รู้มั้ย? ทำไมคนญี่ปุ่นถึงเรียกหนุ่มหล่อว่า “นิไมเมะ (二枚目)” ?

หนุ่มหล่อ

คำที่เราสามารถใช้พรรณาถึงความหล่อของผู้บ่าวมีหลากหลาย ในภาษาญี่ปุ่นก็มีคำศัพท์หลายคำที่สามารถใช้อธิบายเสน่ห์อันน่าดึงดูดใจของชายหนุ่มได้ เช่น かっこいい (kakkoii) หรือ イケメン (ikemen) และมีอีกหนึ่งคำที่สามารถใช้เรียกหนุ่มหล่อได้เช่นกัน นั้นก็คือคำว่า 二枚目 (Nimaime) คำนี้มีความหมายอย่างไรมาดูกัน!

เกิดมาจากละครคาบุกิ

คำว่า 二枚目 (nimaime) แปลตรงตัวว่า แผ่นหรือใบที่สอง เป็นคำใช้เรียกหนุ่มหน้าตาดี มีเสน่ห์ชวนหลงใหล เป็นคำที่ใช้กันมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603 – ค.ศ. 1868) มีที่มาจากป้ายชื่อนักแสดงที่ติดอยู่หน้าโรงละครคาบุกิ ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงญี่ปุ่นที่ใช้นักแสดงชายทั้งหมด โดยปกติแล้วป้ายชื่อนักแสดงหน้าโรงละครจะมีทั้งหมด 8 ใบ (八枚看板) แบ่งตามบทบาทของแต่ละตัวละคร ป้ายใบที่สองหรือ 二枚目 (nimaime) จะเป็นชื่อของนักแสดงบทตัวรองที่หน้าตาดี พูดง่ายๆ ว่า ขายหล่อนั้นเอง

  • 一枚目 (ichimaime) หรือ ป้ายใบที่หนึ่ง ระบุชื่อนักแสดงหลักของเรื่อง
  • 二枚目 (nimaime) หรือ ป้ายใบที่สอง ระบุชื่อนักแสดงหน้าตาดีเล่นบทโรแมนติก
  • 三枚目 (sanmaime) หรือป้ายใบที่สาม ระบุชื่อนักแสดงบทตลก
  • 四枚目 (yonmaime) หรือป้ายใบที่สี่ ระบุชื่อนักแสดงบทสนับสนุน มีประสบการณ์ระดับกลาง
  • 五枚目 (gomaime) หรือป้ายใบที่ห้า ระบุชื่อนักแสดงบทตัวร้าย
  • 六枚目 (rokumaime) หรือป้ายใบที่หก ระบุชื่อนักแสดงบทตัวร้าย แต่บทดีเกลียดไม่ลง
  • 七枚目 (nanamaime) หรือป้ายใบที่เจ็ด ระบุชื่อนักแสดงบทลาสต์บอสของเรื่อง
  • 八枚目 (hachimaime) หรือป้ายใบที่แปด ระบุชื่อผู้อำนวยการสร้าง

นอกจากคำว่า 二枚目 (nimaime) แล้วก็มีคำว่า 三枚目 (sanmaime) ที่กันใช้ทั่วไป โดยจะหมายถึงผู้ชายตลก มีอารมณ์ขัน ซึ่งความหมายก็มาจากลำดับของป้ายรายชื่อนักแสดงหน้าโรงละครคาบุกิ โดยทั่วไปจะใช้แค่คำว่า 二枚目 (nimaime) และคำว่า 三枚目 (sanmaime) คำอื่นๆ ที่เหลือไม่นิยมใช้กันในบทสนทนาทั่วไป ถ้าใช้จะเป็นการพูดติดตลกมากกว่า

ไหนๆ ก็พูดถึงละครคาบุกิแล้ว ขอแนะนำนักแสดงคาบุกิรุ่นใหม่ที่กำลังมาแรงในตอนนี้ให้แม่ยกชาวไทยได้รู้จักสักนิดดีกว่า น้องคนนี้มีชื่อว่า “โซเมโกะโร อิชิคาวะ รุ่นที่ 8” (8 代目市川染五郎) หรือชื่อจริงว่า “อิทสึกิ ฟุจิมะ” (藤間齋) นักแสดงคาบุกิจะใช้ชื่อที่สืบทอดต่อกันไปเป็นรุ่นๆ ซึ่งรุ่นที่ 7 คือคุณพ่อของน้องเขานั่นเองค่ะ

ด้วยหน้าตาที่งดงาม ทำให้น้องโซเมโกะโรได้รับสมญานามว่าเป็นเจ้าชายแห่งคาบุกิ เป็นบุคคลตัวอย่างที่เหมาะกับคำว่า 二枚目 (nimaime) มากๆ เพราะหน้าสวยหวานสุดๆ แต่ภายใต้ใบหน้าที่ราวกับภาพวาด น้องก็ได้รับแรงกดดันอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะเกิดมาในตระกูลนักแสดงคาบุกิที่มีชื่อเสียงหลายชั่วอายุ ต้องฝึกละครคาบุกิอย่างหนักตั้งแต่เด็ก และแบกรับความคาดหวังจากตระกูล มัมหมีคนไหนอยากให้กำลังใจน้องก็ตามไปได้ที่อินสตราแกรมน้องโซเมโกะโรนะคะ

แม้ว่าในปัจจุบันละครคาบุกิไม่ได้รับความนิยมเท่าในอดีต เพราะสมัยนี้คนเราสามารถหาความบันเทิงได้ง่าย รวดเร็ว และทั่วทุกมุมโลก แต่คำศัพท์ที่มีรากฐานมาจากศิลปวัฒนธรรมที่เก่าแก่ยังคงอยู่สืบต่อมา ช่วยสะท้อนถึงความรุ่งเรืองในอดีตได้เป็นอย่างดี หวังว่าบทความนี้จะมอบข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับละครคาบุกิให้กับทุกคนได้นะคะ

สรุปเนื้อหาจาก Meijimura

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save