เมื่อได้ยินว่าจังหวัดโอกินาวา (沖縄県) เคยเป็นอาณาจักรริวกิว (琉球王国) มาก่อน เป็นธรรมดาที่เราจะสงสัยกันว่าอาณาจักรหนึ่งกลายเป็นจังหวัดของอีกประเทศได้อย่างไร วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจกันว่าอาณาจักรริวกิวเปลี่ยนเป็นจังหวัดโอกินาวาอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบันได้อย่างไรค่ะ เพื่อนๆ อาจจะต้องหาที่นั่งอ่านสงบๆ สักที่ก่อนเพราะเรื่องมันยาวค่ะ
อาณาจักรแห่งทะเลตอนใต้
ก่อนอื่นเรามารู้จักกันก่อนค่ะว่าอาณาจักรริวกิวเป็นอาณาจักรแบบไหนกัน อาณาจักรริวกิวหรือในภาษาถิ่นคือ “ลูจูคุคุ (琉球國)” เป็นอาณาจักรที่เป็นเอกเทศ มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองชูริ (首里) เกาะโอกินาวา (沖縄本島) และมีอาณาเขตครอบคลุมเกาะอื่นในบริเวณใกล้เคียงเช่นเกาะอามามิ (奄美諸島) เกาะมิยาโกะ (宮古島) และเกาะอิชิกาคิ (石垣島) เป็นต้น มีภาษาพูดเป็นของตัวเองคืออุจินากุจิ (うちなーぐち) และใช้อักษรจีนในการเขียนบันทึกค่ะ
นอกจากการใช้อักษรจีน อาณาจักรริวกิวยังรับอิทธิพลอื่นๆ มาจากจีนอีกด้วยค่ะ เช่นการแต่งกาย ชามะลิ และสถาปัตยกรรม ทั้งยังทำการค้าและเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนด้วยระบบจิ้มก้อง (冊封) เหมือนกับประเทศไทยในสมัยก่อน นั่นคือการส่งเครื่องราชบรรณาการไปให้จักรพรรดิแห่งจีนเพื่อแสดงไมตรี ซึ่งทางจักรพรรดิที่ถือว่าประเทศนั้นๆ มาสวามิภักดิ์ก็จะพระราชทานความสะดวกทางการค้าและของกำนัลให้เป็นการตอบแทน นอกจากนี้เมื่ออาณาจักรริวกิวมีกษัตริย์องค์ใหม่ ทางจีนจะส่งผู้แทนองค์จักรพรรดิมาเข้าร่วมพระราชพิธีราชาภิเษกเพื่อแสดงการยอมรับกษัตริย์องค์ใหม่
การบุกรุกของแคว้นซัทสึมะ
ในสมัยเอโดะ (江戸時代) แคว้นซัทสึมะ (薩摩藩) หรือปัจจุบันคือจังหวัดคาโกชิมะ (鹿児島県) นำทัพลงมายึดครองอาณาจักรริวกิวภายใต้การนำของชิมาสุ อิเอฮิสะ (島津 家久) หลังจากการรบกินเวลาสามเดือน แคว้นซัทสึมะก็ยึดครองเมืองหลวงคือเมืองชูริของอาณาจักรริวกิวได้สำเร็จในปีค.ศ. 1609

ริวกิวภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น
ผลจากการเข้ายึดครองของแคว้นซัทสึมะคืออาณาจักรริวกิวเสียเกาะอามามิและหมู่เกาะโทการะ (吐噶喇列島) ให้กับญี่ปุ่นและกษัตริย์โชเน (尚寧王) พร้อมรัฐมนตรีสามคนของราชสำนักริวกิวหรือ “ซันชิคัง (三司官)” ถูกพาตัวไปเป็นตัวประกันที่ซัทสึมะและต่อมาถูกส่งไปที่เมืองเอโดะจน 2 ปีให้หลังจึงถูกปล่อยตัวกลับหลังจากให้สัญญาว่าจะไม่ต่อต้านซัทสึมะ นอกจากนี้อาณาจักรริวกิวยังต้องปฏิบัติตามกฎ 15 ข้อ (掟十五条) ดังนี้
*ในวงเล็บคือจุดประสงค์ของกฎแต่ละข้อค่ะ
- ห้ามสั่งสินค้าจากจีนโดยไม่ได้รับคำสั่งจากซัทสึมะ (เพื่อชิงอำนาจทางการค้าของริวกิว)
- ห้ามไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่ข้าราชการได้รับการศึกษา (เพื่อควบคุมกลุ่มชนชั้นปกครองในปัจจุบัน)
- ห้ามไม่ให้สตรีรับการศึกษา (เพื่อลดฐานะของนักบวชหญิงหรือโนโร (ノロ) และเหล่านางในลง)
- ห้ามรับคนใช้เป็นการส่วนตัว (เพื่อไม่ให้เกิดผู้มีอำนาจใหม่ขึ้นในริวกิว)
- ห้ามสร้างศาสนสถานเป็นจำนวนมาก (เพื่อจำกัดและควบคุมศาสนาและความเชื่อของริวกิว)
- ห้ามทำการค้ากับพ่อค้า (จากแคว้นอื่น) โดยที่ซัทสึมะไม่อนุญาต (เพื่อไม่ให้เกิดผู้มีอำนาจใหม่ขึ้นในริวกิว)
- ห้ามคนริวกิวมาค้าขายที่เกาะญี่ปุ่น (เพื่อไม่ให้เกิดผู้มีอำนาจใหม่ขึ้นในริวกิว)
- ต้องส่งส่วยและของบรรณาการอื่นๆ ให้กับซัทสึมะตามที่ถูกกำหนดไว้ (เพื่อลดอำนาจของราชสำนักริวกิว)
- ห้ามปฏิบัติตามคำสั่งของผู้อื่นนอกเหนือจากสามรัฐมนตรี (เพื่อให้สามรัฐมนตรีเป็นฐานอำนาจให้กับซัทสึมะในริวกิว)
- ห้ามยัดเยียดให้ผู้อื่นซื้อขายกับตน (เพื่อลดอำนาจกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐของริวกิวซึ่งมักมีปัญหาการทุจริต)
- ห้ามทะเลาะเบาะแว้ง (เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งซึ่งอาจเกิดระหว่างคนริวกิวและคนจากซัทสึมะ)
- ให้ฟ้องร้องมายังคาโกะชิมะ (ซัทสึมะ) หากมีการขูดรีดประชาชนจากเจ้าหน้าที่รัฐ (เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในชนชั้นปกครองและแสดงให้เห็นว่าซัทสึมะมีความเที่ยงธรรม)
- ห้ามเดินเรือสินค้าจากริวกิวไปยังแคว้นอื่น (เพื่อผูกขาดผลประโยชน์ของการค้าขายกับริวกิวจากแคว้นอื่น)
- ห้ามใช้มาตราวัดอื่นนอกจากของญี่ปุ่น (เพื่อคุมเศรษฐกิจของริวกิวและเอื้ออำนวยความสะดวกให้พ่อค้าจากซัทสึมะ)
- ห้ามทำการใดที่เข้าข่ายการพนันหรือทุจริต (เพื่อลดอำนาจกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐของริวกิวซึ่งมักมีปัญหาการทุจริต)
จะเห็นได้ว่ากฎทั้ง 15 นี้ต่างมีไว้เพื่อตัดกำลังทั้งการค้าและการรวมอำนาจของชนชั้นปกครองในอาณาจักรริวกิว โดยสามารถจำแนกหมวดหมู่ของกฎออกได้เป็นสี่ส่วนหลักซึ่งได้แก่การค้า การปกครอง การจ่ายภาษี และการควบคุมจิตสำนึกค่ะ และนอกจากนี้ทางซัทสึมะยังส่งคนมาเฝ้าสังเกตการณ์ในอาณาจักรริวกิวด้วยค่ะ
แน่นอนว่าย่อมมีการต่อต้านจากทางริวกิวเป็นธรรมดา ไม่ใช่ทางการทหาร แต่เป็นการค้าค่ะ เช่นถ้าซัทสึมะสั่งให้ริวกิวนำเข้าสินค้าจากจีน ริวกิวจะไม่ให้ความร่วมโดยการซื้อของคุณภาพต่ำมาบ้าง หรือไม่ซื้อสินค้าที่ซัทสึมะสั่งเลยก็มีค่ะ

ซัทสึมะและญี่ปุ่นได้ประโยชน์อะไรจากการปกครองริวกิว?
ขึ้นชื่อว่าเป็นแคว้นที่รบและตีเมืองริวกิวซึ่งเป็นอาณาจักรหนึ่งมาเป็นเมืองขึ้นได้แล้ว ซัทสึมะจึงนับว่าเป็นหนึ่งในแคว้นที่มีอำนาจมากในสมัยเอโดะและยังเป็นแคว้นที่เชื่อมระหว่างริวกิวและรัฐบาลญี่ปุ่นค่ะ กล่าวคือรัฐบาลญี่ปุ่นจะออกคำสั่งไปยังแคว้นซัทสึมะให้ถ่ายทอดคำสั่งไปยังริวกิว และหากเกิดเหตุในริวกิว แคว้นซัทสึมะจะทำหน้าที่รายงานให้รัฐบาลทราบค่ะ นอกจากนี้ซัทสึมะยังเป็นเส้นทางหลักให้ญี่ปุ่นค้าขายกับจีนได้ผ่านริวกิวในช่วงที่ราชวงศ์หมิง (明) ของจีนปิดกั้นการค้ากับญี่ปุ่นทำให้ซัทสึมะมีอำนาจทางเศรษฐกิจพอสมควรค่ะ
ในสมัยเอโดะจะมีระบบ “ซังคินโคไต (参勤交代)” ซึ่งเป็นระบบที่ให้เจ้าแคว้นต่างๆ เดินทางมาพำนักที่เมืองหลวงเพื่อแสดงความภักดีและตัดกำลังทรัพย์สินของแคว้นต่างๆ ไปในตัว

แต่สำหรับริวกิวที่เป็นอีกอาณาจักรหนึ่งนั้น ถึงจะเป็นเมืองขึ้นของญี่ปุ่นแต่ก็ไม่ถูกบังคับให้ต้องแต่งกายแบบญี่ปุ่นในการเดินทางมาเอโดะ กลับกัน สำหรับริวกิวจะไม่ใช่ระบบซังคินโคไตแต่เป็น “เอโดะดะจิ (江戸立ち)” หรือ “เอโดะโนโบริ (江戸上り)” ค่ะ โดยคณะเดินทางจากริวกิวจะแต่งกายด้วยชุดทางการซึ่งคล้ายชุดแบบจีน ทั้งยังมีการแสดงพื้นเมืองตลอดขบวนการเดินทาง และจะเดินทางมาในสองกรณีได้แก่กรณีที่มีการผลัดแผ่นดินในริวกิวเพื่อแสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลญี่ปุ่น และเมื่อมีการเปลี่ยนโชกุนเพื่อแสดงความยินดีกับโชกุนคนใหม่ค่ะ เหตุผลที่ทางญี่ปุ่นให้ริวกิวแสดงออกถึงวัฒนธรรมของตัวเองได้เช่นนี้ก็เพื่อแสดงให้ทั้งประชาชนและชาติอื่นๆ เห็นว่าญี่ปุ่นมีแสนยานุภาพและมีอาณาจักรอื่นอยู่ใต้อำนาจนั่นเองค่ะ โดยในประวัติศาสตร์มีการเดินขบวนเอโดะดะจิเป็นจำนวน 17 ครั้งด้วยกันค่ะ

ริวกิวใต้สองอำนาจ
มาถึงตรงนี้เราอาจจะลืมไปว่าถึงจะเป็นเมืองขึ้นของญี่ปุ่นแล้ว แต่ริวกิวก็ยังถือว่าสวามิภักดิ์กับจีนอยู่ด้วยระบบจิ้มก้องค่ะ ทำให้ถ้ามองสถานการณ์ของริวกิวแล้ว ถือว่าอยู่ใต้การปกครองของทั้งจีนและญี่ปุ่นค่ะ ถึงเช่นนั้นริวกิวปิดบังเรื่องการเป็นเมืองขึ้นจากจีนเนื่องจากหากจีนรู้ว่าริวกิวเป็นเมืองขึ้นของญี่ปุ่นก็จะยกเลิกการจิ้มก้องซึ่งเป็นรายได้หลักในเศรษฐกิจของริวกิวค่ะ อาจจะดูเหมือนเป็นสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกแต่ริวกิวยังถือว่าสามารถปกครองตนเองได้อยู่บ้าง เพียงแต่อยู่ภายใต้การกำกับของญี่ปุ่นค่ะ
และเป็นเช่นนี้จนเข้าสมัยเมจิ (明治時代) ที่เป็นทั้งหัวเลี้ยวหัวต่อของญี่ปุ่นและริวกิวค่ะ และเป็นช่วงเวลาที่ริวกิวจะถูกเปลี่ยนเป็นจังหวัดโอกินาวา (沖縄県) ค่ะ ไว้มาดูกันต่อในคอลัมน์หน้านะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
河出書房新社(2002)「島津氏の琉球支配」『図説 琉球王国』,pp.66-69
河出書房新社(2002)「江戸上り」『図説 琉球王国』,pp.69-74
河出書房新社(2002)「進貢貿易と冊封使」『図説 琉球王国』,pp.82-88
ne.jp/asahi
และรูปภาพจาก naha-machima, geocities, archives.pref.okinawa, blogimg, grapee, konotabi