มาทบทวนกัน! ศาลเจ้ากับวัดญี่ปุ่นต่างกันอย่างไร?

วัดอาซากุสะ ศาลเจ้าฟุชิมิอินาริ วัดคิโยมิสุ ศาลเจ้าอิตสึกุชิมะ เมื่อไปเที่ยวญี่ปุ่นเรามักจะมีศาลเจ้าหรือวัดญี่ปุ่นเป็นจุดหมายปลายทางในทริป แต่คำถามที่เชื่อว่าหลายคนมีหรือเคยมีก็คือ “ศาลเจ้ากับวัดญี่ปุ่นต่างกันอย่างไรนะ?” ในบทความนี้ เราจะมาดูความต่างระหว่างศาลเจ้ากับวัดญี่ปุ่นที่สังเกตได้ง่ายๆ กัน

คนญี่ปุ่นเรียก “ศาลเจ้า” และ “วัด” ว่าอะไร?

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักคำเรียก “ศาลเจ้า” และ “วัด” ในภาษาญี่ปุ่นกัน โดยคนญี่ปุ่นเรียกศาลเจ้าว่า “Jinja (神社)” และเรียกวัดว่า “Otera (お寺)” ซึ่งความหมายของคันจิแต่ละคำมีดังนี้

คันจิ 神 หมายถึงเทพเจ้า และ 社 มีความหมายทั้งสำนัก กลุ่ม สังคม หรือหมายถึงศาลเจ้าในตัวเองได้ เมื่อรวมคันจิสองตัวเข้าด้วยกันจึงหมายถึง “ศาลเจ้า”

คันจิ 寺 หมายถึงวัด โดยคนญี่ปุ่นนิยมใส่ O ข้างหน้าคำเพื่อแสดงความสุภาพ

ศาลเจ้ากับวัดญี่ปุ่นต่างกันอย่างไร?

ข้อสรุปง่ายๆ ของความต่างระหว่างศาลเจ้าและวัดคือ ศาลเจ้าเป็นสถานที่ของชินโต และวัดเป็นสถานที่ของศาสนาพุทธ แต่ชินโตและศาสนาพุทธในญี่ปุ่นมีลักษะเด่นที่ต่างกันอย่างไรบ้าง?

ชินโต

ชินโต (神道) เป็นความเชื่อที่มีมาแต่เดิมในญี่ปุ่น ปัจจุบันยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าชินโตเป็นศาสนาแบบหนึ่ง หรือเป็นเพียงลัทธิความเชื่อกันแน่ แต่ข้อสรุปที่เป็นกลางที่สุดคาดว่าเป็นการมองชินโตในฐานะ “ศาสนาพื้นเมืองของญี่ปุ่น”

ชินโตมีรากฐานมาจากความเชื่อและความนับถือในธรรมชาติของคนญี่ปุ่นแต่โบราณ โดยเชื่อว่าในสรรพสิ่งของธรรมชาติมีเทพเจ้าสถิตย์อยู่ ดังนั้นชินโตจึงเป็นศาสนาพื้นเมืองที่เป็นพหุเทวนิยม (นับถือเทพหลายองค์) และมีเทพเจ้ากว่า 8 ล้านองค์ ในทั้งหมดนี้มีเทพสูงสุดคือเทพีอามาเทราสุ เทพีแห่งดวงอาทิตย์ซึ่งเชื่อกันว่าองค์จักรพรรดิของญี่ปุ่นสืบเชื้อสายมาจากเทพีองค์นี้

นอกจากนี้ ระหว่างปีจะมีการจัดเทศกาลตามความเชื่อเพื่อแสดงความขอบคุณและให้เทพเจ้าพอใจ เพื่อให้เทพเจ้าและธรรมชาติยังคงเกื้อกูลมนุษย์ต่อไป และในบ้านของคนญี่ปุ่นจะมีแท่นบูชาเล็กๆ ตั้งอยู่ในบ้าน

ศาสนาพุทธ

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เข้ามาในญี่ปุ่นในภายหลัง โดยเผยแพร่จากอินเดียมายังญี่ปุ่นผ่านการติดต่อกับประเทศจีนและเกาหลี ทั้งนี้ จากคำบันทึกในนิฮงโชคิ (日本書紀) หนังสือประวัติศาสตร์เล่มแรกของญี่ปุ่น มีหลักฐานว่าศาสนาพุทธถูกนำเข้ามาในประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในช่วงปีค.ศ. 552 จากประเทศเกาหลี และค่อยเป็นที่แพร่หลายในเวลาต่อมา

ศาสนาพุทธในญี่ปุ่นเป็นพุทธมหายานเช่นเดียวกันกับพุทธในจีนและเกาหลี และเราจะเห็นหิ้งพระตั้งอยู่ในบ้านของคนญี่ปุ่นบางบ้านด้วย

เวลาไปศาลเจ้าหรือวัด เราจะเห็นอะไรได้บ้าง?

จุดเด่นหนึ่งของศาลเจ้าคือโทริอิ ซึ่งเปรียบเสมือนซุ้มประตูที่แสดงถึงทางเข้าพื้นที่ของเทพเจ้า (อ่านเรื่องโทริอิเพิ่มเติมที่นี่) นอกจากนี้ ในศาลเจ้าจะไม่มีการตั้งรูปเคารพของเทพประจำศาลเจ้าให้เห็นกัน ซึ่งมาจากความเชื่อว่าหิน ต้นไม้ และธรรมชาติคือสถานที่สิงสถิตย์ของเทพเจ้า และศาลเจ้าเป็นสถานที่ที่แสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของเทพเจ้าเท่านั้น

ในทางกลับกัน วัดพุทธในญี่ปุ่นจะมีไม่มีโทริอิตั้งแต่จะมีซุ้มประตูวัดแทน และเราสามารถเข้าไปเห็นและกราบไหว้พระพุทธรูปได้เหมือนวัดในไทย นอกจากนี้ ในพื้นที่วัดส่วนมากจะมีสุสานตั้งอยู่ เนื่องจากบทบาทของศาสนาพุทธในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นมีบทบาทในการปลอบโยนจิตใจจากความทุกข์ เช่นความทุกข์จากความตายเป็นต้น

วิธีไหว้สักการะ

แม้จะมีขั้นตอนการล้างมือ ใส่เงินทำบุญ และไหว้ที่คล้ายกัน แต่ในรายละเอียดแล้วศาลเจ้าและวัดมีวิธีไหว้สักการะที่ต่างกันเล็กน้อยแต่สับสนได้ง่ายๆ เช่นกัน แต่จุดสำคัญเดียวที่จำได้ง่ายๆ ระหว่างวิธีไหว้สักการะที่ศาลเจ้าและที่วัดคือ การไหว้สักการะที่วัดจะไม่ตบมือ แต่จะทำเพียงพนมมือไหว้เงียบๆ เหมือนบ้านเราเท่านั้น สำหรับวิธีไหว้สักการะศาลเจ้าอย่างถูกวิธี สามารอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อสังเกตง่ายๆ ระหว่างศาลเจ้าและวัดในญี่ปุ่นเท่านั้น ซึ่งบทบาทและความสำคัญของศาลเจ้าและวัด รวมถึงชินโตและพุทธในสังคมญี่ปุ่นยังมีเรื่องราวน่าสนใจให้ทำความรู้จักอีกมาก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save