“ซามุไร” กลุ่มชนนักรบที่ไม่มีใครไม่รู้จัก ด้วยเอกลักษณ์ที่มีความโดดเด่น สะท้อนออกมาผ่านเครื่องแต่งกายที่ดูมีความพิเศษแตกต่างไปจากนักรบชาติอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด…แล้วอะไรกันนะ!? ที่ทำให้ชุดเกราะของพวกเขาดูมีความพิเศษ แตกต่างไปจนเป็นที่จดจำของผู้คน อะไรที่ทำให้พวกเขามั่นใจในความโดดเด่นเหนือชั้นกว่าผู้ใดในโลก ความซับซ้อนเหล่านั้นนำไปสู่วิธีการสวมใส่ที่มีรายละเอียดยุบยิบไม่ธรรมดาอย่างไรบ้าง? จงจินตนาการไปตามคำบรรยายต่อไปนี้กันเลยครับ!!
เหตุแห่งความเหนือชั้นกว่าชุดเกราะที่มีดาษดื่นทั่วไป
เกราะซามุไรญี่ปุ่น ถูกออกแบบมาอย่างประณีต ผ่านกระบวนการคิดที่ลึกลับซับซ้อน…ว่ากันว่ามีซามุไรบางคนเหลือบตามองชุดเกราะของยุโรป “ข้าอยากได้ชุดเกราะแบบนี้” ช่างเป็นคำกล่าวที่หลงผิดอะไรเช่นนั้น! การถูกห่อหุ้มจากศีรษะจรดปลายเท้าในเหล็กกล้า มีเพียงช่องแคบ ๆ สำหรับดวงตาช่างดูเป็นความขลาดเขลาในสายตาซามุไรผู้หาญกล้า
ไม่มีซามุไรคนไหนอยากเห็นลูกธนูกระเด้งออกจากชุดเกราะของตัวเอง เพราะภาพดอกธนูนับสิบที่ฝังอยู่ในชุดเกราะของเขาขณะบุกตะลุยแสดงถึงความกล้าหาญของซามุไรผู้นั้นได้เป็นอย่างดี
นอกจากนั้นแล้ว ชุดเกราะญี่ปุ่นถูกคิดขึ้นมาให้สอดคล้องกับความสะดวกในการทำพิธีคว้านท้อง (เซ็ปปุกุ หรือ ฮาราคีรี) พิธีที่รักษาไว้ซึ่งเกียรติของซามุไรกระทั่งวาระสุดท้ายก่อนตาย หากแต่ซามุไรที่ใฝ่ฝันจะสวมเกราะแบบยุโรปจะยินยอมทำพิธีนี้ด้วยการแทงกริชขึ้นไปทางกระจับที่เปิดได้เพียงจุดเดียวของเกราะก็ย่อมได้ แต่นับว่าไร้สาระสิ้นดี! ช่างดูเป็นซามุไรที่ผิดขนบอะไรเช่นนี้!
ด้วยเหตุนั้น ประกอบกันกับการผลิตชุดเกราะญี่ปุ่นที่ไม่ได้ทำจากเหล็กกล้าชิ้นใหญ่ แต่ทำด้วยเหล็กแผ่นเล็ก ๆ เรียงร้อยผูกเข้าด้วยกันเป็นชั้น ๆ มีความซับซ้อนในการผลิต และซับซ้อนในระบบคิดที่แอบแฝงอยู่อย่างเลอค่า…ไม่มีอะไรเทียบเท่าชุดเกราะญี่ปุ่นได้…พวกเขาจึงเชื่อแบบนั้น
การสวมใส่ชุดเกราะ
เริ่มต้นจากการสวมผ้าเตี่ยวกับเสื้อ แล้วก็สวมเสื้อเกราะทับเสื้อ จากนั้นก็สวมกางเกงทับ คาดเข็มขัด ใส่ “สึนิอาเทะ” (สนับแข้ง) รอบน่อง ซึ่งทำจากเหล็กหลายแผ่นเย็บเข้ากับผ้า

แล้วใส่ “ไฮดาเทะ” (สนับต้นขา) ที่ต้องผูกไว้รอบเอว

แล้วสวมทับด้วย “โด” (เกราะหุ้มลำตัว) ส่วนที่ใหญ่ที่สุดของเกราะ ซึ่งมีคุซาซุริ (เกราะหุ้มส่วนขา) ติดอยู่

ต่อด้วยการหุ้มเกราะโคเทะ (เกราะแขน) ประกอบด้วยแขนเสื้อเป็นผ้าคู่หนึ่ง มีแผ่นเหล็ก และเกราะโซ่ติดไว้ตามจุดที่เปราะบาง

และหันมาใส่ “โซเดะ” (เกราะกำบังไหล่) สองอันด้านนอกของ “โด” ห้อยพาดอยู่บริเวณไหล่ทั้งสองข้าง แล้วจึงคาดเข็มขัดดาบไว้ที่เอว…เพียงเท่านี้ ร่างกายส่วนลำตัวทั้งหมดของซามุไรก็รัดกุมปลอดภัยที่สุดแล้ว

หันมาที่ส่วนใบหน้าและลำคอ จะได้รับการปกป้องด้วย “ชิโคโระ” (ที่กำบังคอ) และ “เมมโป” (หน้ากาก) ที่ตกแต่งด้วยหนวดขนม้า และฟันเงิน มุ่งหมายให้แลดูเหมือนปีศาจร้าย เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้เกิดแก่ศัตรูที่วิ่งเข้ามาประจัญหน้ากับเขา


หมวกแสนธรรมดา แต่สำคัญยิ่ง
ส่วนสุดท้ายที่สำคัญยิ่ง คือศีรษะของซามุไร “คาบุโต” คือหมวกเหล็กที่ถูกออกแบบธรรมดา มีคุณค่า และเพียงพอต่อความต้องการของซามุไรที่สุด เพียงเพื่อจะรักษาไว้ซึ่งศรีษะที่ยังหายใจ ให้ตั้งอยู่บนบ่ากระทั่งสิ้นสุดสงครามให้ได้…
ซามุไรที่มีตำแหน่งสูงส่ง มักจะมีหมวกที่ประดับอย่างหรูหราเกินจำเป็น เพียงเพราะเขามีคนคอยถือหมวกให้ และมันจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อสงครามนั้นได้สิ้นสุดลงที่ชัยชนะของเขา การสวมหมวกที่หรูหรานี้ เป็นไปเพื่อการเย้ยหยันในชัยชนะที่เพิ่งจะได้รับ แต่ไม่เหมาะสำหรับการสู้รบด้วยประการทั้งปวง
เป็นอย่างไรบ้างครับ แค่อ่านก็ชวนให้งุนงงในความซับซ้อนตั้งแต่ขั้นตอนการใส่แล้ว จะออกรบทียังต้องมีรายละเอียดที่มากมายถึงเพียงนี้ แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นไปเพื่อการรักษาไว้ซึ่งชีวิตของตนเองภายใต้ชุดเกราะอันมีเกียรติ ที่ไม่ใช่ว่าใครจะใส่ก็ได้…ขั้นตอนที่มากมาย ความคิดที่แฝงอยู่ในการผลิตชุดเกราะแบบญี่ปุ่น จึงสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นคนช่างคิด และความงดงามของญี่ปุ่น ผ่านวัฒนธรรมทางการรบได้อย่างน่าสนใจไม่แพ้เรื่องอื่น ๆ เลย ว่าไหมหล่ะครับเพื่อน ๆ !?
อ้างอิงเนื้อหาจาก SAMURAI: The Japanese Warrior’s Manual, Stephen Turnbull