ถ้าพูดถึงผีญี่ปุ่น นอกจากชุดกิโมโนสีขาว วิญญาณที่ไม่มีขาและล่องลอยไปมา และลูกไฟสีฟ้าๆ แล้ว อีกลักษะเด่นอย่างหนึ่งของผีญี่ปุ่นคือผ้าสามเหลี่ยมที่คาดอยู่บนศีรษะนั่นเอง แต่เพื่อนๆ เคยสงสัยไหมเอ่ยว่าทำไมผีญี่ปุ่นถึงต้องมีผ้าสามเหลี่ยมนี้ด้วย? วันนี้เรามาดูเฉลยกันค่ะ
เวลาที่มีคนเสียชีวิตลง ในพิธีศพจะมีการแต่งตัวให้กับผู้เสียชีวิตเพื่อให้คนนั้นพร้อมสำหรับการเดินทางไปยังโลกหน้า โดยชุดที่ใส่ให้ผู้เสียชีวิตจะประกอบด้วย
- เท็นคัง (天冠) หรือเรียกได้อีกอย่างว่าเท็นกัง สุคิน (頭巾) ฮิไตเอโบชิ (額烏帽子) หรือคามิคาคุชิ (髪隠し) ซึ่งเรียกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค ซึ่งมีลักษณะเป็นผ้าสีขาวรูปสามเหลี่ยมสำหรับคาดศีรษะผู้เสียชีวิต
- เคียวคะทาบิระ (経帷子) ชุดกิโมโนสีขาว
- เท็คโค (手甲) ปลอกแขนที่คลุมบริเวณข้อมือและหลังมือ
- เคียะฮัง (脚絆) ผ้าคาดบริเวณลำแข้งซึ่งบางครั้งจะยาวลงไปถึงเท้า
- สุดะบุคุโระ (頭陀袋) เป็นถุงห้อยไว้ที่คอผู้เสียชีวิต ข้างในจะมีเหรียญกระดาษหกเหรียญเรียกว่าโรคุมงเซน (六文銭) สำหรับใช้จ่ายเป็นค่าข้ามฟากแม่น้ำซันซู (三途の川) เพื่อไปยังโลกหน้า
- งอบ
- รองเท้าแตะ
- ไม้เท้าสำหรับเดินทาง โดยจะวางไว้ให้ในมือข้างที่ถนัดของผู้เสียชีวิต
โดยรวมแล้ว ชิ้นส่วนเครื่องแต่งกายทั้งชุดนี้ก็ดูเหมือนการแต่งตัวให้ผู้เสียชีวิตพร้อมสำหรับการเดินทางจริงๆ แต่เท็นคังนี้จริงๆ แล้วมีความหมายอย่างไรกันแน่นะ?

คำตอบคือผู้เสียชีวิตต้องสวมเท็นคังไว้เพื่อให้เแต่งกายอย่างเหมาะสมเมื่อไปพบราชาเอ็นมะ (閻魔大王) ซึ่งเป็นราชาแห่งยมโลกตามความเชื่อในศาสนาพุทธของญี่ปุ่น กล่าวคือเพื่อเป็นการแต่งตัวให้ถูกต้องตามกาลเทศะนั่นเอง

นอกจากนี้ ยังมีอีกความเชื่อหนึ่งที่เชื่ออื่นๆ เช่น เท็นคังสามารถเป็นเครื่องรางช่วยให้หนีจากคำสาปของนรกได้ หรือการสวมเท็นคังที่เป็นผ้าสามเหลี่ยมคล้ายเกล็ดงูไว้ที่ศีรษะผู้เสียชีวิตก็เป็นการอธิษฐานถึงการเกิดใหม่ของผู้เสียชีวิตไปในตัวด้วย โดยในอดีตมีความเชื่อว่างูที่มีพิษและสามารถรักษาแผลตัวเองให้หายด้วยการลอกคราบนั้น เป็นสัญลักษณ์ของ “ความตายและการเกิดใหม่” นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เท็นคังก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแบบที่เป็นผ้าคาดสีขาวรูปสามเหลี่ยมสำหรับผู้เสียชีวิตเท่านั้น แต่เครื่องประดับศีรษะที่อยู่บนหัวตุ๊กตาฮินะก็เรียกว่าเท็นคังเช่นกัน

นอกจากนี้ในชุดของตัวละครที่เป็นผู้สูงศักดิ์ สตรี หรือเทพเจ้าในละครโน (能) จะมีเครื่องประดับสำหรับสวมอยู่บนหัวซึ่งเรียกว่าเท็นคังเช่นกัน และหากพิจารณาจากการแต่งกายของตัวละครในละครโนแล้ว ก็อาจมองได้ว่าการให้สวมเท็นคังเป็นความเชื่อของคนญี่ปุ่นในอดีตที่ต้องการให้ผู้เสียชีวิตได้แต่งกายอย่างสมเกียรติที่สุดสำหรับการเดินทางครั้งสุดท้ายก็เป็นได้
สรุปเนื้อหาจาก: shikitari