ทำความรู้จัก “ตระกูลผู้สำเร็จราชการ” คลื่นใต้นำ้ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นโบราณ

ประเทศญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่บนเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้ ช่างมีเรื่องราวน่าสนใจมากมาย เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในประวัติศาสตร์ของพวกเขาสามารถหยิบยกมาเล่าได้ไม่รู้จบ…ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ได้รับอิทธิพลในหลายด้านจากจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งส่งผ่านมาทั้งโดยทางตรงเอง และทางอ้อมจากเกาหลี หรือผ่านมาทางการติดต่อค้าขายกับเรือต่างชาติ ทำให้พวกเขาได้รับเอาวิทยาการมาเรียนรู้และปรับใช้อยู่เสมอไม่ขาดสาย

ราชวงศ์ญี่ปุ่น…ราชวงศ์ที่ยืนยาวที่สุดในโลก

การเมืองการปกครองถือเป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งที่พวกเขาได้รับอิทธิพลมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ญี่ปุ่นมีระบบการปกครองที่มีสมเด็จพระจักรพรรดิเป็นสมมติเทพสูงสุด ทรงเป็นโอรสแห่งพระอาทิตย์ผู้มีเนื้อมีหนัง จุติลงมาให้ความสงบสุขร่มเย็น สืบเชื้อสายเป็นตำนานเล่าขานกันต่อมากระทั่งปัจจุบันเพียงราชวงศ์เดียว และถือเป็นราชวงศ์ที่มีการสืบราชสันตติวงศ์ต่อเนื่องยาวนานที่สุดในโลก

แม้ดูว่าจะมั่นคงเช่นนั้น แต่บทบาทและความเป็นไปของ “จักรพรรดิ” ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นก็ต้องล้มลุกคลุกคลานอยู่เสมอ บ้างมีอำนาจมาก บ้างถูกชักใย บ้างดำรงอยู่เป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น เป็นเรื่องราวทางการเมืองที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ก็หนีไม่พ้นเรื่องของ “อำนาจ” ที่เราในฐานะมนุษย์มิอาจหลีกหนีไปได้เลย

ความเป็นไปของจักรพรรดิในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นนี้ มีกลุ่มบุคคลในฐานะตระกูลผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้ซึ่งกุมอำนาจเป็นคลื่นใต้น้ำอยู่คู่ราชบัลลังค์ในเกือบทุกยุคทุกสมัยของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น มาทำความรู้จักพวกเขากันดีกว่าครับ!

ตระกูลผู้สำเร็จราชการ หรือ เซกกังเกะ (摂関家)

ก่อนอื่นต้องขอเท้าความก่อนครับ ว่าในอดีตญี่ปุ่นเองก็มีความเชื่อที่ฝังรากลึกในระบบการปกครองว่าจักรพรรดิจะมิสามารถจัดการงานราชการ ปกครองดูแลประเทศได้ด้วยตัวพระองค์เองทั้งหมด พระองค์จำเป็นจะต้องมีตระกูลขุนนางชั้นสูง อันเป็นที่ยอมรับ คอยสนองพระราชประสงค์ หรือคอยช่วยเหลือแบ่งเบาในงานราช งานหลวงที่มีมากล้นให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

ด้วยระบบความเชื่อนี้เองที่ก่อให้เกิดคลื่นใต้น้ำ ทั้งที่คอยช่วยเหลือ คอยชักใย บริหารสิ่งที่เรียกว่า “อำนาจ” เมื่อตระกูลตนเองมีฐานะเป็นถึงเซกกังเกะได้แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาไว้ซึ่งอำนาจล้นฟ้าล้นแผ่นดินนี้ให้ได้นานที่สุด บางช่วงบางตอนในประวัติศาสตร์ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่ไม่น้อย ว่าจักรพรรดิทรงดำรงอยู่ในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น เพราะอำนาจที่แท้จริงเป็นของตระกูลผู้สำเร็จราชการนั่นเอง

ตระกูลโซงะ (蘇我氏)

ตระกูลผู้สำเร็จราชการที่มีชื่อเสียงและยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นตระกูลแรก ๆ เห็นจะหนีไม่พ้นตระกูลโซงะ (蘇我氏) ที่มีอำนาจอยู่ในสมัยอาสึกะ (ราวสมัยอาณาจักรทวารวดี) โดยมีเจ้าชายโชโทกุ (聖徳太子) เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการนำพุทธศาสนาเข้าสู่เกาะญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกผ่านมาทางเกาหลีนั่นเองครับ…ถ้านึกไม่ออกก็ลองค้นหาธนบัตร 10,000 เยนสมัยโชวะดูได้ ในฐานะที่ท่านมีคุณูปการต่อศาสนาพุทธในประเทศญี่ปุ่นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 นั่นเองครับ

ตระกูลฟุจิวาระ (藤原氏)

อีกตระกูลที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยได้แก่ตระกูลฟุจิวาระ (藤原氏) นั่นเองครับ ตระกูลฟุจิวาระ เรียกได้ว่าเป็นตระกูลที่มีอำนาจมากที่สุดในประวัติศาสตร์การมีอยู่ของตระกูลผู้สำเร็จราชการในญี่ปุ่นก็เห็นจะไม่ผิด อำนาจของพวกเขาเริ่มก่อตัวขึ้นต่อเนื่องจากตระกูลโซงะและเพิ่มพูนมากขึ้นจนมีอำนาจล้นฟ้าล้นแผ่นดิน เหนือจักรพรรดิเสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะตลอดช่วงสมัยเฮอัน ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเกียวโตในปัจจุบัน (ราวสมัยอาณาจักรทวารวดี-อาณาจักรสุโขทัย) 

สาเหตุหรือกลยุทธ์สำคัญที่ตระกูลฟุจิวาระใช้ในการสร้างอำนาจให้กับคนของตระกูลตนเอง คือการสร้างสายสัมพันธ์โดยการแต่งงาน (婚姻戦略) กับตระกูลจักรพรรดิในทุกช่วงชั้นที่จะแทรกแซงได้ ทําให้ตระกูลฟุจิวะระกลายเป็นพระญาติทางสายมารดาของพระจักรพรรดิแทบทั้งสายในช่วงสมัยนั้น อำนาจของตระกูลจึงเพิ่มพูนจนมากล้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เกิดเป็นภาวะทางการเมืองที่เรียกกันว่า “การเมืองของผู้สำเร็จราชการ” (摂関政治) แม้ในช่วงเวลาเดียวกันจะมีตระกูลใหญ่อยู่อีก 3 ตระกูล ได้แก่ ทาจิบานะ ไทระ และมินาโมโตะ ที่มีกองกำลังอยู่ไม่น้อย ก็มิอาจจะแข็งข้อกับตระกูลฟุจิวาระได้เลยทีเดียว

ตระกูลฟุจิวะระเข้าสู่ยุครุ่งเรืองสูงสุดในสมัยของฟุจิวาระ โนะ มิจินางะ (藤原道長) เขามีลูกสาว 4 คน ซึ่ง 2 คนได้เป็นพระชายาของจักรพรรดิ 2 พระองค์ กระทั่งให้กำเนิดหลานอีก 2 พระองค์ที่ต่อมาได้เสด็จขึ้นเป็นจักรพรรดิในที่สุด

จนที่สุดแล้วตัวเขาเองก็แสนภาคภูมิ อำนาจอันท่วมล้นของตระกูล มิอาจบรรยายได้หมดสิ้น จึงสะท้อนผ่านงานประพันธ์เพลงบทหนึ่งของเขาเอง เพื่อกล่าวถึงอำนาจของฟุจิวะระที่มีอยู่อย่างมากล้นนั้นว่า…

「この世をば我世とぞ思ふ 望月の欠なしけたることも 無と思へば」

“โลกใบนี้ประหนึ่งว่าเป็นโลกของข้า…ความรุ่งเรืองของข้า…
ประหนึ่งจันทร์ที่เต็มดวง ไม่มีแหว่ง ไม่มีเว้าเลย”

เซสโช และ คัมปะกุ ตำแหน่งสำคัญในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ตระกูลฟุจิวาระที่มีอำนาจมากล้นอยู่ทั้งสายตระกูลนี้ อย่างไรก็ดี จำต้องมีตำแหน่งสำคัญที่สุดเพียงตำแหน่งเดียวตลอดช่วงสมัยของจักรพรรดิพระองค์หนึ่งๆ ที่เขาจะต้องคอยใกล้ชิดให้คำปรึกษา ช่วยเหลืองานบ้านการเมือง หรือดำเนินการแทนพระองค์เองในบางครั้งบางคราว หรือตามแต่อำนาจที่เขาจะมีอยู่ ได้แก่ตำแหน่งที่เรียกว่า “เซสโช” (摂政) และ คัมปะกุ “(関白)”

ซึ่ง 2 ตำแหน่งนี้แตกต่างกันที่ เซสโช คือผู้สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิที่ยังทรงพระเยาว์ ก่อนที่พระองค์จะเจริญพรรษาพอที่จะปกครองด้วยตนเอง ส่วน คัมปะกุ คือผู้สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิที่ทรงเจริญพระชนพรรษาแล้ว หรือเป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์นั่นเอง

อย่างไรก็ดี “อำนาจ” เป็นสิ่งไม่ยั่งยืน เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปความแข็งแกร่งของตระกูลฟุจิวาระก็เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา แม้ระบบการเมืองของผู้สำเร็จราชการจะยังคงอยู่ แต่ท้ายที่สุดก็ล่มสลายไปในสมัยเมจิ โดยการมีนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศญี่ปุ่น ระบบการเมืองแบบโบราณจึงเป็นอันต้องสิ้นสุดไป แทนที่ใหม่ด้วยระบบคิดแบบตะวันตก ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงญี่ปุ่นในวันนั้นไปตลอดกาล…

อ้างอิงเนื้อหาจาก NHK 高校講座

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save