เมื่อช่วงปีที่ผ่าน ญี่ปุ่นได้มีประกาศรัชศกใหม่ (เรวะ) หลังจากการขึ้นของราชย์ของสมเด็จพระจักรรดินารุฮิโตะ ซึ่งนับเป็นจักรพรรดิองค์ที่ 126 ของราชวงค์ญี่ปุ่น ทำให้ชื่อของราชวงศ์ญี่ปุ่นกลับมาอยู่ในความสนใจของชาวโลกอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการเปลี่ยนผ่านแห่งยุคสมัยที่สำคัญในญี่ปุ่น หรือในแง่ประวัติศาสตร์ก็ตาม เพราะการขึ้นครองราชย์ในครั้งนี้เกิดจากการที่อดีตสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ พระบิดาทรงประกาศสละราชสมบัติ ซึ่งถือเป็นจักรพรรดิพระองค์แรกที่ทรงสละราชสมบัติในรอบ 200 ปี
จากการสำรวจของวอชิงตันโพสต์พบว่า ในโลกนี้ยังคงมีการปกครองด้วยระบอบกษัตริย์หลงเหลืออยู่ทั้งสิ้น 26 ประเทศ ในจำนวนนี้ราชวงศ์ที่มีประวัติยาวนานที่สุดก็คือจักรวรรดิญี่ปุ่น แม้ว่าจะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ระบบการปกครองแบบจักรพรรดิถูกแทนที่ด้วยระบบโชกุน แต่หลังจากการสิ้นสุดยุคของโชกุน จักรพรรดิญี่ปุ่นก็วนกลับมาที่ตระกูลเดิม นั่นก็คือ ราชวงศ์ยามาโตะ
เรื่องราวของตระกูลจักรพรรดิญี่ปุ่นที่ปรากฏอยู่ในตำราโบราณอย่าง “โคจิกิ” และ “นิฮงโชกิ” หรือที่พงศาวดารของญี่ปุ่นนั้น ได้กล่าวถึงตำนานการกำเนิดจักรวรรดิญี่ปุ่นว่า มีจุดกำเนิดมาจากเทพแห่งดวงอาทิตย์นามว่า “อะมาเทราสึ” ที่ได้ส่งหลานชายให้ไปดูแลดินแดนแห่งหนึ่ง ซึ่งดินแดนแห่งนั้นก็คือประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน พร้อมกับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ 3 อย่าง ได้แก่ กระจกวิเศษยาตะ, ดาบคุซานางิ และอัญมณีศักดิ์สิทธิ์ยาซากานิ หลังจากนั้นหลานชายของเทพแห่งดวงอาทิตย์นี้จึงได้กลายมาเป็นต้นตระกูลของราชวงศ์ญี่ปุ่นในปัจจุบัน อีกทั้ง ของศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 3 อย่างที่ได้รับมาก็ได้กลายมาเป็นของสำคัญ ประจำราชวงศ์ญี่ปุ่นอีกด้วย ในปัจจุบันของวิเศษทั้ง 3 สิ่งนี้ถูกแยกกันเก็บรักษา โดยกระจกวิเศษยาตะนั้นถูกเก็บไว้ที่ศาลเจ้าอิเสะ ในจังหวัดมิเอะ ส่วนดาบและอัญมณีศักดิ์สิทธิ์ถูกเก็บไว้ที่พระราชวังอิมพีเรียล
ในบทความนี้ เราจะมาพูดถึงต้นกำเนิดของราชวงศ์ญี่ปุ่นและความสำคัญของราชวงศ์ต่อชาวญี่ปุ่นกันค่ะ
ต้นตระกูลของสมเด็จพระจักรพรรดิและลัทธิชินโต
แม้ว่าจะเป็นตระกูลที่มีประวัติครอบครัวยาวนานกว่า 2,600 ปี และสมเด็จพระจักพรรดิองค์ปัจจุบันก็นับเป็นลำดับที่ 126 แล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าแท้จริงแล้วต้นตระกูลของจักรพรรดินั้นมาจากไหน
จากคำบอกเล่าในตำนานของญี่ปุ่นนั้น มีอยู่จุดหนึ่งที่คล้ายคลึงกับตำนานของเมโสโปเตเมีย นั่นก็คือบรรพบุรุษของสมเด็จพระจักรพรรดินั้นเป็นผู้อพยพมาจากทางตะวันตกของเอเชียกลาง
อดีตสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะเองก็เคยเอ่ยปากว่า บรรพบุรุษของครอบครัวของพระองค์นั้นมีสายเลือดของโชซอน (เกาหลี) โดยสตรีผู้มีสายเลือดแห่งโชซอนนั้นก็คือ ทาคาโนะ นีงาสะ พระมารดาของสมเด็จพระจักรพรรดิคันมุ จักรพรรดิองค์ที่ 50 แห่งราชวงศ์ญี่ปุ่น
ในปัจจุบันยังไม่มีการพิสูจน์ที่แน่ชัดว่าต้นตระกูลของสมเด็จพระจักรพรรดิเป็นใครมาจากไหน ทราบแต่ว่าเพียงว่าเป็นผู้อพยพมาจากเอเชียตะวันออกและตอนเหนือของไซบีเรีย ประกอบกับคำบอกเล่าตามตำนานและความเชื่อของลัทธิชินโตเท่านั้นว่าครอบครัวของจักรพรรดินั้นเป็นลูกหลานพระอาทิตย์หรือเทพอะมาเทราสึนั่นเอง
มีเพียงราชวงศ์เดียวที่ได้ครองบัลลังก์
นับเป็นราชวงศ์ที่หายากและมีเพียงหนึ่งเดียวในโลกก็ว่าได้ที่ไม่เคยมีการเปลี่ยนราชวงศ์เลยกว่า 126 รัชกาลตลอด 2,700 ปี (อย่างไรก็ตามในปีค.ศ. 1336 และ 1392 ได้มีการแบ่งการปกครองเป็นแบบเหนือ-ใต้ ทำให้เวลานั้นญี่ปุ่นมีจักพรรดิถึง 2 พระองค์)
แม้แต่อาณาจักรโรมันอันเกรียงไกรก็ยังไม่สามารถอยู่รอดได้เกิน 1,000 ปี เรามาดูกันว่าทำไมระบอบจักพรรดิและราชวงศ์จึงสามารถอยู่คู่สังคมญี่ปุ่นมาอย่างยาวนานนับพันปี ซึ่งก็มีเหตุผลหลักๆ อยู่ 2 ข้อ คือ
- ในแต่ละยุคสมัย เหล่าผู้มีอำนาจในเวลานั้นได้ปกป้องครอบครัวของจักรพรรดิเอาไว้
- เพราะคนญี่ปุ่น (คนที่เกิดและโตในญี่ปุ่น) บูชาลัทธิชินโต จึงเคารพจักรพรรดิ ที่เชื่อว่าเป็นลูกหลานของเทพแห่งดวงอาทิตย์ด้วย
แม้ว่าจะมีผู้ปกครองที่มีแสนยานุภาพและอำนาจทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่าจักรพรรดิ อย่างเช่น ซามูไร ที่ปรากฏตัวขึ้นในช่วงปลายสมัยเฮอัน แต่ก็ไม่สามารถล้มล้างตระกูลของจักรพรรดิไปได้ ทำได้เพียงลดทอนอำนาจบางส่วนเท่านั้น เหตุผลก็คือ ประชาชนยังเชื่อกันว่าจักรพรรดิเป็นผู้สืบเชื้อสายจากเทพเจ้าในศาสนาชินโต ซึ่งมีคำเรียกแทนจักรพรรดิว่า โอคามิ (お上) หรือ เท็นโกะซามะ (天子様) ซึ่งหมายถึงโอรสแห่งสวรรค์นั่นเอง
สถานะของจักรพรรดิ: ไม่ใช่กษัตริย์ หากแต่เป็นจักรพรรดิ
จาก 26 ราชวงศ์ทั่วโลกที่ยังคงใช้ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชนั้น มีเพียงพระองค์เดียวที่ถูกเรียกว่าจักรพรรดิ (Emporor) นั่นก็คือสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น
สถานะของจักรพรรดินั้นเคยมีอยู่ในอาณาจักรโรมันและและราชวงศ์ของจีน และในช่วงกลางศตวรรษที่ 17 ชาวตะวันตกที่เดินทางมายังญี่ปุ่นได้บันทึกถึงสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นโดยใช้คำว่า Emperor ที่แปลว่า จักรพรรดิ
เดิมที่คำว่า เทนโน (天皇) ที่แปลว่าจักรพรรดินั้น เป็นคำที่มาจากภาษาจีน โดยเริ่มใช้หลังยุคเมจิเป็นต้นมา แต่ก่อนหน้านั้น จักรพรรดิมักจะถูกเรียวว่า โอคิมิ (大王) ไดริ (内裏) มิคาโดะ (御門) ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้ตัวคันจิ「帝」ที่อ่านว่า มิคาโดะ เหมือนกัน เพื่อบ่งบอกถึงสถานะของจักรพรรดิ แม้แต่ลูอีส ฟลอย มิชชันนารีชาวโปรตุเกสผู้มีชื่อเสียงจากการเขียนประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นในสมัยของโอดะ โนบุนากะ ยังบันทึกชื่อของจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นว่าเป็น “ไดริ” ที่แปลว่า จักรพรรดิ หาใช่คำว่า King ที่แปลว่า กษัตริย์
ระบอบจักรพรรดิทั่วโลกค่อยๆ ล่มสลาย
ในปี 1912 ราชวงศ์สุดท้ายของจีนคือราชวงศ์ชิง ซึ่งในเวลานั้นปกครองโดยจักรพรรดิผู่อี๋ซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายถูกปฏิวัติโดยนายพลเจียงไคเช็ก ระบอบจักรพรรดิของจีนที่สืบเนื่องมายาวนานถึง 2,100 ปีก็ถึงกาลล่มสลาย
ความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงนั้นสามารถดูได้จากภาพยนตร์เรื่อง The Last Emperor แม้ว่าพระราชวังต้องห้ามจะถูกยึดไป แต่ในปี 1934 ก็มีก่อตั้งจักรรดิแมนจู โดยมีอดีตจักรพรรดิผู่อี๋กลับขึ้นมาเป็นจักรพรรดิ แต่สุดท้ายก็เป็นเพียงหุ่นเชิดของกองทัพญี่ปุ่น หลังจากการล่มสลายของแมนจู อดีตจักรพรรดิผู่อี๋ก็ถูกจับกุมโดยกองทัพแดงของโซเวียต และถูกส่งตัวกลับแผ่นดินจีนอีกครั้งเมื่อเหมาเจ๋อตุงเข้ามามีอำนาจ และอดีตจักรพรรดิผู่อี๋ก็ใช้ชีวิตอย่างสามัญชนจนกระทั่งนาทีสุดท้ายของชีวิต
ทางด้านจักรพรรดิรัสเซีย ราชวงศ์โรมานอฟเป็นราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองรัสเซียเป็นเวลายาวนานถึง 300 ปี ตั้งแต่ปีค.ศ. 1613-1917 จนเมื่อเกิดการปฏิวัติรัสเซียขึ้นในปี 1917 และในปี 1918 พระเจ้านิโคลัส ที่ 2 จักพรรดิองค์ที่ 14 แห่งราชวงศ์โรมานอฟ พระมเหสี รวมทั้งโอรสและธิดาทั้ง 5 ก็ถูกสังหารหมู่ ถือเป็นหนึ่งในราชวงศ์ที่มีจุดจบอันเลวร้ายราชวงศ์หนึ่งเลยว่าได้
เหตุใดระบอบจักรพรรดิในญี่ปุ่นจึงอยู่รอด
เชื่อว่าหลายๆ คนคงมีคำถามในใจว่าเหตุใด ราชวงศ์ญี่ปุ่นถึงเหลือรอดมาได้ยาวนานกว่า 2,700 ปี ในขณะที่ราชวงศ์อื่นๆ ถูกล่มสลายไปตามกาลเวลา
การมีอยู่ของราชวงศ์และจักรพรรดิได้ช่วยป้องกันความวุ่นวายครั้งใหญ่ในช่วงที่เกิดการฟื้นฟูประเทศในสมัยเมจิ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนระบอบการปกครองให้อยู่ภายระบอบโชกุนอยู่พักหนึ่ง แต่ผู้มีอำนาจทุกยุคทุกสมัยก็ยังคงให้ความเคารพครอบครัวของสมเด็จพระจักรพรรดิ ด้วยชุดความคิดที่ว่า พระองค์เป็นสมมุติเทพ และแม้ว่าในยุคสมัยใหม่ญี่ปุ่นจะแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 แต่นายพลแมคอาเธอร์ก็ยังเลือกที่จะปกป้องสมเด็จพระจักรพรรดิไม่ให้รับโทษในฐานะอาชญากรสงคราม ทำให้ระบอบของจักรพรรดิรอดพ้นจากการถูกทำลายได้อีกครั้ง
ในละครเรื่อง The Emperor’s Cook ที่ออกอากาศทางช่อง TBS นายทหารชาวอเมริกันได้ถามหัวหน้าพ่อครัวของจักรพรรดิว่า “สำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว การมีอยู่จักรพรรดิคืออะไร?” หัวหน้าพ่อครัวจึงได้ตอบไปว่า สำหรับเขาแล้ว
“การมีอยู่ของจักรพรรดิก็เหมือนซุปมิโสะ เพราะเป็นอาหารที่คนญี่ปุ่นทุกคนคุ้นเคยรสชาติมาตั้งแต่เด็ก ไม่จำเป็นที่จะต้องกินทุกวันก็ได้ แต่ถ้าวันใดขาดซุปมิโสะไปแล้วก็คงจะรู้สึกแปลกๆ”
หลักจากนั้น กองทัพของอเมริกันจึงเลือกที่จะคงสถานะของสมเด็จพระจักรพรรดิเอาไว้เพื่อให้ไม่ถูกประชาชนญี่ปุ่นต่อต้าน
ผลสำรวจความนิยมในระบบจักรพรรดิ
สถานีโทรทัศน์ NHK ของญี่ปุ่น ได้เปรีบเทียบผลสำรวจระหว่างปีค.ศ. 1973 และ 2013 ในหัวข้อที่ว่า “คุณมีภาพจำแบบไหนต่อระบบจักรพรรดิ” ซึ่งมีผลลัพธ์ดังนี้
ปี 1973 (ปีโชวะที่ 48)
- ความสนใจ 43-47%
- ความเคารพนับถือ 30%
- ชื่นชอบ 20%
- มีความรู้สึกต่อต้าน 2%
การมีอยู่ของสมเด็จพระจักรพรรดิที่กลายมาเป็นเพียง “สัญลักษณ์” ทางการเมืองนั้น เป็นการตอกย้ำความเจ็บปวดหลังการพ่ายแพ้สงคราม และแม้ว่าสมเด็จพระจักรพรรดิโชวะจะเป็นคนที่มีคาริสม่าดึงดูดใจผู้คน แต่กลับได้รับความเคารพนับถือจากประชนเพียง 30% และมีผู้คนชื่นชอบเพียงแค่ 20% เท่านั้น
ปี 2013 (ปีเฮย์เซที่ 25)
- ความสนใจ 28%
- ความเคารพนับถือ 34%
- ชื่นชอบ 35%
- มีความรู้สึกต่อต้าน 3%
อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจนั้นมีแนวโน้มที่เป็นบวกมากขึ้นในอีก 40 ปีต่อมา แม้ว่าความสนใจเกี่ยวกับราชวงศ์จะลดลง แต่ความเคารพนับถือและความชื่นชอบในตัวของสมเด็จพระจักรพรรดินั้นกลับมีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยมีปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอยู่ 2 ประการคือ
- เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ญี่ปุ่นมีจักรพรรดินีที่เป็นสามัญชน นั่นก็คือ อดีตสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าราชวงศ์สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
- คำพูดของสมเด็จพระจักรพรรดิมีผลต่อสภาพจิตใจของผู้ประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในภาคตะวันออกญี่ปุ่น จึงทำให้พระองค์เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง โดยเฉพาะการปรากฏตัวตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้กำลังใจเหยื่อผู้ประสบภัยและสูญเสียญาติมิตร
ปัจจุบันหน้าที่สำคัญของสมเด็จพระจักรพรรดิก็คือผู้นำในพิธีกรรมคิวจูไซชิ (宮中祭祀) ซึ่งเป็นการสวดอ้อนวอนเทพอะมาเทราสึ และเทพอีก 8 ล้านองค์ที่เชื่อว่าสถิตอยู่ในญี่ปุ่นเพื่อขอความสงบสุขและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนชาวญี่ปุ่น
จะว่าไปแล้ว การคงอยู่ของระบอบจักรพรรดิในญี่ปุ่นก็เป็นอีกหนึ่งแง่มุมดีๆ ที่น่าภาคภูมิใจ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของประวัติศาสตร์หรือศีลธรรมก็ตาม หากดูจากประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 2,700 ปี มีเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้นที่มีคนพยายามแย่งชิงตำแหน่งของจักรพรรดิ แต่ก็ไม่มีใครพยายามที่จะกำจัดตระกูลของจักรพรรดิให้หมดสิ้นไปจากเกาะญี่ปุ่นเลย
ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่สงครามและในช่วงระหว่างสงคราม ลัทธิชินโตของญี่ปุ่นนั้นถูกผูกโยงความเชื่อเข้ากับลัทธิชาตินิยม และเป็นที่น่าเสียดายว่าความเชื่อที่ผิดเพี้ยนเหล่านี้นำไปสู่การสร้างลัทธิทหารและนำพาญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามอันเจ็บปวด ชื่อของจักรพรรดิถูกอ้างเพื่อปลุกปั่นผู้คน ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ถูกสังหารเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อสงครามผ่านไปแล้วกว่า 70 ปี อาจจะเป็นช่วงเวลาที่คนญี่ปุ่นและระบอบจักรพรรดิจะมามีความสัมพันธ์ที่ดีกันดังเดิมก็เป็นได้
เหมือนดั่งความหมายที่แฝงอยู่ในเพลง คิมิกะโยะ (君が代) หรือเพลงชาติญี่ปุ่น ที่มีความหมายว่าประเทศชาติของเรา เป็นเพลงชาติที่สั้นที่สุดในโลก และมีความหมายว่าจักรพรรดิคือตัวแทน คือสัญลักษณ์และความสามัคคีของชาวญี่ปุ่น หากยังมีจักรพรรดิ ก็หมายถึงว่าญี่ปุ่นนั้นจะยังความสงบสุขและเจริญรุ่งเรืองสืบไป
สรุปเนื้อหาจาก: ka-ju