ชุดนักเรียนญี่ปุ่น เครื่องแบบกะลาสีผูกโบว์สุดน่ารักที่ทุกคนชื่นชอบ มองเผิน ๆ ก็ดูคล้ายกันไปหมด แต่ความจริงแล้วมีความแตกต่างของปกเสื้อในแต่ละภูมิภาคด้วย! เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ทวิตเตอร์ของ Akashi School Uniform Company บริษัทวางแผนและจัดจำหน่ายชุดนักเรียน ได้ทวีตแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความแตกต่างของชุดนักเรียนกะลาสีในแต่ละภูมิภาค จะแตกต่างกันอย่างไรบ้างนะ ??
บริษัท Akashi School Uniform Company ได้ทำภาพประกอบเพื่อแนะนำความแตกต่างของปกเสื้อกะลาสีที่ใช้กันในโรงเรียนแต่ละภูมิภาค โดยยกมาหลัก ๆ คือ ซัปโปโร คันโต คันไซ และนาโกย่า
セーラー服といっても様々な型があることをご存知でしょうか?
巷では関東襟・関西襟・名古屋襟などとも言われているようです。
とはいえ、関東だから浅め、名古屋だから深めという決まりがあるわけではなく…。
なぜ地域によって傾向が偏っているのか実は謎なのです🤔#制服豆知識 pic.twitter.com/QvgNclt5v7— 明石スクールユニフォームカンパニー (@akashi_suc) November 29, 2021
เราลองมาดูทีละส่วนกันค่ะ
- ซัปโปโร (ซ้ายบน) : ปกกะลาสีจะกว้างไปถึงช่วงไหล่ ขอบปกมีความโค้ง คอปกค่อนข้างตื้นและไม่มีผ้าปิดหน้าอก
- คันโต (ขวาบน) : ปกกะลาสีจะแคบ ไม่ถึงช่วงไหล่ ขอบปกมีความโค้ง คอปกสูงเหนือหน้าอก ส่วนผ้าปิดหน้าอกมีหรือไม่มีขึ้นอยู่กับแต่ละโรงเรียน
- คันไซ (ซ้ายล่าง) : ปกกะลาสีจะกว้างไปถึงช่วงไหล่ ขอบปกเป็นเส้นตรง คอปกค่อนข้างลึกกว่าหน้าอกเล็กน้อยและต้องมีผ้าปิดหน้าอก
- นาโกย่า (ขวาล่าง) : ปกกะลาสีจะกว้างจนคลุมช่วงไหล่ ขอบปกเป็นเส้นตรง คอปกลึกกว่าหน้าอกมากและต้องมีผ้าปิดหน้าอก
สำหรับเหตุผลที่ทำให้แต่ละท้องที่มีรูปแบบปกเสื้อแตกต่างกัน ทางบริษัทได้ทวีตไว้ว่า ความจริงแล้วก็ไม่ได้มีกฎหรือการกำหนดตายตัวว่าคันโตคอตื้นนาโกย่าคอลึกอะไรแบบนั้น แต่ได้ลองคาดเดาเหตุผลที่ทำให้คอปกแตกต่างกันว่าน่าจะเป็นเพราะในอดีต ชุดนักเรียนจะผลิตโดยร้านเสื้อผ้าในพื้นที่นั้น ๆ แต่ละที่ก็มีดีไซน์รายละเอียดต่างกันไป เมื่อมีบริษัทใหญ่เข้ามาผลิตและจัดจำหน่าย ก็เลยดึงเอาแพทเทิร์นหรือดีไซน์เดิมเหมือนในอดีตมาใช้จนถึงในปัจจุบัน
และยังอธิบายเพิ่มเติมว่า ในยุคไทโชที่ญี่ปุ่นเริ่มใช้เครื่องแบบกะลาสี มีประวัติว่าเหล่าคุณแม่เป็นคนเย็บชุดนักเรียนให้เด็ก ๆ เอง หลังจากนั้น บรรดาแม่ ๆ ที่มีฝีมือในการตัดเย็บก็เริ่มถูกไหว้วานให้ช่วยตัดเย็บเครื่องแบบ และบางคนก็ได้พัฒนาจนได้เปิดร้านรวงเป็นของตัวเอง แม้ว่าทางโรงเรียนจะแจกแพทเทิร์นคร่าว ๆ ของเครื่องแบบให้ แต่รายละเอียดต่าง ๆ ก็แตกต่างกันไปในแต่ละครัวเรือน และกลายมาเป็นต้นแบบของเครื่องแบบกะลาสี
ความแตกต่างระหว่างครัวเรือนนี้ทำให้มีปกกะลาสีหลากหลายรูปแบบ และหากใครที่ทำออกมาสวย น่ารัก บ้านอื่น ๆ ก็อยากจะเลียนแบบบ้าง ซึ่งความแตกต่างเล็กน้อยเหล่านี้ก็กลายเป็นที่ยอมรับและแพร่หลายในแต่ละท้องที่ หลังจากนั้น ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายอย่าง บรรดาผู้ผลิตต่าง ๆ ก็เริ่มเข้ามารับช่วงต่อในการตัดเย็บเครื่องแบบโดยยังใช้แพทเทิร์นเดิมมาอย่างต่อเนื่อง การออกแบบต่าง ๆ ของชุดก็ได้ส่งต่อมาจนถึงปัจจุบันพร้อมกับรายละเอียดที่แตกต่างกันไปตามภูมิภาค
ปัจจุบันบางโรงเรียนที่เคยใช้ชุดกะลาสีก็ได้เริ่มเปลี่ยนเป็นชุดเบลซเซอร์เนื่องจากมีความทันสมัยมากกว่า แต่บางโรงเรียนที่ใช้ชุดกะลาสีมาตั้งแต่ต้นก็สืบทอดเครื่องแบบนี้กันมาจนเป็นประเพณี อย่างเช่น Kinjo Gakuin, Seinan Jogakuin, Ferris Jogakuin อีกทั้งในบางโรงเรียนก็ยังคงชุดดีไซน์เดิมตั้งแต่อดีตไม่เคยเปลี่ยนแปลง
Kinjo Gakuin
View this post on Instagram
Seinan Jogakuin
View this post on Instagram
Ferris Jogakuin
View this post on Instagram
มาลองนึก ๆ ดู ถ้าใครที่ชอบดูอนิเมะหรือซีรีส์ญี่ปุ่น ทุกคนเคยสังเกตความแตกต่างของปกเสื้อกะลาสีของนักเรียนกันบ้างรึเปล่าเอ่ย ? ^^
สรุปเนื้อหาจาก j-town