ประเพณีมอบ “แต๊ะเอียปีใหม่” แบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น ไม่ใช่การมอบเงิน แต่เป็นโมจิ!

ประเทศญี่ปุ่นมีความเชื่อเกี่ยวกับ “วันปีใหม่” อยู่มากมาย เช่น การแต่งบ้านต้อนรับวันปีใหม่, การรับประทานโอะเซะจิ (おせち), การไปวัดเพื่อไหว้พระเป็นครั้งแรกของปีใหม่หรือ “ฮะสึโมเดะ” (初詣) และการมอบแต๊ะเอียวันปีใหม่หรือ “โอะโทชิดามะ” (お年玉) ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้กลายเป็นขนบธรรมเนียมทำสืบต่อกันมาจนถึงยุคปัจจุบัน

หากพูดถึง “โอะโทชิดามะ” (お年玉) หรือการมอบแต๊ะเอียวันปีใหม่ตามขนบธรรมเนียมญี่ปุ่น หลายคนคงนึกถึงภาพของผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโสในครอบครัว มอบซองกระดาษที่บรรจุธนบัตรให้เด็ก ๆ กันใช่ไหมคะ? แต่เพื่อน ๆ รู้หรือไม่ว่า ประเพณีการมอบ “โอะโทชิดามะ” แบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นนั้น ไม่ใช่การมอบ “เงิน” แต่เป็นการมอบ “โมจิ” ให้กันต่างหาก!

ที่มาของการมอบ “โอะโทชิดามะ” (お年玉)ในวันปีใหม่

แม้ในปัจจุบัน ชาวญี่ปุ่นจะนิยมมอบเงินเป็น “โอะโทชิดามะ” ในวันปีใหม่ก็ตาม แต่ตามประเพณีดั้งเดิมนั้น “โอะโทชิดามะ” คือการมอบ “ขนมโมจิ” โดยขนมโมจิตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่นไม่ได้เป็นเพียงแค่ขนม แต่เป็นสัญลักษณ์ของ “จิตวิญญาณ” ซึ่งหมายถึง พลังหรือกำลังใจในการใช้ชีวิตนั่นเองค่ะ

ช่วงวันขึ้นปีใหม่ ชาวญี่ปุ่นจะตกแต่งบ้านด้วยสิ่งของมงคลต่าง ๆ เพื่อเป็นการต้อนรับเทพเจ้าแห่งวันปีใหม่ หรือ “โทชิงะมิซามะ” (年神様) โดยมีความเชื่อว่าเทพเจ้าแห่งวันปีใหม่จะประทานพรจากสวรรค์ให้ได้พบกับความสุขความเจริญในวันปีใหม่ และมอบ “จิตวิญญาณ” ให้ผู้คนมีพลังและกำลังใจในการใช้ชีวิตตลอดทั้งปี

“คางามิ โมจิ” (鏡餅) คือหนึ่งในสิ่งมงคลวันปีใหม่ที่ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่า ขนมคางามิ โมจิที่วางไว้บนแท่นบูชาในบ้าน จะเป็นที่ประทับสำหรับเทพเจ้าแห่งวันปีใหม่ที่เดินทางมาเพื่อประทานพรให้คนในครอบครัว หลังส่งเทพเจ้าแห่งวันปีใหม่กลับสู่สวรรค์ “ดวงวิญญาณ” ของเทพเจ้าจะยังสิงสถิตอยู่ในขนมคางามิ โมจิ หรือที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า “โทชิ ดามะ” (年魂)

ชาวญี่ปุ่นสมัยก่อนจะเรียกขนมคางามิ โมจิที่นำไปถวายบูชาเทพเจ้าแห่งวันปีใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้วว่า “โอะโทชิดามะ” (御年魂) แปลว่า “ดวงวิญญาณแห่งวันปีใหม่” หรืออาจเรียกอีกอย่างว่า “โอะโทชิดามะ” (御年玉)

“ดามะ” หรือ “ทามะ” (玉) ในที่นี้หมายถึง ก้อนขนมโมจิที่มีดวงวิญญาณแห่งวันปีใหม่สิงสถิตอยู่นั่นเอง โดยหัวหน้าครอบครัวจะนำขนมคางามิ โมจิมาแบ่งตามจำนวนของคนในครอบครัว และนำไปทำเมนู “โอะโซนิ” (お雑煮) น้ำซุปที่มีโมจิเป็นส่วนประกอบหลัก โดยเชื่อว่าการรับประทานโมจิจะทำให้ดวงวิญญาณแห่งวันปีใหม่เข้าสู่ร่างกายได้

“โอะโทชิดามะ” (お年玉) ถูกเปลี่ยนจาก โมจิ กลายเป็น เงิน

ประเพณีการมอบ “โอะโทชิดามะ” ในญี่ปุ่นเริ่มมาตั้งแต่ในยุคเอโดะ ซึ่งชาวบ้านในแต่ละพื้นที่มีธรรมเนียมการมอบ “โอะโทชิดามะ” แตกต่างกันออกไป ไม่เพียงแค่แบ่งขนมคางามิ โมจิรับประทานกันในครอบครัวเท่านั้น บางครอบครัวอาจมอบสิ่งของมีค่าหรือเงินทองด้วย ชาวญี่ปุ่นจึงเรียกธรรมเนียมการมอบสิ่งของให้กันในช่วงต้นปีว่า “โอะโทชิดามะ” (お年玉) ด้วยเช่นกัน

“โอะโทชิดามะ” แบบดั้งเดิมตามขนบธรรมเนียมญี่ปุ่นได้ถูกสืบทอดจากยุคเอโดะสู่ยุคเมจิ ยุคไทโช มาจนถึงยุคโชวะ แต่ช่วงครึ่งหลังของยุคโชวะปีที่ 30 ประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่ยุค “ความมหัศจรรย์ของเศรษฐกิจญี่ปุ่น” (Japanese Economic Miracle) เป็นช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ประเพณีมอบขนมโมจิเป็น “โอะโทชิดามะ” ถูกเปลี่ยนเป็นการมอบ “เงินแต๊ะเอีย” แทน โดยประเพณีมอบเงินแต๊ะเอียได้รับความนิยมในกลุ่มชาวญี่ปุ่นที่อาศัยในเขตเมืองหลวง ซึ่งมักจะมอบเงินแต๊ะเอียให้กับลูกหลานของตน จากนั้น ประเพณีการมอบ “โอะโทชิดามะ” ในญี่ปุ่น จึงถูกเปลี่ยนมาเป็นประเพณีที่ผู้อาวุโสจะมอบเงินแต๊ะเอียปีใหม่ให้กับเด็ก ๆ มาจนถึงยุคปัจจุบัน

มารยาทในการมอบ “โอะโทชิดามะ” แบบญี่ปุ่น

มารยาทในการมอบเงินแต๊ะเอียปีใหม่แบบญี่ปุ่น มี 3 ข้อหลัก ๆ ที่ควรทราบ ดังนี้

・ ไม่ควรมอบเงินแต๊ะเอียปีใหม่ให้กับลูกของเจ้านาย
การมอบเงินแต๊ะเอียปีใหม่แบบญี่ปุ่นนั้น ผู้อาวุโสจะเป็นคนมอบให้กับผู้อ่อนอาวุโสกว่าเสมอ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมอบเงินแต๊ะเอียปีใหม่ให้กับลูกของเจ้านายหรือหัวงานเพราะถือเป็นเรื่องเสียมารยาท ในกรณีที่อยากจะมอบของขวัญปีใหม่ให้กับลูกของเจ้านายจริง ๆ อาจเปลี่ยนจากเงินแต๊ะเอียเป็นสิ่งของต่าง ๆ แทน เช่น ของเล่น เครื่องเขียน ฯลฯ จะดูเหมาะสมกว่า

・ ไม่ควรมอบเงินแต๊ะเอียปีใหม่ให้กับบิดามารดาของตน
อย่างที่ได้กล่าวไว้ในข้อที่แล้วว่า ผู้อาวุโสจะเป็นคนมอบเงินแต๊ะเอียให้กับผู้อ่อนอาวุโสกว่าเสมอ การที่ลูกมอบเงินแต๊ะเอียปีใหม่ให้กับบิดามารดาของตนจึงเป็นเรื่องเสียมารยาทด้วยเช่นกัน หากต้องการมอบเงินหรือสิ่งของเพื่อแสดงความขอบคุณต่อพ่อแม่หรือผู้มีพระคุณ ควรทำตามธรรมเนียม “โอะเน็งงะ” (お年賀) ในวันที่ 1-7 มกราคม จะเหมาะสมกว่า

・ หากต้องการมอบเงินแต๊ะเอียปีใหม่อย่างกะทันหัน แต่ไม่มีซองสำหรับใส่เงิน
ตามธรรมเนียมความเชื่อของชาวญี่ปุ่น การส่งมอบเงินที่นอกเหนือจากการซื้อขายควรห่อหุ้มด้วยซองกระดาษให้เรียบร้อย ไม่ควรมอบเงินแต๊ะเอียแบบธนบัตรเปล่า ๆ เป็นอันขาด โดยในการมอบเงินแต๊ะเอียปีใหม่ ชาวญี่ปุ่นจะนำเงินไปใส่ในซองกระดาษที่เรียกว่า “โพะจิ บุคุโระ” (ポチ袋)

หากต้องการมอบเงินแต๊ะเอียปีใหม่อย่างกะทันหัน แต่ไม่มีซอง “โพะจิ บุคุโระ” สวย ๆ สำหรับใส่เงินแล้วล่ะก็ เพื่อน ๆ สามารถห่อเงินแต๊ะเอียด้วยกระดาษสีขาว (ใส่ในซองกระดาษสีขาวที่มีขายตามร้านสะดวกซื้อทั่วไปจะเหมาะสมกว่า) หากไม่มีจริง ๆ อาจห่อเงินแต๊ะเอียด้วยกระดาษทิชชู่ก็ได้เช่นกัน แต่ห้ามส่งมอบเงินแบบธนบัตรเปล่าโดยไม่ห่อซองใด ๆ เพราะถือว่าเป็นการเสียมารยาทนั่นเอง

ธรรมเนียมการมอบเงินแต๊ะเอียปีใหม่แบบญี่ปุ่นมีความลึกซึ้งกว่าที่เคยคิดไว้ใช่ไหมคะ? จากประเพณีดั้งเดิมที่หัวหน้าครอบครัวจะแบ่งขนมคางามิ โมจิให้คนในครอบครัวรับประทาน เพื่อนำ “ดวงวิญญาณแห่งวันปีใหม่” เข้าสู่ร่างกาย ทำให้มีพลังในการใช้ชีวิตที่มีความสุขตลอดทั้งปี เปลี่ยนแปลงมาเป็นการมอบความสุขด้วยเงินแต๊ะเอียให้ลูกหลานได้นำไปใช้จ่ายส่วนตัว อย่างไรก็ดี ยังมีวัฒนธรรมและความเชื่อเกี่ยวกับ “วันปีใหม่” ของชาวญี่ปุ่นที่น่าสนใจอีกมากมาย และเราจะนำมาเสนอให้เพื่อน ๆ ได้เปิดโลกวัฒนธรรมญี่ปุ่นไปด้วยกันอย่างแน่นอน อย่าลืมติดตามกันนะคะ!

สรุปเนื้อหาจาก : allabout

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save