วัฒนธรรมโอตาคุมีมาตั้งแต่สมัยเมจิจริงหรือ?

idol meiji

วัฒนธรรมโอตาคุในที่นี้ หมายถึงกิจกรรมต่างๆ ที่เหล่าโอตาคุมักทำกันเรื่อยมา ซึ่งกิจกรรมที่ว่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ตนให้ความสนใจ ชื่นชอบ อาจถึงขั้นคลั่งไคล้ ถ้าพูดถึงในสมัยนี้ก็อย่างเช่น ไปคอนเสิร์ตศิลปินที่ชอบ ซื้ออัลบั้มซื้อกู๊ดส์ เข้ากลุ่มแฟนคลับตามเว็บไซต์หรือห้องแชทหาเพื่อนร่วมคุยเรื่องของโอชิ เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีเพียงแค่ในสมัยเฮเซหรือเรวะแต่มีมาตั้งแต่สมัยเมจิแล้ว แต่จะเป็นในรูปแบบไหน มาหาคำตอบได้ในบทความนี้กันค่ะ

ทำความรู้จักนักเล่าเรื่องหญิงสุดฮอต ไอดอลสมัยเมจิ

ในสมัยเมจิ นักเล่าเรื่องหญิงที่เรียกกันว่า อนนะกิดะยู หรือ มุสุเมะกิดะยู (女義太夫・娘義太夫) เป็นที่นิยมมาก นักเล่าเรื่องหญิงที่ว่านั้นหมายถึงผู้หญิงที่ทำหน้าที่เล่าเรื่องราวต่างๆ ควบคู่กับคนดีดชามิเซ็นให้จังหวะ เป็นการแสดงโจรุริ (浄瑠璃) ประเภทหนึ่งซึ่งริเริ่มโดยทาเคโมโตะ กิดะยู (竹本義太夫) ในสมัยเอโดะตอนต้น

นักเล่าเรื่องหญิงในสมัยนั้น ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ก็เหมือนไอดอลหญิงในสมัยปัจจุบัน คอลัมน์นิตยสารที่เกี่ยวกับนักเล่าเรื่องหญิงก็ได้รับความนิยมจากผู้อ่านมากเช่นกัน มีหลายคนที่อายุยังน้อย ประมาณ 6-15 ปี ที่ได้รับความนิยมสุดๆ คือโทะโยะทะเคะ โระโช (豊竹呂昇) และ ทาเคะโมะโตะ อะยะโนะสุเคะ (竹本綾之助)

เสียงเชียร์จาก โดสุรุเร็น โอตาคุผู้เร่าร้อน

การมีแฟนคลับที่คอยตามเชียร์ตามให้กำลังใจนั้นเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนมีชื่อเสียงโด่งดัง แน่นอนว่านักเล่าเรื่องหญิงเองก็เช่นกัน

ขณะแสดง เมื่อนักเล่าเรื่องหญิงดำเนินมาถึงฉากเข้มข้น แฟนๆ ที่นั่งอยู่ก็จะส่งเสียงว่า “โดสุรุ โดสุรุ (どうする、どうする)” ตั้งแต่นั้นมาจึงเรียกแฟนๆ ผู้เร่าร้อนเหล่านี้ว่า “โดสุรุเร็น (堂摺連)” คนที่คอยปรบมือให้จังหวะก็มี และว่ากันว่าบางคนถึงกับเอาก้นถ้วยชามาขูดกันแล้วส่งเสียงเชียร์เอะอะก็มีเหมือนกัน

สำหรับใครที่เคยไปคอนเสิร์ตพอจะคุ้นๆ กันมั้ยคะ? นี่มันเหมือนกับตอนที่ผู้ชมส่งเสียงเชียร์ศิลปินในยุคปัจจุบันเลย

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับวีรกรรมของแฟนคลับในสมัยนั้นอีกว่า ตอนที่นักเล่าเรื่องหญิงเผลอทำปิ่นปักผมหล่นขณะทำการแสดง ถึงกับเกิดสงครามขนาดย่อมๆ ระหว่างแฟนคลับเพื่อแย่งชิงปิ่นปักผมนั้นเลยทีเดียว หรือไม่ก็ตอนที่นักเล่าเรื่องหญิงขึ้นรถลากเพื่อย้ายไปแสดงในโรงละครอื่น แฟนคลับบางคนถึงกับวิ่งไล่ตามก็มี ทำให้มีการเรียกแฟนคลับที่เร่าร้อนถึงขนาดวิ่งไล่ตามรถลากว่า โอคคะเคะเร็น (追駆連) ซึ่งเป็นที่มาของคำว่าโอคคะเคะ ที่แปลว่า ไล่ตาม (追っかけ) ในปัจจุบันนั่นเอง

ฮอตขนาดกุมหัวใจนักเขียนชื่อดัง

นักเล่าเรื่องหญิงไม่ได้เป็นที่นิยมแค่กับคนทั่วไปเท่านั้น แต่ยังสามารถกุมหัวใจเหล่านักเขียนชื่อดังสมัยเมจิได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นนัตสึเมะ โซเซกิ, ทาคาฮามะ เคียวชิ, ชิกะ นาโอยะ ต่างก็เป็นโอตาคุตัวยงของนักเล่าเรื่องหญิง

นัตสึเมะ โซเซกิก็เคยเขียนถึงนักเล่าเรื่องหญิงลงในนิยายเรื่องยาวของตน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องซันชิโร่ (三四郎) หรือ โคจิน (行人)

ชิกะ นาโอยะก็เคยพร่ำเพ้อรำพรรณถึงนักเล่าเรื่องหญิงในไดอารี่ของตน เขาเป็นแฟนคลับตัวยงของโทะโยะทะเคะ โระโช ทั้งใช้นามแฝงส่งแฟนเลทเทอร์ไปให้ ทั้งเอาโปสเตอร์มาติดในห้อง ทั้งคุยกับเพื่อนโอตาคุถึงโอชิที่ชอบ ทั้งยังเคยแวะไปโรงละครหลังกลับจากงานศพคนรู้จัก

หลายๆ อย่างที่กล่าวไปด้านบนคล้ายกับแฟนคลับในสมัยนี้เลย ทำให้รู้ว่าต่อให้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน แต่ความชอบและพฤติกรรมของแฟนคลับที่มีต่อโอชิก็มีลักษณะคล้ายๆ กันเพียงแต่มีความแตกต่างเล็กน้อยตามยุคสมัย ไม่รู้ว่าในอนาคตที่เทคโนโลยีก้าวหน้า แฟนคลับจะเชียร์ไอดอลในรูปแบบไหน จะเป็นแบบตัวอวาตาร์เข้าไปเชียร์ในคอนเสิร์ตออนไลน์หรือเปล่า? พอลองจินตนาการดูก็สนุกดีเหมือนกันนะคะ

สรุปเนื้อหาจาก meijimura

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save