่แท่งไม้เขียนหมายเลขเหมือนใบเซียมซีที่เรามักเห็นได้ในไทยก็มี หรือบางที่จะให้สุ่มหยิบกระดาษในกล่องหรือหยอดเหรียญเพื่อรับคำทำนายก็มีเหมือนกัน

ในโอมิคุจิที่เราสุ่มได้ จะระบุระดับความโชคดีไว้หลายระดับ ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละวัดหรือศาลเจ้า ในบทความนี้ เราจะพาไปดูวิธีการอ่านโอมิคุจิ รวมถึงความเชื่อต่างๆ เกี่ยวกับโอมิคุจิของญี่ปุ่นกัน

คำทำนายและระดับความโชคดีโชคร้าย

สิ่งแรกที่เรามักจะดูหลังจากเปิดคำทำนายขึ้นมา คือมองหาคำว่า “โชคดี” 「吉」หรือ “โชคร้าย” 「区」ก่อน ซึ่งจริงๆ แล้วโอมิคุจิมีการแบ่งความโชคดีและโชคร้ายออกเป็นหลายระดับ เช่น

การแบ่งระดับที่เห็นกันบ่อยที่สุด น่าจะเป็นการแบ่ง 7 ระดับ ได้แก่

大吉 → 中吉 → 小吉 → 吉 → 末吉 → 区 → 大凶
ไดคิจิ (โชคดีที่สุด) → ชูคิจิ (โชคดีปานกลาง) → โชคิจิ (โชคดีเล็กน้อย) → คิจิ (โชคดี) → ซุเอะคิจิ (เกือบโชคดี) → เคียว (โชคร้าย) → ไดเคียว (โชคร้ายที่สุด)

นอกจากนี้ บางที่มีการแบ่งระดับให้ถี่ขึ้นไปอีก เป็น 12 ระดับ ได้แก่

⼤吉 → 中吉 → ⼩吉 → 吉 → 半吉 → 末吉→ 末⼩吉 → 凶 → ⼩凶 → 半凶 → 末凶 → ⼤凶
ไดคิจิ (โชคดีที่สุด) → ชูคิจิ (โชคดีปานกลาง) → โชคิจิ (โชคดีเล็กน้อย) → คิจิ (โชคดี) → ฮังคิจิ (โชคดีครึ่งๆ) → ซุเอะคิจิ (เกือบโชคดี) → ซุเอะโชคิจิ (โชคดีแต่เกือบโชคร้าย) → เคียว (โชคร้าย) → โชเคียว (โชคร้ายเล็กน้อย) → ฮังเคียว (โชคร้ายบ้าง) → ซุเอะเคียว (โชคร้ายมาก) → ไดเคียว (โชคร้ายที่สุด)

การแบ่งระดับที่มีความถี่แตกต่างกัน มีที่มาจากพระรูปหนึ่งนามว่า “เรียวเก็น” 「良源」 ซึ่งเป็นผู้คิดค้นโอมิคุจิขึ้นได้ระบุไว้ใน “คัมภีร์สามปรมาจารย์โอมิคุจิ” หรือ “กันซังไดชิมิคุจิโจ” 「元三⼤師御籤帳」ว่า

ความโชคดีโชคร้ายนั้น 80% มักจะเป็นในระดับ โชคดีที่สุด (“ไดคิจิ” ⼤吉) โชคดี (“คิจิ” 吉) และ โชคร้าย (“เคียว” 凶) ส่วนอีก 20% ที่เหลือสามารถจัดการได้แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละวัดหรือศาลเจ้าต่างๆ จะกำหนด

ถ้าจับได้ “โชคร้าย” ควรทำอย่างไร?

ส่วนใหญ่ตามวัดหรือศาลเจ้าจะจัดพื้นที่เป็นเสา เชือก หรือต้นไม้ ไว้สำหรับผู้ที่จับโอมิคุจิได้โชคร้ายนำคำทำนายไปผูก ตามความเชื่อที่ว่า สิ่งที่ไม่ดีก็ให้ทิ้งเอาไว้ที่วัดหรือศาลเจ้านั้น ส่วนคนที่จับได้โชคดีก็นำใบคำทำนายนั้นกลับบ้านไปด้วย

แต่ในความเป็นจริงแล้วคนญี่ปุ่นเองก็มีความเชื่อหลากหลายแตกต่างกันไป มีบางคนที่ผูกใบคำทำนายทิ้งไว้ที่วัดหรือศาลเจ้าเลยไม่ว่าเนื้อหาในใบนั้นจะเป็นอย่างไร เนื่องจากมีความเชื่อว่าต้องการเชื่อมต่อดวงกับพระเจ้าเพื่อให้คอยปกป้องดูและพวกเขา ในขณะเดียวกัน บางคนแม้ว่าจะจับได้โชคร้ายแต่ก็อยากนำใบคำทำนายกลับไปอ่านเป็นเครื่องเตือนใจหรือเป็นแนวทางในการระมัดระวังในการดำเนินชีวิตก็มีเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อว่าหากจับได้ โชคร้าย (“เคียว” 凶) หรือ โชคร้ายที่สุด (“ไดเคียว” ⼤凶) แล้วผูกไว้ที่วัดหรือศาลเจ้าจะช่วยทำให้สิ่งที่ร้ายกลายเป็นดีได้

สำหรับสถานที่ที่วัดหรือศาลเจ้าเตรียมไว้ให้ผูกโอมิคุจิมักเป็นเสาโลหะแนวนอนหรือเชือกเส้นยาวๆ เพื่อให้คนสามารถนำใบคำทำนายมาผูกต่อกันได้หลายๆ ใบ สำหรับวิธีการผูกก็ไม่ได้มีกำหนดตายตัว แต่โดยทั่วไปมีวิธีการผูกดังนี้

  1. พับใบเซียมซีเป็นครึ่งหนึ่งตามแนวตั้ง และพับครึ่งอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้กลายลักษณะเส้นยาวๆ
  2. พับปลายด้านหนึ่งรอบเสาที่จะผูก ให้เป็นลักษณะตัวอักษรคาตาคานะ “ฟุ” 「フ」
  3. ตวัดปลายด้านที่ชี้ลงขึ้นมาผูกกับเสา
  4. หลังจากผูกแล้ว สามารถพับปลายทั้งสองด้านเก็บเพื่อความเรียบร้อยได้ด้วย

นอกจากนี้ บางที่มีความเชื่อว่าถ้าจับได้โชคร้าย หากใช้มือข้างที่ไม่ถนัดเพียงข้างเดียวเพื่อผูกโอมิคุจิจะช่วยให้สามารถผ่านพ้นสิ่งเลวร้ายนั้นไปได้ และจะเริ่มมีสิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิตอีกด้วย

คนที่เฝ้ารอ หรือ “มะจิบิโตะ”「待ち人」

หัวข้อคำทำนายที่ปรากฏในโอมิคุจินั้นมีหลากหลาย หัวข้อที่มักพบได้บ่อยๆ เช่น สุขภาพ การโยกย้าย (ที่อยู่) การหมั้นหมายหรือการแต่งงาน นอกจากนี้ยังมีหัวข้อที่บางคนอาจไม่คุ้นเคยอย่าง “คนที่เฝ้ารอ” หรือ “มะจิบิโตะ”「待ち人」ด้วย

คำว่า “คนที่เฝ้ารอ” ในที่นี้มีความหมายกว้าง สามารถรวมถึงคนรัก ครอบครัว เพื่อน คนรู้จัก หรือบรรดาคนที่จะเข้ามามีอิทธิพลในชีวิตเรา ทั้งนี้ “คนที่เฝ้ารอ” ในความหมายของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าช่วงเวลานั้นสิ่งที่เราสนใจหรือตั้งเป้าหมายไว้คืออะไร

แน่นอนว่าการจับโอมิคุจินั้น ผลที่ได้ของแต่ละคนคงมีทั้งดีและไม่ดีคละกันไป สำหรับคนที่จับได้ “เคียว” 「区」ก็อยากให้คิดเสียว่าคำแนะนำที่เขียนอยู่ในคำทำนายนั้นเป็นแนวทางและเป็นเครื่องเตือนใจให้เรามีสติกับการใช้ชีวิตในอนาคตก็แล้วกัน

มาถึงตรงนี้ หวังว่าผู้อ่านคงจะพอเข้าใจ “โอมิคุจิ” หรือใบเซียมซีญี่ปุ่นกันมากขึ้น สำหรับใครที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์จับโอมิคุจิ หากในอนาคตได้แวะไปเยี่ยมชมวัดหรือศาลเจ้าที่ญี่ปุ่นจะลองไปรับคำทำนายบ้างก็ได้นะ

สรุปเนื้อหาจาก: Japan Culture Lab
ผู้เขียน: MIZUNOHANA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save