นางาโนะ VS ชิซุโอกะ! 2 จังหวัดที่ต้อง “ชักเย่อ” แบ่งเขตจังหวัดกันมาตั้งแต่สมัยก่อน

ทุก ๆ ปี ในวันอาทิตย์ลำดับที่ 4 ของเดือนตุลาคม จะเกิดศึกการแข่งขันที่เรียกว่า “Touge no Kunitori Tsunahiki Gassen” (峠の国盗り綱引き合戦) เพื่อแย่งชิงเขตแดนบนสันเขาเฮียวโงะชิ (兵越峠) ที่มีความสูงเหนือน้ำทะเล 1,150 เมตร ตั้งอยู่ระหว่างเขตแดนของ 2 จังหวัด ได้แก่ เขตเท็นริว-กุ, ฮามามัตสึ-ชิ, จังหวัดชิซุโอกะ กับเขตอีดะ-ชิ, จังหวัดนางาโนะ

โดยในศึกแย่งชิงเขตแดนจังหวัดนั้น จะตัดสินผลแพ้-ชนะด้วยการแข่งขัน “ชักเย่อ” หากจังหวัดใดเป็นฝ่ายแพ้ไปในปีนั้น ๆ จะต้องเสียเขตแดนให้กับจังหวัดผู้ชนะปีละ 1 เมตร! เพราะเหตุใดที่ทำให้ 2 จังหวัดต้องแข่งขันกัน? และการแข่งขันจะดุเดือดจริงจังแค่ไหน? วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบกันค่ะ!

เขตจังหวัดที่ถูกเปลี่ยนตำแหน่งทุกปี

ในทุกปีจะมีประชาชนที่ได้รับคัดเลือกมาเป็นนักกีฬาเพื่อเข้าแข่งขันในศึกแย่งชิงเขตแดนจังหวัด แบ่งเป็น “ทีมเอ็นชู” จากจังหวัดชิซุโอกะ และ “ทีมชินชู” จากจังหวัดนางาโนะ โดยแข่งชักเย่อทั้งหมด 3 รอบ ทีมละ 10 คน ทีมใดที่ชักเย่อชนะก่อน 2 ครั้งจะเป็นฝ่ายชนะทันที โดยในการแข่งขันรอบที่ 1 และรอบที่ 2 จะจำกัดเวลาการแข่งไม่เกิน 2 นาที และมีเงื่อนไขว่าทั้งสองทีมจะต้องมีนักกีฬาเพศหญิงลงแข่งในแมตช์ดังกล่าวอย่างน้อย 1 คน ส่วนการแข่งขันในรอบที่ 3 จะไม่มีเวลาจำกัด และไม่จำเป็นต้องส่งนักกีฬาเพศหญิงเข้าร่วมในการแข่งก็ได้

ทีมที่ชนะจะได้รับเขตจังหวัดของฝ่ายตรงข้ามเป็นระยะทาง 1 เมตร โดย “ทีมเอ็นชู” เคยทำสถิติชนะทั้งหมด 15 ครั้ง ในขณะที่ “ทีมชินชู” ทำสถิติชนะทั้งหมด 17 ครั้ง (*มีการยกเลิกการแข่งขันในปี 2017 เนื่องจากพายุไต้ฝุ่น) ซึ่งในปี 2019 “ทีมชินชู” สามารถคว้าชัยชนะได้ติดต่อกันเป็นครั้งที่สอง ทำให้ครอบครองพื้นที่เขตจังหวัดของ “ทีมเอ็นชู” ได้ถึง 2 เมตรแล้ว

นอกจากการแข่งขันชักเย่อชิงเขตแดนระหว่างจังหวัดนางาโนะและจังหวัดชิซุโอกะแล้ว ยังมีอีกหลายจังหวัดในประเทศญี่ปุ่น ที่จัดการแข่งขันชักเย่อชิงเขตแดนในลักษณะเดียวกันนี้ ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดอิวาเตะ VS จังหวัดอาคิตะ กับศึกชักเย่อแย่งชิงเขตแดนบ่อน้ำพุร้อน Sugo (巣郷温泉) ณ ช่องเขา Yuda Onsenkyou (湯田温泉峡) เริ่มแข่งขันครั้งแรกในปี 2009, จังหวัดฟุคุโอกะ VS จังหวัดซากะ กับศึกชักเย่อแย่งชิงเขตแดนแม่น้ำ Chikugogawa (筑後川) บนสะพาน Tenkenjibashi (天建寺橋上) เริ่มแข่งขันครั้งแรกในปี 2009 เป็นต้น

คลิปการแข่งขัน Touge no Kunitori Tsunahiki Gassen ปี 2019

อย่างไรก็ตาม การแข่งชักเย่อเพื่อแบ่งเขตแดนของทั้ง 2 จังหวัดนี้ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งเขตจังหวัดจริงตามข้อกฎหมายการบริหารแบ่งเขตการปกครองใด ๆ กล่าวคือ “ไม่มีการแข่งขันชักเย่อเพื่อแบ่งเขตแดนจังหวัดอยู่จริง!”

โดยในสมัยก่อน ทั้ง 2 จังหวัดเคยจัดกิจกรรมกระชับมิตรแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้วยการแข่งกีฬาทั่ว ๆ ไป เช่น การแข่งขันเบสบอล ฯลฯ แต่ดูเหมือนว่ากิจกรรมนี้จะไม่เป็นที่สนใจเท่าไหร่นัก ต่อมา กลุ่มผู้ประกอบการการค้าและอุตสาหกรรมรุ่นเยาว์ของทั้ง 2 จังหวัดได้ประชุมและเกิดไอเดียขึ้นว่า “หากเราจัดการแข่งขันชักเย่อที่เดิมพันด้วยเขตแดนจังหวัด อาจทำให้กิจกรรมกระชับมิตรดูน่าสนใจยิ่งขึ้น!?” โดยมีการจัดแข่งชักเย่อครั้งแรกตั้งแต่ปี 1987 เป็นต้นมา จนทำให้กิจกรรมกระชับมิตรแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมธรรมดา ๆ กลายเป็นงานเทศกาลประจำปีที่สร้างสายสัมพันธ์ของประชาชนทั้งสองเมืองให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเป็นเวลายาวนานกว่า 30 ปี

สรุปเนื้อหาจาก : gaku-sha

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save