ไม่ว่าอาหารไทยและอาหารญี่ปุ่นจะมีรสชาติอร่อยในแบบของตัวเอง แต่ความอร่อยหนึ่งที่ทั้งคนไทยและคนญี่ปุ่นรับรู้มานานเหมือนกันคือความอร่อยของข้าวสวยหุงสุกขึ้นหม้อใหม่ๆ ซึ่งในความอร่อยของข้าวที่ทั้งเราและคนญี่ปุ่นรับรู้เหมือนกันนั้น มีความแตกต่างอะไรที่น่าสนใจบ้างนะ? เรามาคดข้าวใส่ชามมาขบคิดกันค่ะ
การปลูกข้าวในไทยและญี่ปุ่น
ขึ้นชื่อว่าทั้งไทยและญี่ปุ่นต่างเป็นประเทศที่มีข้าวเป็นอาหารหลักแล้ว ทั้งสองประเทศต่างมีฤดูกาลปลูกข้าวที่ใกล้เคียงกัน สำหรับประเทศไทยเรามีทั้งการทำนาปีที่เป็นฤดูกาลทำข้าวปกติและนาปรังที่เป็นการทำนานอกฤดูปกติ การทำนาปีของไทยจะเริ่มเตรียมดินช่วงเมษายนและหว่านเมล็ดช่วงเดือนพฤษภาคม และเก็บเกี่ยวเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป ในขณะที่ญี่ปุ่นจะเริ่มทำนาในเดือนเมษายนซึ่งเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิ และเก็บเกี่ยวทุกอย่างแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม สำหรับช่วงปีใหม่ที่เป็นฤดูหนาวจะเป็นช่วงของการหมักบ่มสาเกจากข้าวใหม่ที่เก็บเกี่ยวได้
สำหรับปริมาณการผลิตนั้น ตัวเลขพยากรณ์การผลิตข้าวของไทยสำหรับปี 2020 จากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยอยู่ที่ประมาณ 24,876,000 ตัน ในขณะที่ตัวเลขพยากรณ์การผลิตข้าวของญี่ปุ่นอยู่ที่ประมาณ 7,260,000 ตัน ซึ่งน้อยกว่าไทยถึง 3 เท่า แม้จะมีตัวเลขที่ต่างกัน แต่ทั้งไทยและญี่ปุ่นต่างกำลังเผชิญกับโจทย์เดียวกัน นั่นคือการบริโภคข้าวของทั้งคนไทยและญี่ปุ่นที่น้อยลง ซึ่งส่วนหนึ่งมีที่มาจากไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบทำให้ไม่เอื้อต่อการนั่งกินข้าวเป็นมื้อนัก
สำหรับพันธุ์ข้าวยอดนิยมนั้น ประเทศไทยคงไม่พ้นข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาและข้าวหอมมะลิ 105 ที่ขึ้นชื่อเรื่องกลิ่นหอมของข้าว ในขณะเดียวกัน การจัดอันดับข้าวยอดนิยมของญี่ปุ่นในปี 2019 นั้นมีข้าวโคชิฮิคาริและข้าวอาคิตะโคมาจิที่ได้สองอันดับสูงสุดไปครอง
ข้าวไทยและญี่ปุ่น ความอร่อยที่แตกต่าง
ถ้าเพื่อนๆ ยังจำครั้งแรกที่ได้กินอาหารญี่ปุ่นได้ เชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่ทุกคนรู้สึกแปลกตาคงเป็นเมล็ดข้าวญี่ปุ่นที่อ้วนสั้นป้อมและมีรสสัมผัสนุ่มเหนียว ตามฉบับข้าวพันธุ์จาโปนิกาที่ปลูกได้ในแถบเอเชียตะวันออกรวมถึงอเมริกาและออสเตรเลีย ซึ่งต่างจากข้าวไทยที่เป็นสายพันธุ์อินดิกา เมล็ดข้าวมีลักษณะเรียวยาวและแห้งร่วนกว่า
แม้ว่าข้าวไทยและข้าวญี่ปุ่นจะให้พลังงานในปริมาณที่พอๆ กัน แต่สำหรับสาวๆ คนญี่ปุ่นแล้ว ข้าวไทยเป็นทางเลือกหนึ่งของการดูแลสุขภาพเพราะค่าดัชนีน้ำตาลของข้าวไทยมีน้อยกว่าญี่ปุ่นเกือบเท่าตัว ทำให้ข้าวไทยปริมาณเดียวกันให้น้ำตาลน้อยกว่าข้าวญี่ปุ่น และเป็นอีกหนึ่งเหตุผลว่าทำไมคนญี่ปุ่นถึงรู้สึกว่าข้าวไทยมีรสชาติค่อนข้างจืด
ด้วยรสชาติและรสสัมผัสที่ต่างกัน จึงมีคนญี่ปุ่นบางคนตั้งข้อสังเกตว่าข้าวญี่ปุ่นที่มีรสออกหวานหน่อยเหมาะกับกับข้าวที่มีรสจืดของญี่ปุ่น ในขณะที่ข้าวไทยที่มีรสจืดกว่าและแห้งร่วนกว่าเหมาะกับการกินคู่กับแกงต่างๆ ของไทย เพราะรสชาติข้าวที่จืดทำให้รับรสเครื่องเทศต่างๆ ของแกงได้อย่างเต็มที่นั่นเอง
ข้าวที่เป็นมากกว่าข้าว
ถึงจะเป็นเรื่องที่เห็นจนชินตา แต่สำหรับคนญี่ปุ่นและชาวต่างชาติแล้ว การเห็นข้าวอยู่ในขนมของคนไทยเป็นอะไรที่แปลกใหม่และน่าสนใจไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นข้าวเหนียวมะม่วง ข้าวเหนียวทุเรียน ข้าวต้มมัด ข้าวหลาม หรือข้าวตังเป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นขนมที่ไม่ได้นำข้าวไปบดเป็นแป้งแต่ใช้ข้าวทั้งเมล็ดแบบนั้น ในทางกลับกัน ขนมญี่ปุ่นเช่นไดฟุกุและโมจิจะเป็นการนำข้าวเหนียวของญี่ปุ่นมาตำจนเป็นก้อนแป้งเหนียวก่อนจะนำมาปั้น ในขณะที่ขนมทำจากข้าวอย่างเซมเบ้จะเป็นแป้งข้าว ซึ่งจะไม่เหลือรูปร่างของเมล็ดข้าวอยู่ในขนม แม้ว่าจะเป็นการใช้ข้าวในขนมเหมือนไทยก็ตาม
และเพราะเป็นประเทศที่ปลูกข้าวเหมือนกัน ทั้งไทยและญี่ปุ่นต่างมีวัฒนธรรมการหมักสุราจากข้าว โดยถ้าพูดถึงสุราพื้นบ้านไทยก็คงไม่พ้นเหล้าขาว เหล้าสาโท และเหล้าอุที่นำข้าวมาหมักกับแกลบ ลูกแป้ง และอื่นๆ อย่างหลากหลาย สำหรับสุราของญี่ปุ่นหรือที่เราคุ้นเคยว่า “สาเก” นั้น จะถูกเรียกว่า “นิฮนฉุ (日本酒)” และหมักข้าวกับน้ำและยีสต์เป็นหลัก ซึ่งด้วยวัตถุดิบที่เรียบง่ายนี้เอง การหมักในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในเวลาที่ใช่จึงเป็นศิลปะหนึ่งของการหมักสุราของญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังมีสุราชนิดหนึ่งในญี่ปุ่นที่ใช้ข้าวไทยหมัก นั่นคืออาวาโมริของจังหวัดโอกินาว่าที่มีที่มาจากความสัมพันธ์ของไทยกับโอกินาว่าสมัยที่ยังเป็นอาณาจักรริวกิวนั่นเอง
สำหรับการใช้ข้าวในผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเส้นผมนั้น เราจะคุ้นเคยกับสบู่รำข้าว สครับจมูกข้าว และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ใช้จมูกข้าว รำข้าว หรือน้ำมันรำข้าว ซึ่งในทางฝั่งญี่ปุ่นเองก็มีการใช้สารสกัดจากข้าวเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ดูแลผิวจนเป็นกระแสฮิตขึ้นมาช่วงหนึ่งทีเดียว และทุกวันนี้ยังมีมาสก์หน้าและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของญี่ปุ่นที่ใช้สารสกัดจากข้าวให้เลือกใช้กันหลากหลาย
ข้าวกับสังคมและวัฒนธรรม
ความคล้ายคลึงระหว่างความเชื่อและวัฒนธรรมเกี่ยวกับข้าวของไทยและญี่ปุ่นนับเป็นความคล้ายที่น่าสนใจทีเดียว เช่นความเชื่อเกี่ยวกับเทพของข้าว ซึ่งไทยมีแม่โพสพเป็นเทพีเกี่ยวกับข้าวในขณะที่ญี่ปุ่นมีเทพอินาริ โอคามิ แม้ว่าที่จริงเทพอินาริ โอคามิเป็นเทพที่มีทั้งร่างเพศหญิงและร่างเพศชาย แต่เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับข้าวแล้ว เทพอินาริ โอคามิมักจะถูกวาดภาพเป็นเทพีที่ถือรวงข้าวเหมือนแม่โพสพของไทย
นอกจากนี้ ทั้งคนไทยและญี่ปุ่นต่างมีคำโบราณที่สอนไม่ให้กินข้าวเหลือซึ่งต้องเคยได้ยินมาบ้างตอนเด็กๆ โดยคำที่คนไทยน่าจะคุ้นเคยสุดน่าจะเป็นคำว่า “กินข้าวเหลือไม่สงสารชาวนาหรือ” และในทำนองเดียวกัน คนญี่ปุ่นจะมีคำว่า “กินข้าวเหลือเดี๋ยวตาบอด” เพื่อเป็นการขู่ให้เด็กๆ กินข้าวให้หมด ในเรื่องของอิริยาบถในการกินข้าว คนไทยจะมีคำว่า “นอนกินข้าวจะกลายเป็นจระเข้” ที่คาดว่าน่าจะมาจากลักษณะของจระเข้ที่นอนราบไปกับพื้นตลอดเวลา ในส่วนของคำญี่ปุ่นที่คล้ายคลึงกันคือ “ถ้ากินข้าวและนอนเลยจะกลายเป็นวัว” นั้นมาจากการที่ถ้ากินข้าวและนอนเลยโดยไม่ขยับออกกำลังก็จะมีรูปร่างอ้วนพีเหมือนวัวนั่นเอง แต่ที่น่าสนใจคือคำกล่าวของคนญี่ปุ่นว่า “วันไหนล้างข้าวออกจากชามได้ง่ายฝนจะตก ถ้าล้างยากจะอากาศแจ่มใส” ที่มาจากการสังเกตธรรมชาติของคนญี่ปุ่น โดยถ้าเป็นวันฟ้าแจ่มใสอากาศจะแห้งและข้าวจะแห้งกรังติดกับชาม แต่ถ้าเป็นวันที่ฝนจะตก ความชื้นในอากาศจะทำให้ข้าวแห้งช้า และยังล้างออกง่ายแม้จะวางทิ้งไว้สักพัก
อีกจุดที่น่าสนใจคือสำนวนคำพังเพยของไทยและญี่ปุ่นที่ต่างมีสำนวนที่ใช้ข้าวอยู่มากมาย ซึ่งหนึ่งในจุดร่วมที่น่าสนใจคือการเชื่อมโยงข้าวเข้ากับสิ่งที่มีค่าและความอุดมสมบูรณ์ เช่นสำนวนไทยว่า “ข้าวเหลือเกลืออิ่ม” หรือสำนวนญี่ปุ่นว่า “กี่คืนข้างขึ้นก็ยังกินข้าว” ที่มีความหมายว่าอยากให้สิ่งดีๆ สิ่งหนึ่งยังคงอยู่ตลอดไป แต่ไม่มีอะไรจีรัง ถึงอย่างนั้น ถ้าเลือกได้ก็จะยังเลือกสิ่งนั้น เหมือนการตั้งใจว่าอยากจะกินข้าวสวยทุกวันคืนข้างขึ้นนั่นเอง
ด้วยความที่ทั้งไทยและญี่ปุ่นต่างมีข้าวเป็นส่วนสำคัญในวิถีชีวิตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้เรื่องราวของข้าวในสังคมวัฒนธรรมของญี่ปุ่นมีแง่มุมที่น่าทำความรู้จักอีกมาก ซึ่งบางครั้งการทำความรู้จักกับข้าวของญี่ปุ่นก็ทำให้เรากลับมาสนุกกับการทำความรู้จักข้าวไทยของเราได้เหมือนกัน