“กระดาษ” ของใช้ธรรมดาในชีวิตประจำวันที่มีประวัติยาวนานไม่ว่าจะในประเทศไหน และมีเอกลักษณ์เฉพาะตามวัสดุที่ใช้ในพื้นที่นั้นๆ ในจำนวนนี้ กระดาษญี่ปุ่นหรือ “วาชิ (和紙)” นับเป็นกระดาษชนิดหนึ่งที่น่าสนใจและได้รับการบันทึกเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอีกด้วย แต่ความพิเศษที่ซ่อนอยู่ในเนื้อกระดาษคืออะไร? ไปทำความรู้จักกันเลยค่ะ
“วาชิ” คืออะไรและมาจากไหน?
“วาชิ” เป็นชื่อเรียกกระดาษที่ผลิตด้วยกรรมวิธีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของญี่ปุ่น ซึ่งเดิมทีญี่ปุ่นได้รับเทคนิคการผลิตกระดาษมาจากจีน ก่อนจะปรับเปลี่ยนวิธีการทำจนได้กระดาษที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีคุณภาพสูง และมีความทนทานอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเห็นได้จากกระดาษบันทึกจากสมัยนาราในช่วงปีค.ศ. 700 ที่ยังคงหลงเหลือมาถึงปัจจุบันเป็นจำนวนมาก และยังคงอยู่ในสภาพดีแม้เวลาจะผ่านไปกว่า 1,300 ปีแล้วก็ตาม
“วาชิ” ทำจากอะไรบ้างและมีลักษณะเด่นอะไร?
พืชที่เป็นวัสดุในการผลิตวาชิโดยหลักๆ มีทั้งหมด 4 ชนิด ซึ่งวัสดุที่ได้จากพืชแต่ละชนิดสามารถผลิตออกมาเป็นเนื้อกระดาษวาชิที่มีลักษณะเด่นต่างกันดังนี้
1. โคโสะ (楮: Paper Mulberry)
โคโสะเป็นพืชที่พบได้ทั่วไปในเอเชีย และเป็นวัสดุหลักในการผลิตวาชิ ลักษณะเด่นของโคโสะคือเนื้อใยที่มีเส้นยาวและยึดติดกันง่าย ทำให้เนื้อกระดาษมีความทนทานและไม่ฉีกขาดง่าย
2. กัญชง (麻: Industrial Hemp)
กัญชงหรือในภาษาญี่ปุ่นคือ “อะสะ” เป็นพืชที่มีลักษณะคล้ายกัญชา มักถูกใช้ในการทอเสื้อผ้าและผลิตกระดาษด้วยเส้นใยที่ได้จากเปลือกต้น เดิมเป็นวัสดุหลักที่ใช้ในการผลิตวาชิมาตั้งแต่โบราณ แต่ด้วยความที่ใช้งานยากทำให้การใช้ใยจากต้นกัญชงลดลงและความนิยมในการใช้โคโสะเพิ่มขึ้นแทน วาชิที่ผลิตจากใยต้นกัญชงมีลักษณะเด่นคือเนื้อกระดาษที่หนาและค่อนข้างมีน้ำหนัก
3. กัมปิ (雁皮: Gampi)
กัมปิหรืออีกชื่อหนึ่งคือ “ฮิชิ (斐紙)” เป็นวัสดุในการผลิตวาชิมาตั้งแต่สมัยนารา ด้วยเนื้อใยที่สั้นละเอียดจึงมักใช้สำหรับพื้นผิวกระดาษเพื่อให้ได้หน้ากระดาษเนียนเรียบสวยงาม วาชิที่ได้จากกัมปิมักถูกใช้สำหรับการเขียนพู่กันและการคัดลอกคัมภีร์พระธรรมในญี่ปุ่น เพราะด้วยผิวกระดาษที่เนียนละเอียดทำให้สามารถเขียนตัวหนังสือเล็กๆ ด้วยพู่กันได้โดยที่หมึกไม่ซึมเลอะไปตามเนื้อกระดาษมากนัก
4. มิตสึมาตะ (三椏: Oriental Paperbush)
มิตสึมาตะเป็นพืชที่ให้เส้นใยสั้นละเอียดเหมือนกัมปิ โดยมิตสึมาตะมักถูกใช้ในกระดาษสำหรับสิ่งพิมพ์ และเป็นพืชที่กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นสนับสนุนให้มีการปลูกเพื่อใช้ในการผลิตธนบัตรญี่ปุ่นที่มีความทนทาน นอกจากนี้ วาชิที่ทำจากมิตสึมาตะยังนิยมใช้เป็นกระดาษโปสต์การ์ดและกระดาษจดหมายอีกด้วย
“วาชิ” กระดาษญี่ปุ่นจากศิลปะขั้นสูงที่ไม่ได้มาง่ายๆ
สำหรับวิธีการทำกระดาษนั้น แม้ญี่ปุ่นจะได้รับเทคนิคการทำกระดาษจากจีนซึ่งเป็นวิธี “ทาเมะสุกิ (溜め漉き)” หรือ “ตกตะกอนแล้วเกลี่ย” แต่ต่อมาญี่ปุ่นได้พัฒนาเทคนิคการผลิตกระดาษของตัวเองขึ้นในสมัยนารา นั่นคือ “นางาเระสุกิ (流れ漉き)” หรือ “ปล่อยให้น้ำไหลผ่านแล้วเกลี่ย” วิธีการนี้จะเป็นการให้น้ำเยื่อกระดาษที่เรียกว่า “เนริ (ねり)” ไหลผ่านแล้วเอียงกรอบไม้ไปมาเพื่อเกลี่ยให้เนื้อกระดาษวาชิมีความหนาเท่าๆ กัน โดยเป็นการนำน้ำส่วนเกินออกแล้วเติมน้ำเยื่อลงบนเนื้อกระดาษาวาชิที่ต้องทำซ้ำหลายรอบและใช้เวลานานกับความพิถีพิถันเพื่อให้ได้วาชิคุณภาพดีออกมา
นอกจากความพิถีพิถันในขั้นตอนแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ช่างทำวาชิใส่ใจไม่แพ้กันคือคุณภาพของน้ำที่ใช้ โดยน้ำที่ใช้ผลิตวาชิจะต้องเป็นน้ำอ่อนที่มีปริมาณแคลเซียมและแมกนีเซียมต่ำเท่านั้น หากใช้น้ำประปาทั่วไปอย่างที่เราใช้กันผลที่ได้คือเกลือในน้ำประปาจะทำให้กระดาษเปลี่ยนสีเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้นอาจมองได้ว่าความต่างในสารที่เจือปนในน้ำนิดเดียวก็สามารถส่งผลต่อคุณภาพของวาชิที่ผลิตออกมาได้
“วาชิ” กระดาษญี่ปุ่นสารพัดประโยชน์
ในอดีตวาชิถูกนำไปใช้ประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของกระดาษจดบันทึกทั่วไป ไปจนถึงกระดาษสำหรับของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กระดาษบุประตูบานเลื่อนของห้องแบบญี่ปุ่นและกระดาษสำหรับทำร่มญี่ปุ่น เป็นต้น
แม้ปัจจุบันกระดาษแบบตะวันตกอย่างที่เราใช้กันทั่วไปในปัจจุบันจะเข้ามาแทนที่วาชิพอสมควร แต่วาชิก็ยังคงแฝงอยู่ในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นธนบัตร โปสต์การ์ด กระดาษสำหรับกิจกรรมเขียนพู่กัน หรือเครื่องเขียนต่างๆ ที่ทำจากกระดาษเป็นต้น ซึ่งว่ากันว่าถ้าได้ลองใช้วาชิดูแล้ว จะรู้สึกได้ถึงอีกขั้นของกระดาษคุณภาพทีเดียว