“วะฟูเก็ทสึเม” เดือนนี้ชื่ออะไรในแบบญี่ปุ่น?

มกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม…ในภาษาไทยเรามีชื่อเรียกเดือนแต่ละเดือนอยู่ แต่สำหรับภาษาญี่ปุ่นเราจะเห็นคนญี่ปุ่นเรียกเดือนด้วยตัวเลขกันมากกว่า แต่รู้หรือไม่? ว่าวัฒนธรรมญี่ปุ่นก็มีสิ่งที่เรียกว่า วะฟูเก็ทสึเม (和風月名) หรือชื่อเรียกเดือนแบบญี่ปุ่นอยู่ และวันนี้เราได้รวบรวมชื่อเดือนตามแบบวะฟูเก็ทสึเมพร้อมที่มาของแต่ละชื่อให้เพื่อนๆ ได้ทำความรู้จักกันค่ะ

วะฟูเก็ทสึเมคือ?

วะฟูเก็ทสึเมคือชื่อเรียกเดือนตามแบบญี่ปุ่นซึ่งเป็นชื่อที่มีความเชื่อมโยงกับฤดูกาลหรือประเพณีในแต่ละเดือนตามปฏิทินจันทรคติ ถึงแม้ว่าจะมีอยู่บางชื่อที่ยังถูกใช้อยู่ในปฏิทิน แต่ความคลาดเคลื่อนระหว่างเดือนในปฏิทินจันทรคติกับฤดูกาลในปัจจุบันนั้นอาจจะคลาดเคลื่อนได้หนึ่งถึงสองเดือนด้วยกัน ทำให้ชื่อเดือนแบบวะฟูเก็ทสึเมอาจจะไม่ตรงกับฤดูกาลที่กำลังเกิดขึ้นนั่นเอง

เดือนที่ 1: มุตสึกิ (睦月)

เดือนแรกของปีจะเป็นเดือนที่ทุกคนในครอบครัวและเพื่อนๆ จะมาอยู่กันพร้อมหน้า เดือนที่หนึ่งจึงเป็นเดือนที่ถูกเรียกว่า “ไอมุตสึบิสึกิ (相睦び月)” หรือ “เดือนแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์” หรือเรียกสั้นลงได้อีกว่า “มุตสึบิสึกิ (睦び月)” จนสุดท้ายคำจึงถูกย่อลงจนเหลือเพียงคำว่า “มุตสึกิ” ที่เป็นชื่อเดือนนี่เอง

ชื่ออื่นของเดือน: โฉะชุน (初春) ชินชุน (新春) ทาโรสึกิ (太郎月)

เดือนที่ 2: คิซารางิ (如月)

ในช่วงนี้ของปี อากาศจะยังหนาวอยู่จนคนต้องใส่เสื้อผ้าซ้อนกันหลายชั้น ซึ่งการสวมเสื้อผ้าหลายชั้นนั้นเรียกว่า “คิซารางิ (衣更着)” และการสวมเสื้อผ้าในลักษณะนี้ได้กลายเป็นที่มาของชื่อเดือนนี้

ชื่ออื่นของเดือน: ฮัตสึฮานะสึกิ (初花月) ยุกิคิเอสึกิ (雪消月) อุเมมิสึกิ (梅見月)

เดือนที่ 3: ยาโยอิ (弥生)

ชื่อเดือนนี้มาจากการย่อคำว่า “คิคุสะอิยะโอฮิสึกิ (木草弥や生ひ月)” ซึ่งหมายถึง “เดือนที่ต้นไม้และหญ้าเติบโตงอกงาม” ให้สั้นลงจนเหลือเพียงคำว่า “อิยะโอฮิ (弥や生ひ)” จนสุดท้ายแล้วเหลือเพียงคำว่า “ยาโยอิ” อย่างที่เราเห็นกัน

ชื่ออื่นของเดือน: ยูเมะมิสึกิ (夢見月) ซากุระสึกิ (桜月) ฮานามิสึกิ (花見月)

เดือนที่ 4: อุทสึกิ (卯月)

เชื่อกันว่าที่มาของชื่อเดือนนี้มาจากการที่ดอกอุโนะฮานะ (卯の花) มักจะบานในช่วงนี้พอดี

ชื่ออื่นของเดือน: ฮานะโนโคริสึกิ (花残月) นัตสึฮัทสึกิ (夏初月) เซย์วะสึกิ (清和月)

เดือนที่ 5: ซัทสึกิ (皐月)

เพื่อนๆ อาจจะคุ้นชื่อนี้จากชื่อตัวละครพี่สาวซัทสึกิใน Tonari no Totoro กันบ้าง โดยเดือนที่ห้าเป็นเดือนแห่งการเริ่มหว่านเมล็ดข้าว เดือนนี้จึงถูกเรียกว่า “ซานาเอะสึกิ (早苗月) ” ซึ่งชื่อ “ซัทสึกิ” นั้นก็คาดว่าน่าจะย่อมาจากคำนี้นี่เอง

ชื่ออื่นของเดือน: ไซเนะสึกิ (早稲月) อินานาเอะสึกิ (稲苗月) นอกจากนี้ ในปฏิทินจันทรคติยังถือว่าเดือนนี้เป็นหน้าฝน (梅雨) จึงมีชื่อเรียกว่าอุเก็ทสึ (雨月) ที่แปลว่าเดือนฝน สึกิมิสุสึกิ (月不見月) ที่แปลว่าเดือนที่มองไม่เห็นพระจันทร์ และไบเก็ทสึ (梅月)

เดือนที่ 6: มินะสึกิ (水無月)

ความหมายตรงตัวของชื่อเดือนนี้คือเดือนที่ไม่มีน้ำ ซึ่งในอดีตช่วงเดือนนี้จะเป็นช่วงที่น้ำแล้ง แต่ปัจจุบันช่วงน้ำแล้งจะกลายเป็นระหว่างต้นเดือนกรกฏาคมจนถึงต้นสิงหาคมแทน

ชื่ออื่นของเดือน: นารุคามิสึกิ (鳴雷月) โชเก็ทสึ (焦月) คาเสะมาจิสึกิ (風待月) สุสุคุเระสึกิ (涼暮月)

เดือนที่ 7: ฟุมิสึกิ (文月)

เดือนที่เจ็ดจะเป็นเดือนแห่งการขอพรให้ตนเองเก่งหนังสือขึ้น โดยคนญี่ปุ่นในอดีตจะเขียนบทกลอน เพลง หรือข้อความสั้นๆ ลงในกระดาษทันสะขุ (短冊) เพื่อขอพรกัน

ชื่ออื่นของเดือน: นานะโยะสึกิ (七夜月) ทานาบาตะสึกิ (七夕月) โอมินาเอชิสึกิ (女郎花月)

เดือนที่ 8: ฮัทสึกิ (葉月)

ถ้านับเดือนแปดของปฏิทินจันรคติตามปฏิทินปัจจุบันก็จะตรงกับช่วงเดือนกันยายนจนถึงตุลาคม ในช่วงนี้ก็จะเป็นช่วงที่ใบไม้เริ่มร่วง จึงเป็นที่มาของชื่อเดือนคือ “ฮะโอจิสิกึ (葉落ち月) ” ที่แปลตรงๆ ว่าเดือนใบไม้ร่วง และชื่อเดือนก็ถูกย่อลงมาจนเหลือเพียงชื่อ “ฮัทสึกิ”

ชื่ออื่นของเดือน: สึกิมิสึกิ (月見月) จูชู (仲秋) โอมินาเอชิสึกิ (女郎花月)

เดือนที่ 9: นางะสึกิ (長月)

เนื่องจากช่วงเดือนนี้เป็นช่วงที่เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงและช่วงเวลากลางคืนเริ่มยาวนานขึ้นจึงถูกเรียกว่า “โยนางาสึกิ (夜長月)” ที่หมายถึง “เดือนซึ่งมีกลางคืนอันยาวนาน” และชื่อนี้ได้ถูกย่อให้สั้นลงจนเหลือแค่ “นางะสึกิ”

ชื่ออื่นของเดือน: โมมิจิสึกิ (紅葉月) คิคุสึกิ (菊月) อิเนะคาริสึกิ (稲刈月)

เดือนที่ 10: คันนะสึกิ (神無月)

ตามความเชื่อของคนญี่ปุ่น เดือนที่นี้จะเป็นเดือนที่เทพเจ้าจากทั่วประเทศมารวมตัวกันที่ศาลเจ้าอิสุโมะ (出雲大社) ดังนั้นจะในแต่ละพื้นที่จะไม่มีเทพเจ้าอยู่เลย จึงเป็นที่มาของชื่อเดือน “คันนะสึกิ” หรือ “เดือนไร้เทพ”

ชื่ออื่นของเดือน: ฮัตสึชิโมะสึกิ (初霜月) คามิซาริสึกิ (神去月) ชิงุเระสึกิ (時雨月)

เดือนที่ 11: ชิโมะสึกิ (霜月)

เนื่องจากเดือนนี้เป็นเดือนที่ “ชิโมะ (霜)” หรือเกล็ดน้ำแข็งตกลงมาจึงเป็นที่มาของชื่อ “ชิโมะสึกิ”

ชื่ออื่นของเดือน: ยุคิมาจิสึกิ (雪待月) ชิโมมิสึกิ (霜見月) และเพราะเดือนนี้เป็นเดือนที่เทพเจ้าเดินทางกลับจากศาลเจ้าอิสุโมะจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า คามิกิสึกิ (神帰月) หรือ “เดือนที่เทพหวนคืน”

เดือนที่ 12: ชิวาสุ (師走)

คันจิตัวแรก “ชิ (師)” ณ ที่นี้หมายถึงพระสงฆ์ และคันจิตัวหลังคือคำว่า “วิ่ง” ซึ่งที่มาของชื่อเดือนนี้มาจากการที่พระสงฆ์มักจะมีงานยุ่งทุกๆ ช่วงสิ้นปีเพราะต้องวิ่งไปมาตามที่ต่างๆ เพื่อทำพิธีมงคลในโอกาสขึ้นปีใหม่นั่นเอง

ชื่ออื่นของเดือน: ฮารุมาจิสึกิ (春待月) คุเรโคสึกิ (暮古月) อุเมะฮัทสึสึกิ (梅初月)

สำหรับวิธีการจำชื่อเดือนแบบวะฟูเก็ทสึเมนั้น คนญี่ปุ่นใช้วิธีการจำโดยนำเสียงอ่านของตัวอักษรแรกในชื่อเดือนมาเรียงต่อกัน ซึ่งจะได้เป็น มุ-คิ-ยะ-อุ-ซา-มิ-บุน-ฮะ-นะ-คะ-ชิ-ชิ (む・き・や・う・さ・み・ぶん・は・な・か・し・し) และทั้งหมดนี้สามารถเป็นประโยคที่มีความหมายได้ว่า “อุซามิที่โกรธกำลังทำให้คนในกลุ่มร้องไห้อยู่ (むきや宇佐美、分派泣かしし)”

จากการได้ทำความรู้จักชื่อเดือนแต่ละเดือนพร้อมที่มาแล้ว อาจกล่าวได้ว่าชื่อเดือนแบบวะฟูเก็ทสึเมเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นในอดีตและความใกล้ชิดกับธรรมชาติและฤดูกาลของคนญี่ปุ่น ซึ่งจุดนี้สามารถเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งให้คนต่างชาติอย่างเราสามารถทำความเข้าใจวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นได้ผ่านการทำความรู้จักกับความหมายและที่มาของชื่อเดือน

สรุปเนื้อหาจาก: sezlescort

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save