เด็กมัธยมญี่ปุ่นเรียนอะไรกัน? “สึเระสึเระงุซะ” บทความที่เขียนไปเรื่อยเปื่อยของนักบวชเค็นโคโฮชิ

วัดนินนะจิ รูปภาพจาก wikipedia
วัดนินนะจิ รูปภาพจาก wikipedia

วิชาภาษาญี่ปุ่นโบราณ หรือ โคบุน (古文) ในโรงเรียนมัธยมญี่ปุ่นแทบทุกโรงเรียนจะต้องมีบทเรียนเรื่อง “สึเระสึเระงุซะ” (徒然草) อยู่ในหนังสือเรียน ซึ่งเรื่องนี้จัดเป็นบทความประเภทซึยฮิสึ (随筆) หรือบทความที่ผู้เขียนเขียนความรู้สึกนึกคิดหรือบทเรียนของตัวเองจากเรื่องราวต่าง ๆ ลงไป เรื่องสึเระสึเระงุซะนี้ถือเป็นบทความประเภทซึยฮิสึที่สำคัญที่สุดบทความหนึ่งใน 3 บทของญี่ปุ่น ส่วนอีก 2 บทความคือ มะกุระโซชิ ของเซโชนากง และโฮโจคิ ของคะโมะโนะโชเม เรื่องสึเระสึเระงุซะนี้เขียนขึ้นโดยนักบวชชื่อเค็นโคโฮชิ เราไปดูกันดีกว่าว่าท่านเขียนเล่าอะไรไว้บ้าง

เกี่ยวกับผู้เขียน เค็นโคโฮชิ

เค็นโคโฮชิ รูปภาพจาก wikipedia
เค็นโคโฮชิ

สึเระสึเระงุซะ เป็นบทความประเภทซึยฮิสึที่เขียนขึ้นโดยเค็นโคโฮชิ (兼好法師) หรือแปลได้ว่าพระชื่อเค็นโคในสมัยคามาคุระ พระเค็นโค หรืออีกชื่อหนึ่งคือ อุระเบะ คานะโยชิ (卜部兼好) เกิดมาในครอบครัวที่มีอาชีพทางศาสนา ว่ากันว่าเขามีความเฉลียวฉลาดตั้งแต่เด็ก เมื่ออายุได้สิบกว่าปีเขาเข้าทำงานรับใช้สมเด็จพระจักรพรรดิ จนเมื่ออายุ 26 สมเด็จพระจักรพรรดิโกะนิโจ ซึ่งเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ที่ 94 ของญี่ปุ่นทรงสิ้นพระชนม์ เขาจึงตัดสินใจออกบวชในไม่กี่ปีต่อมา ระหว่างที่ใช้ชีวิตวัย 40 ปีอยู่คนเดียวโดยตัดขาดจากโลกภายนอกอยู่นั่นเอง เขาก็ได้เขียนเรื่องสึเระสึเระงุซะขึ้นมาเพื่อเล่าความรู้สึกนึกคิดและเรื่องราวที่ได้เคยเผชิญมา โดยเริ่มต้นด้วยบทความที่ว่า “พอไม่มีอะไรจะทำ ก็หันหน้าเข้ากระจกทั้งวัน ขีดเขียนเรื่องราวที่ผุดขึ้นมาในใจและเลือนหายไปเรื่อยเปื่อย ทำให้รู้สึกแปลก ๆ อยู่เหมือนกัน”

สึเระสึเระงุซะกับความไม่เที่ยงแท้

หนังสือสึเระสึเระงุซะ รูปภาพจาก amazon
หนังสือสึเระสึเระงุซะ

ในช่วงปลายสมัยคามาคุระเกิดสงครามเพื่อแย่งชิงบัลลังก์กัน ทำให้เกิดความไม่สงบทั้งทางด้านสังคมและการปกครอง เหล่าผู้คนไม่รู้เลยว่าพรุ่งนี้ชีวิตตนเองจะเป็นอย่างไร ทำให้เกิดหลักคิดเกี่ยวกับ “ความไม่เที่ยงแท้” ขึ้นมา ซึ่งเป็นหลักคิดที่สอดคล้องกับศาสนาพุทธในสมัยคามาคุระ ความไม่เที่ยงแท้ในที่นี้หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีอันเปลี่ยนแปลง และทุกอย่างบนโลกล้วนเป็นภาพลวงตาเป็นรูปร่างชั่วคราวเท่านั้น เค็นโคโฮชิได้ใส่หลักคิดความไม่เที่ยงแท้นี้ลงไปในเรื่องสึเระสึเระงุซะนี้ด้วย โดยช่วงหนึ่งของบทความกล่าวว่า “ผู้ฝึกตนนั้น คิดว่าหลังจากตอนเย็นจะมีพรุ่งนี้เช้า หลังจากพรุ่งนี้เช้าก็จะมีตอนเย็นอีก จึงคิดว่าค่อยฝึกจริงจังทีหลังก็ได้ ยิ่งไปกว่านั้นจะรู้หรือไม่ว่ามีความคิดเกียจคร้านอยู่ ไม่มีทางรู้แน่นอน ทำไมหนอ ทำไมการทำ ณ ปัจจุบันถึงได้ยากเย็นนัก” สรุปง่าย ๆ ก็คือแทนที่เราจะไปนั่งคิดว่าพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร กลับมาให้ความสำคัญกับปัจจุบันเสียยังดีกว่า

วัดนินนะจิ

วัดนินนะจิ รูปภาพจาก wikipedia
วัดนินนะจิ

ใครที่ติดใจในหลักปรัญชาของสึเระสึเระงุซะ สามารถไปตามรอยของเค็นโคโฮชิกันได้ที่วัดนินนะจิ ซึ่งเป็นวัดใกล้ ๆ กับอาศรมของเค็นโคโฮชิที่ใช้ชีวิตอย่างสันโดษ ว่ากันว่าเค็นโคโฮชิได้มีการติดต่อกับพระลูกวัดนินนะจิอยู่ด้วย และมีเนื้อหาบางส่วนของสึเระสึเระงุซะที่กล่าวถึงพระลูกวัดเหล่านั้น ใครที่ไปแล้วอาจจะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศ ณ ตอนที่เค็นโคโฮชิเขียนสึเระสึเระงุซะขึ้นก็ได้

สรุปเนื้อหาจาก : shikinobi, benesse

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save