ถ้าเราพูดถึง “การฆ่าตัวตาย” ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ก็คงจะนึกถึงคำคุ้นหูอย่างคำว่า “ฮาราคีรี” หรือที่ถูกต้อง จะออกเสียงว่า “ฮะระคิริ” ซึ่งไม่ได้หมายถึงการฆ่าตัวตายในแบบที่เป็นข่าวอยู่ในปัจจุบันทั่ว ๆ ไป แต่ถือเป็นกิจกรรมซึ่งมีขั้นมีตอน มีความปรารถนาอันแรงกล้า ต้องกระทำอย่างมีสติ จัดว่าเป็นกิจที่ต้องใช้จิตชั้นสูง อันเป็นที่ยอมรับ และมีคุณค่าในสังคมญี่ปุ่นโบราณ
“ฮะระคิริ” และ “เซ็ปปุกุ”
เพื่อน ๆ อาจจะสงสัยว่าการฆ่าตัวตายตามวิถีดั้งเดิมนี้ มีคำที่ใช้เรียกกันอยู่ 2 คำ นอกเหนือจากคำว่า ฮะระคิริ แล้ว ยังมีคำว่า “เซ็ปปุกุ” อีกด้วย…แล้วมันต่างกันอย่างไร??
คำตอบก็แสนเรียบง่าย เพราะทั้งสองคำมีความหมายเหมือนกัน เพียงแต่คำว่า “เซ็ปปุกุ” เป็นภาษาทางการ ส่วนคำว่า ฮะระคิริ นิยมใช้เป็นภาษาพูด หรือในบางกลุ่มอาจมองว่าเป็นคำที่ไม่สุภาพเท่ากับการใช้ภาษาทางการนั่นเอง
ความน่าสนใจอีกประการมีอยู่ว่า ทั้งสองคำนี้ ใช้คันจิ 2 ตัว ประกอบกันเข้าเป็นคำที่ให้ความหมายเหมือนกัน แต่ออกเสียงต่างกัน ดังนี้
ฮะระคิริ สะกดด้วยคันจิ “ฮะระ” ที่แปลว่า ท้อง (腹) และ “คิริ” ที่แปลว่า ตัด (切)
ส่วน เซ็ปปุกุ ก็เพียงแค่สลับตำแหน่งคันจิกัน กลายเป็น “เซ็ป” (切) และ “ปุกุ” (腹) เรียบง่ายเช่นนี้เองครับ
วิถีแห่งชายชาตรี ผู้มองชีวิตเป็นสิ่งบางเบา
การฆ่าตัวตายแบบดั้งเดิมนี้ ถูกคิดค้นขึ้นโดยชนชั้นซามุไร (สังคมญี่ปุ่นโบราณ ประกอบไปด้วย 4 ชนชั้น ได้แก่ ซามุไร ชาวนา ช่างฝีมือ และพ่อค้า หรือ ชิโนโคโช「士農工商」) ถือเป็นวิถีของชายชาตรี ที่มีเหตุผลในการปฏิบัติกิจนี้แตกต่างกันไปในหลายทาง
ในแง่หนึ่งใช้ในการสำเร็จโทษตนเองชดใช้ต่อการกระทำความผิด ไม่เป็นเยี่ยงอย่าง แต่ในฐานะซามุไรยังเป็นที่ยอมรับว่าเขาผู้นั้นจะต้องตายอย่างสมเกียรติ ในอีกแง่ก็ใช้สำหรับการปลิดชีพตนเองซึ่งเป็นเกียรติกว่าการถูกฆ่าด้วยคมดาบของซามุไรผู้เป็นอริศัตรู และในรูปแบบที่เป็นที่นิยมที่สุด คือการปลิดชีพตนเองเพราะมิอาจรักษาไว้ซึ่งชีวิตเจ้านายของตนได้ จึงมิมีเหตุอันใดที่ซามุไรไร้นาย จะมีชีวิตอันไร้ค่าอยู่ได้อีกต่อไป
ขั้นตอนการ “ตัดท้อง” ที่เรียบง่าย แต่ซับซ้อน
ซามุไรทุกผู้ทุกนาม จะพกดาบสั้นติดตัวไว้เสมอ ประหนึ่งว่าพวกเขาตระหนักรู้ซึ่งความบางและเบาของชีวิต เตรียมจิตใจไว้พร้อมในทุกขณะที่อาจต้องละไปซึ่งชีวิต ดุจใบไม้ที่พร้อมจะหลุดออกจากขั้วกิ่ง ร่วงหล่นลงสู่พื้นอย่างไร้เสียง…เรียบง่าย และแผ่วเบาถึงปานนั้น
หากการทำเซ็ปปุกุครั้งนั้น เป็นการทำอย่างเป็นทางการ มีพิธีรีตรอง ซามุไรผู้นั้นเป็นผู้มีเกียรติ เขาจำต้องดื่มสาเกถึงสองแก้ว แก้วละสองจิบ จิบแรกหมายถึงความโลภ และอีกสามจิบหมายถึงความลังเล รวมเป็นสี่จิบ หรือ “ชิ”「四、死」ที่แปลว่า สี่ หรือ ความตาย
จากนั้นจึงเขียนโคลงกลอนแห่งความตายขึ้นในวาระสุดท้าย ด้วยอากัปกิริยางดงามยิ่ง มีความเป็นธรรมชาติ ประหนึ่งว่าเขากำลังร่ายรำอย่างสงบ มิเกรงกลัวต่อความตายตรงหน้า

สิ้นสุดแล้วจึงมาถึงตอนสำคัญ หรือหากเป็นการทำโดยทั่วไปก็เริ่มต้นที่ขั้นนี้…สอดแขนทั้งสองเข้าไปในเสื้อ แล้วจึงแทงแขนออกมาทางอกเพื่อแหวกเสื้อออกให้ถึงเอว ดาบสั้นนั้นจะห่อไว้ด้วยกระดาษขาว เพื่อป้องกันไม่ให้ใบมีดบาดมือ หรือหลุดมือขณะกำลังถือเอาไว้ด้วยจิตใจแน่แน่ว หันปลายมีดเข้าสู่ช่องท้อง โดยให้คมมีดหันไปทางด้านขวา จรดมีดเข้าสู่หน้าท้องจากด้านซ้าย และลากคมมีดให้ยาวมายังด้านขวา โดยมากมักจะสิ้นสุดที่จุดนี้ แต่หากว่ากล้าหาญและว่องไวพอ จึงจะยกมีดขึ้นเพื่อตัดช่องท้องในขั้นสุดท้าย ซึ่งต้องแน่วแน่และไวกว่าดาบของไคชุคะนิน ผู้เฝ้ารออยู่เบื้องหลัง เพื่อกระทำการที่เรียกว่า ไคชะคุ ตัดศีรษะของผู้กระทำที่เริ่มไม่แน่วแน่และลังเลให้ขาดในดาบเดียว
ลานประกอบกิจฮะระคิริ (Ha-ra-ki-ri-Ma-ru)
แรกเริ่มเดิมทีก่อนที่การทำฮะระคิริจะพัฒนามาถึงรูปแบบที่ชัดเจนมีพิธีรีตรองอย่างในสมัยเอโดะนั้น ความรุนแรงและซับซ้อนของการลงมือมีขั้นตอนที่มากกว่าที่เป็นอยู่ แต่เมื่อถือเป็นกิจที่สังคมให้คุณค่าและยอมรับโดยทั่วกัน จึงปรากฏมีการสร้างลานประกอบกิจฮะระคิริอย่างเป็นกิจลักษณะ อย่างในปราสาทฮิเมจิที่เรียกว่า ฮะระคิริมะรุ
การฆ่าตัวตายด้วยการทำฮะระคิริหรือเซ็ปปุกุในหลายกรณีถือเป็นเรื่องใหญ่ เป็นไปตามสถานะทางสังคมของซามุไรผู้นั้น มีเกียรติมาก ย่อมได้รับความสนใจมาก จำต้องมีพิธียิ่งใหญ่ มีสักขีพยานเข้าร่วมนานัป
ไม่เพียงแต่ชาวญี่ปุ่นเท่านั้น ในยุคที่ชาวต่างชาติเริ่มเข้ามาในสังคมญี่ปุ่นอีกครั้งหลังจากเปิดประเทศช่วงปลายเอโดะ ปรากฎมีบันทึกในปี 1868 Lord Redesdale ราชทูตชาวอังกฤษ และผู้ติดตามอีก 6 ท่าน ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในพิธีเซ็ปปุกุอย่างเป็นทางการของซามุไรจากเมืองบิเซ็นวัย 32 ปี โทษฐานที่เขาได้สั่งการให้ซามุไรผู้ติดตาม เผาทำลายที่พักอาศัยของชาวต่างชาติในเมืองเฮียวโกะ (โกเบ)
ภายหลังพิธีสิ้นสุดลง Lord Redesdale ได้บันทึกประสบการณ์อันสุดแสนจะสะเทือนใจในความเหี้ยมหาญของการละไปซึ่งชีวิต แต่ก็ตราตรึงด้วยเพราะประทับใจที่ได้เห็นด้วยตาของตนเองนั้นไว้ในหนังสือของเขาที่มีชื่อว่า “Tales of Old Japan” ถือเป็นหนังสือที่มีคุณค่า เป็นบันทึกโดยชาวต่างชาติชิ้นแรกที่พูดถึงชีวิตและความตายผ่านวัฒนธรรมญี่ปุ่นด้วยประสบการณ์ตรงของผู้เขียนในยุคที่ญี่ปุ่นโบราณกำลังจะสิ้นลมหายใจไป แทนที่ใหม่ด้วยความทันสมัยและความรุ่งเรือง เป็นไปตามการหมุนไปกาลเวลาและโลกเช่นนั้นเอง
〜武士道と云は死ぬ事と見付たり〜
วิถีแห่งซามุไรเพียงพบได้เมื่อชีวิตต้องสิ้นไป
– Hagakure –
บันทึกว่าด้วยซามุไรที่เก่าแก่และสมบูรณ์แบบที่สุด
สรุปเนื้อหาจาก: 葉隠