ความเป็นมาของโอโทชิดามะ (เงินของขวัญปีใหม่) และข้อควรรู้เกี่ยวกับการให้เงินปีใหม่ของญี่ปุ่น

ในวันขึ้นปีใหม่สิ่งที่เด็กๆ ญี่ปุ่นส่วนใหญ่ตั้งหน้าตั้งตารอคอย คือ โอโทชิดามะ (お年玉) หรือเงินของขวัญปีใหม่ที่ผู้ใหญ่มอบให้แก่ เด็กๆ  ซึ่งจะคล้ายกับแต๊ะเอียของจีน มารู้ความเป็นมาของโอโทชิดามะ ข้อควรรู้เกี่ยวกับการให้ของขวัญเป็นเงินแก่เด็ก และจำนวนเงินเฉลี่ยที่ผู้ใหญ่ญี่ปุ่นใส่ซองให้เด็กแต่ละช่วงวัยในวันขึ้นปีใหม่กันค่ะ

ความเป็นมาของโอโทชิดามะ

‪ความเป็นมาของโอโทชิดามะเริ่มจากในอดีตที่คนญี่ปุ่นนำคากามิโมจิ (鏡餅) (โมจิก้อนกลมสองก้อนวางซ้อนกัน) ซึ่งเสร็จจากการวางบูชาเทพเจ้าแห่งปีใหม่หรือโทชิกะมิ (年神) มารับประทานร่วมกันทั้งครอบครัว ด้วยความเชื่อว่าการรับประทานโมจิที่บูชาเทพเจ้าจะนำความโชคดีและความเป็นมงคลมาสู่ชีวิตของพวกเขา ทั้งนี้ในสมัยก่อนคนญี่ปุ่นนิยมใช้คากามิโมจิเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ญาติมิตรเพื่อใช้บูชาเทพเจ้า จนกระทั่งเข้าสู่ยุคเอโดะก็มีการให้ของขวัญอื่นแทนโมจิเกิดขึ้น จนกระทั่งปี ค.ศ. 1955 ซึ่งเป็นยุคที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูมาก คนญี่ปุ่นจึงหันมาให้เงินเป็นของขวัญแทนโมจิและของขวัญอื่นๆ มากขึ้น และหลังจากนั้นเป็นต้นมาก็กลายเป็นประเพณีให้เงินเด็กเป็นของขวัญปีใหม่หรือโอโทชิดามะเกิดขึ้น

คากามิโมจิ (鏡餅)

ข้อน่ารู้เกี่ยวกับการให้เงินปีใหม่แก่เด็กญี่ปุ่น

1.ไม่ควรให้เงินเป็นของขวัญปีใหม่แก่ลูกของหัวหน้าหรือผู้ที่มีตำแหน่งการงานสูงกว่า

โดยทั่วไปแล้วผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่ต่ำกว่าจะไม่ให้เงินของขวัญปีใหม่แก่หัวหน้าหรือผู้ที่มีตำแหน่งการงานสูงกว่ารวมถึงลูกของพวกเขา หากต้องไปสวัสดีปีใหม่หัวหน้าหรือผู้มีตำแหน่งการงานสูงกว่า และอยากให้ของขวัญให้แก่ลูกพวกเขา คนญี่ปุ่นจะเลือกให้บัตรซื้อหนังสือหรือบัตรของขวัญแทนโอโทชิดามะ

2. เตรียมธนบัตรใหม่เป็นโอโทชิดามะ

คนญี่ปุ่นแนะนำให้ใช้ธนบัตรใหม่เป็นของขวัญปีใหม่ อย่างไรก็ดี หากไม่มีเวลาไปแลกเงินที่ธนาคารก็ควรเลือกใช้ธนบัตรที่ไม่มีรอยยับย่น

3. พับเงินธนบัตรเป็นสามส่วน

การพับเงินธนบัตรใส่ซองนั้นจะพับเป็นสามส่วนโดยพับจากด้านซ้ายของธนบัตรเข้าไป จากนั้นจึงพับด้านขวาทบลงมา ให้รูปหน้าบุคคลบนธนบัตรอยู่ด้านใน และใส่ซองโดยให้จำนวนเงินที่อยู่ด้านขวาของธนบัตรอยู่ด้านบน การพับเงินแบบนี้นอกจากจะทำให้ดูสวยงามแล้วก็ยังทำให้ผู้รับรู้จำนวนเงินที่ได้รับได้ง่ายด้วย

4. ใส่จำนวนธนบัตรเป็นเลขคี่

คนญี่ปุ่นถือว่าการใส่ธนบัตรเป็นเลขคู่ไม่เป็นมงคลในทุกการเฉลิมฉลอง ดังนั้นจึงควรใส่จำนวนธนบัตรเป็นจำนวนคี่ อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงเลข 4 และเลข 9 ที่สื่อความหมายถึงความตายและความเจ็บปวด ตามลำดับ ด้วย

จำนวนเงินเฉลี่ยที่ใส่ซองให้แก่เด็กในแต่ละช่วงวัย

จำนวนเงินที่ให้เด็กนั้นขึ้นกับความใกล้ชิดและฐานะทางครอบครัวด้วย โดยจำนวนเงินเฉลี่ยที่ผู้ใหญ่ใส่ซองเป็นเงินของขวัญปีใหม่ให้แก่เด็กมีค่าเฉลี่ยดังนี้

เด็กต่ำกว่าวัยประถมศึกษา ประมาณ 1,000-2,000 เยน หรือประมาณ 300-600 บาท

เด็กวัยประถมศึกษา 1-3 ประมาณ 3,000 เยน หรือประมาณ 900 บาท

เด็กวัยประถมศึกษา 4-6 ประมาณ 3,000-5,000 เยน หรือประมาณ 900-1,500 บาท

เด็กตั้งแต่วัยมัธยมต้นเป็นต้นไป ประมาณ 5,000-10,000 เยน หรือประมาณ 1,500-3,000 บาท

โอโทชิดามะหรือเงินของขวัญปีใหม่เป็นสิ่งที่เด็กญี่ปุ่นทุกคนตั้งหน้าตั้งตารอ จำนวนซองเงินนั้นขึ้นกับว่าเป็นครอบครัวใหญ่หรือเล็ก หากครอบครัวไหนเป็นครอบครัวใหญ่ก็จะได้ซองเพิ่มจากปู่ยาตายายลุงป้าน้าอาด้วย และเงินส่วนใหญ่ที่ได้เด็กก็เอามาซื้อของเล่น ของใช้ส่วนตัว และเก็บออมไว้ หากมีมากหน่อยคุณแม่บางคนก็ขอยืมใช้แบบลืมคืนก็มีค่ะ

สรุปเนื้อหาจาก ielove

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save