แน่นอนว่าทุกคนคงจะเคยเห็นกันใช่ไหมคะว่าบริเวณหน้าทางเข้าของศาลเจ้าทุกแห่งจะมีเสาโทริอิตั้งตระหง่านเป็นสัญลักษณ์ เหมือนกำลังต้อนรับแขกผู้มาเยือนของศาลเจ้า แต่เคยสังเกตกันหรือไม่ว่าเสาโทริอิแต่ละที่นั้นมีรูปร่างที่แตกต่างกัน แถมรูปร่างเหล่านั้นยังมีชื่อเรียกและมีความหมายอีกด้วย
ความจริงแล้วก็เคยสังเกตมาบ้างเหมือนกันนะคะว่ารูปร่างของเสาโทริอินั้นไม่ได้มีความเหมือนเป๊ะกันไปหมด แต่ก็คิดว่าไม่ได้มีการกำหนดรูปแบบที่ตายตัวก็เลยขึ้นอยู่กับผู้สร้างว่าจะทำแบบไหนเสียอีก ซึ่งเสาโทริอินั้นมีการแบ่งประเภทเอาไว้อย่างชัดเจน และยังมีที่มาที่ไปไม่แน่ชัดอีกด้วย ดังนั้นจึงอยากมาแชร์ความรู้เล็กๆ เกี่ยวกับเสาโทริอิให้ทุกคนได้เข้าใจกันมากขึ้นค่ะ
ที่มาของชื่อ “โทริอิ”
โทริอิเขียนด้วยอักษรคันจิว่า “鳥居” ซึ่งอักษรตัวหน้าที่อ่านว่า “โทริ” นั้นหมายถึง “นก” สำหรับผู้ที่เรียนภาษาญี่ปุ่นอาจจะเคยสงสัยในส่วนนี้กันมาบ้างไม่มากก็น้อยเลยใช่ไหมล่ะคะ แต่เมื่อกล่าวถึงที่มาจริงๆ แล้วกลับไม่มีใครฟันธงได้เลยว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรกันแน่ แต่ก็ยังมีทฤษฎีความเป็นไปได้ที่เกี่ยวข้องกับนกอยู่ด้วยเหมือนกัน
1. เชื่อกันว่านกเป็นสัตว์ส่งสารของเทพเจ้า
2. ตามบันทึกใน “古事記 (โคะจิกิ)” บันทึกทางประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ของญี่ปุ่น กล่าวถึงตอนที่เทพ Amaterasu Omikami ไปซ่อนตัวอยู่ใน “อามะ-โนะ-อิวาโตะ” (ถ้ำในเทพปกรณัมญี่ปุ่น) เหล่าเทพได้ให้นกมาเกาะบนกิ่งไม้เพื่อทำการเปิดประตูให้แก่ท่าน ซึ่งต้นไม้ที่นกไปเกาะนั้นก็เป็นรูปร่างของเสาโทริอิด้วย
3. เมื่อก่อนจะมีประตูที่นิยมใช้สำหรับผ่านเข้าออกปราสาทหรือที่ทำการของรัฐที่ชื่อว่า “คาบุกิมง” เป็นประตูที่เรียกได้ว่าผ่านเข้าออกยาก ไม่ใช่ว่าใครจะผ่านได้เพราะต้องมีการคัดกรองคนด้วย ซึ่งประตูนี้ก็มีรูปร่างคล้ายกับเสาโทริอิด้วยเช่นกัน
ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่ง กล่าวถึงวิธีอ่านคำว่า “鳥居 (Torii)” ได้อีกแบบว่า “通り入る (Touri hairu” ที่แปลว่า “การผ่านเข้าไป”
หรืออีกความหมายหนึ่งคือ “ทางผ่านของพระเจ้า” ซึ่งก็อาจเป็นอีกหนึ่งที่มาของชื่อ “โทริอิ” ในปัจจุบันก็ได้
เสาโทริอิมีไว้ทำอะไร?
ภายในเขตของศาลเจ้านั้นเป็นสถานที่ของเทพเจ้าจึงถือว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เสาโทริอิด้านหน้าทางเข้าของศาลเจ้าจึงทำหน้าที่เป็นดั่งประตูที่กั้นระหว่างโลกมนุษย์และดินแดนศักดิ์สิทธิ์เอาไว้ เพราะฝั่งโลกมนุษย์ของเราที่มีทั้งกิเลสและมลทินจึงทำให้ไม่บริสุทธิ์ เสาโทริอิจึงคอยทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้สิ่งไม่ดีต่างๆ เข้าไปสู่เขตแดนของศาลเจ้าที่ศักดิ์สิทธิ์ได้นั่นเองค่ะ
ดังนั้นตามหลักปฏิบัติที่ถูกต้องเวลาจะไปสักการะที่ศาลเจ้า ก่อนเดินลอดเสาโทอิริเข้าไปยังด้านในเราควร “โค้งคำนับก่อนเดินเข้าไป 1 ครั้ง และขากลับเมื่อเดินลอดเสาออกมาแล้วให้หันกลับไปโค้งคำนับอีก 1 ครั้ง”
แต่ศาลเจ้าหลายๆ ที่ก็จะมีด่านโทริอิอยู่หลายต้นกว่าจะถึงตัวอาคารด้านใน ซึ่งในกรณีนี้ให้เราโค้งให้กับเสาโทริอิที่อยู่ใกล้กับ “手水舎 (Chouzuya)” หรือ “ที่ชำระล้าง” มากที่สุดแทน
แล้วทำไมเสาโทริอิจึงต้องเป็นสีแดง?
เสาโทริอิที่เราเคยเห็นกันส่วนใหญ่นั้นมักจะเป็นสีแดง แต่ความจริงแล้วเสาโทริอินี้มีหลากหลายชนิด และทำจากวัสดุที่แตกต่างกันอีกด้วย จึงไม่ใช่ทุกต้นที่จะเป็นสีแดง เล่ากันว่าเดิมทีโทริอินั้นเป็นสีของไม้ธรรมดาๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายปีก็เริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดง ซึ่งถ้าหากพูดถึงเสาโทริอิสีแดงแล้วศาลเจ้าอินาริถือว่าโด่งดังที่สุด นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าสีแดงเปรียบเหมือนเครื่องรางที่ช่วยคุ้มครองภัยต่างๆ ได้ จึงถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายกับวัดหรือศาลเจ้าและเป็นที่นิยมในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน


รู้หรือไม่ว่ารูปร่างของเสาโทริอิมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยนะ
ว่ากันว่าเสาโทริอิแบบดั้งเดิมจะมีเพียงเสา 2 ต้นและคานด้านบนเท่านั้น จากนั้นจึงค่อยเพิ่มรูปร่างของประตูขึ้นมาซึ่งมีความหมายในการปฏิเสธสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ไม่ให้เข้าไปยังศาลเจ้า
รูปร่างของโทริอินั้นสามารถแบ่งเป็น 2 ชนิดหลักๆ ได้ดังนี้
1. Shinmei Torii (ชิมเมโทริอิ)
เป็นเสาโทริอิที่มีลักษณะที่เรียบง่ายและตั้งฉากจากพื้น ตัวเสามักจะมีรูปร่างกลม ศาลเจ้าที่มีเสาโทริอิชนิดนี้จะเป็นศาลเจ้าของเทพเจ้า Amaterasu Omikami
สำหรับเสาโทริอิรูปแบบ Shinmei นี้ ยังมีวิธีเรียกแยกย่อยได้อีกมากซึ่งมีเอกลักษณ์รูปแบบที่เฉพาะตัวด้วย ยกตัวอย่างเช่น
– Ise Torii
– Kashima Torii
– Kasuga Tori


2.Myoujin Torii (เมียวจินโทริอิ)
จะถูกทาด้วยสีแดง มีฐานเป็นหิน และเสา 2 ข้างจะเอียงทำมุมเล็กน้อย คานด้านบนทั้ง 2 ข้างจะเป็นลักษณะโค้งขึ้น

และส่วนใหญ่ที่บริเวณกึ่งกลางด้านบนจะมีชื่อของศาลเจ้านั้นๆ ติดอยู่ด้วย ซึ่งรูปแบบเมียวจินนี้ถือว่าเป็นเสาโทริอิที่นิยมมากที่สุดของญี่ปุ่น และเป็นศาลเจ้าสำหรับเทพเจ้าทั่วไป
ส่วนเสาโทริอิรูปแบบ Myoujin นี้ มีวิธีเรียกแยกย่อยได้อีกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น
– Ryoubu Torii
– Miwa Torii
– Nakayama Torii
– Inari Torii

ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเสาโทริอิ
– ลักษณะนามของเสาโทริอิ นับเป็น “1 基 (ki), 2 基 (ki), 3 基 (ki)”
– เสาโทริอิหลักด้านหน้าสุดของศาลเจ้าจะเรียกว่า “一の鳥居 (Ichi no Torii)” ส่วนเสาต้นอื่นๆ จะเรียกว่า “二の鳥居(Ni no Torii” , “三の鳥居 (San no Torii)” ตามลำดับ
– ศาลเจ้าที่มีเสาโทริอิมากที่สุดของญี่ปุ่นคือ “ศาลเจ้าฟุชิมิอินาริ” จ.เกียวโต มีจำนวนมากถึง 10,000 ต้นหรือมากกว่า

– เสาโทริอิที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่นคือ “元木の石鳥居 (Motoki no Ishi Torii)” จ. ยามากาตะ ถูกสร้างขึ้นในช่วงสมัยยุคเฮอัน (ค.ศ. 794 – 1185)
View this post on Instagram
– เสาโทริอิที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นอยู่ที่ “ศาลเจ้า Kumano Honguu (ศาลเจ้าคุมาโนะฮองกู)” จ.วาคายามะ (สร้างขึ้นจากคอนกรีต สูง 33.9m)
View this post on Instagram
– เสาโทริอิไม้ที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นคือ “ศาลเจ้าเมจิจินกู” เขตชิบูยะ จ.โตเกียว สูง 12m สร้างขึ้นสมัยโชวะที่ 50 (ค.ศ. 1975)

นอกจากนี้เสาโทริอิหลายต้นก็ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ตัวแทนของญี่ปุ่น” อีกด้วย
แน่นอนว่าทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีประวัติที่มาที่ไปและมีความหมายในตัวเองด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งครั้งได้นำเกร็ดความรู้เล็กๆ เกี่ยวกับเสาโทริอิที่เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของญี่ปุ่นมาให้ได้ทราบกันมากขึ้นแล้ว ต่อไปนี้ก็คงอดไม่ได้ที่จะเริ่มสังเกตรูปร่างของเสาโทริอิมากขึ้นนะคะเนี่ย
สรุปเนื้อหาจาก : mag.japaaan, oshiete-oterasan, e-sogi