ทบทวน! เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับชุดญี่ปุ่นที่เราคุ้นตา

ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างของชุดที่ดูดีมีเอกลักษณ์สไตล์เอเชียตะวันออก การเล่นสีและลวดลายของชุด หรือแม้แต่การได้เห็นคนญี่ปุ่นใส่ชุดญี่ปุ่นออกมาเดินทางสถานที่และโอกาสต่างๆ ก็เป็นหนึ่งในความประทับใจที่เรามีต่อชุดญี่ปุ่นจนกลายเป็นไฮไลท์หนึ่งของการไปเที่ยวญี่ปุ่น แต่ชุดญี่ปุ่นที่เราเห็นกันจนคุ้นตานั้นมีความน่าสนใจอะไรอีกบ้าง? ในบทความนี้เราจะมารู้จักชุดญี่ปุ่นที่เราเห็นกันบ่อยๆ ให้มากขึ้นค่ะ

ชุดแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นเรียกว่า “กิโมโน” หรือ “วะฟุคุ” กันแน่?

ถ้าพูดถึงชุดแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น เราจะได้ยินคำเรียกในภาษาญี่ปุ่นอยู่ 2 แบบคือ “กิโมโน (着物)” และ “วะฟุคุ (和服)” ซึ่งที่จริงแล้วทั้ง 2 คำต่างสามารถใช้เรียกชุดญี่ปุ่นได้เหมือนกัน โดย “กิโมโน” เป็นคำเรียกที่มีแต่เดิม แปลตรงตัวได้ว่า “สิ่งที่สวมใส่” ซึ่งหมายถึงเสื้อผ้าต่างๆ ของคนญี่ปุ่นนั่นเอง

ส่วน “วะฟุคุ” เป็นคำที่มีขึ้นสมัยเมจิ มีความหมายตรงตัวว่า “เสื้อผ้าญี่ปุ่น” โดยเป็นคำเรียกเพื่อให้แยกออกระหว่างการแต่งกายแบบญี่ปุ่นกับการแต่งกายแบบตะวันตกที่เรียกว่า “โยฟุคุ (洋服)” ปัจจุบันสามารถใช้ทั้ง 2 คำแทนกันได้เพื่อเรียกชุดเครื่องแต่งกายแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม

กิโมโน

กิโมโน

กิโมโนเป็นการแต่งกายแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น โดยเริ่มมาจาก “โคะโซเดะ (小袖)” ชุดที่ได้รับอิทธิพลมาจากการแต่งกายของจีนในสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งกิโมโนเป็นการนำโคะโซเดะมาสวมทับกันหลายชั้น และมีการพัฒนาจนมีรูปแบบเฉพาะตัวของญี่ปุ่นในที่สุด กิโมโนเป็นคำเรียกชุดญี่ปุ่นที่กว้างมากและสามารถแบ่งชุดกิโมโนออกได้กว่า 10 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดต่างใช้ใส่ตามวาระและโอกาสที่ต่างกันออกไป

ตัวอย่างกิโมโนที่เราเห็นบ่อยๆ ตามสื่อญี่ปุ่นมีเช่นชุดกิโมโน 12 ชั้น (จูนิฮิโตเอะ 十二単) ที่สวมกันในกลุ่มหญิงชนชั้นสูงของสมัยเฮอัน กิโมโนเรียบๆ ที่ใส่ในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นในอดีต และกิโมโนแบบฟุริโซเดะที่นักเรียนหญิงของญี่ปุ่นนิยมใส่ในพิธีบรรลุนิติภาวะและพิธีจบการศึกษาเป็นต้น โดยเชื่อว่ากิโมโนเริ่มมีลักษณะใกล้เคียงกับที่เห็นในปัจจุบันเมื่อสมัยเอโดะ

ยูกาตะ

ยูกาตะ

ยูกาตะจัดเป็นกิโมโนชนิดหนึ่ง เดิมทีนิยมใส่เป็นชุดนอนในสมัยเอโดะมาจนถึงสมัยโชวะ ปัจจุบันยูกาตะเป็นชุดที่นิยมใส่ในฤดูร้อนและเทศกาลฤดูร้อนญี่ปุ่น โดยลายชุดยูกาตะจะมีสีสันสดใสและมีการปรับเปลี่ยนลายให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน นอกจากนี้ยูกาตะยังมีการปรับให้สวมได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นยูกาตะแบบสองชิ้นที่แยกส่วนเสื้อกับกระโปงออกให้สวมได้ง่าย หรือโอบิสำเร็จรูปที่ใช้คาดเอวได้เลยโดยไม่ต้องผูกโอบิเองเป็นต้น

ฮากามะ

ฮากามะ

ฮากามะจัดเป็นกิโมโนชนิดหนึ่ง มีความต่างกับกิโมโนและยูกาตะที่ท่อนล่างของชุดจะเป็นกางเกงขากว้าง ฮากามะเป็นชุดที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีนในสมัยราชวงศ์ถังเช่นกันกับกิโมโน และนับเป็นชุดทางการสำหรับผู้ชายและเป็นชุดของหญิงสูงศักดิ์ในอดีต ปัจจุบันฮากามะมีการใช้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นชุดทางการของผู้ชายในงานพิธีต่างๆ ชุดฝึกซ้อมศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่น และเป็นชุดสวมแข่งไพ่คารุตะของผู้หญิง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ฮากามะเริ่มแพร่หลายในกลุ่มผู้หญิงทั่วไปในสมัยเมจิ ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้หญิงเข้าถึงการศึกษามากขึ้น แต่ด้วยการนั่งเก้าอี้ในห้องเรียนทำให้ชุดกิโมโนเป็นรอยยับง่าย การใส่ฮากามะที่คล่องตัวและสะดวกกว่าจึงได้รับความนิยมในกลุ่มนักเรียนหญิง และปัจจุบันมีการใส่ฮากามะในฐานะชุดเข้างานจบการศึกษาอีกด้วย

ฮาโอริ

ฮาโอริ

ฮาโอริ เป็นเสื้อคลุมด้านนอกของกิโมโน เดิมใส่เฉพาะในกลุ่มผู้ชายเท่านั้น จนกระทั่งเกอิชาเริ่มนำฮาโอริมาใส่เป็นแฟชั่นในช่วงปี 1800 และค่อยแพร่หลายมาในกลุ่มผู้หญิงทั่วไป ฮาโอริเป็นเสื้อคลุมที่ชายเสื้อยาวประมาณสะโพก มีทั้งแบบมีแขนยาวปกติ และแบบแขนกุดซึ่งมาจากการสวมฮาโอริทับชุดเกราะของกลุ่มขุนนางในยุคสงครามของญี่ปุ่น

ฮัปปิ

ฮัปปิเป็นเสื้อคลุมด้านนอกที่เชื่อว่ามีต้นแบบจากฮาโอริ และคาดว่าเคยใช้สวมเป็นเสื้อชั้นในของคนญี่ปุ่นสมัยก่อน ปัจจุบันฮัปปิเป็นเสื้อคลุมด้านนอกที่นิยมใส่เป็นเครื่องแบบของร้านค้าและนิยมใส่ในงานเทศกาลฤดูร้อนของญี่ปุ่น จึงมีการออกแบบที่ร่วมสมัยและหลากหลายตามแต่ความสร้างสรรค์ของทางร้านหรือผู้จัดงาน

จินเบ

จินเบ

จินเบเป็นชุดที่ใส่ได้ทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ชายที่มักจะใส่เป็นชุดนอนหรือชุดอยู่บ้าน จินเบจะมีส่วนที่เป็นเสื้อและกางเกงซึ่งใช้เชือกผูกอย่างง่าย และมีแขนเสื้อกับขากางเกงที่สั้นทำให้คล่องตัว นอกจากสีครามที่เป็นสีพื้นฐานของจินเบแล้ว ปัจจุบันจินเบเริ่มมีการพิมพ์ลวดลายสดใสคล้ายยูกาตะมากขึ้น เพราะได้รับความนิยมจากผู้หญิงญี่ปุ่นในฐานะตัวเลือกใหม่ในการแต่งตัวไปร่วมสนุกในเทศกาลฤดูร้อน

นอกจากชุดและการแต่งกายแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่เราได้ดูกันไปนี้ ยังมีชุดญี่ปุ่นอีกหลายชนิดที่น่าทำความรู้จัก โดยเฉพาะในกิโมโนของผู้หญิงที่สามารถแบ่งใส่ได้ตามวาระ เช่น พิธีชงชา งานมงคล และงานพิธีศพ รวมถึงกิโมโนที่แขนเสื้อมีลักษณะต่างกันระหว่างกิโมโนของหญิงที่แต่งงานแล้วและกิโมโนของหญิงที่ยังไม่แต่งงาน และอีกมากมายที่สะท้อนถึงความละเอียดในการแต่งตัวของคนญี่ปุ่นที่ยังคงมีอยู่ถึงปัจจุบัน

สรุปเนื้อหาจาก: wa-gokoro, urutoku

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save