GUNPLA Recycling Project ต่อโมเดลกันดั้มอย่างไรให้รักษ์โลก

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แนวคิดเรื่องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ส่งผลต่อแนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทใหญ่ๆทั่วโลกรวมทั้งในญี่ปุ่นด้วย บริษัทในกลุ่ม Bandai Namco Group (バンダイナムコグループ) ผู้จำหน่ายกันดั้มซีรีส์พลาสติกโมเดล (Gundam Series Plastic Model) หรือที่มักเรียกสั้นๆว่า “กันพลา” ก็มีการประกาศโครงการ “Gunpla Recycling Project” ขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์ที่แพร่หลายไปทั่วโลกนี้ โดยได้เริ่มโครงการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2021 ที่ผ่านมา

Gunpla Recycling Project คืออะไร?

สำหรับใครที่เคยต่อกันพลาหรือเคยเห็นการต่อกันพลามาบ้าง จะพอรู้ว่าพลาสติกสำหรับต่อโมเดลนั้น จะมาในรูปของแผงพลาสติกที่ฉีดขึ้นรูปเป็นแบบและสีต่างๆ โดยแผงนี้จะเรียกกันว่า “รันเนอร์”

การต่อกันพลา จะต้องใช้คีมตัดส่วนประกอบต่างๆ ที่ต้องใช้ในการต่อโมเดลจากแผงรันเนอร์เหล่านี้ ทำให้หลังจากต่อโมเดลเรียบร้อยแล้ว จะมีเศษพลาสติกที่เหลือทิ้งจำนวนมาก ทำให้เกิดขยะพลาสติกเหลือใช้จำนวนมหาศาล

สำหรับโครงการนี้ทางบริษัทในกลุ่ม Bandai Namco Group จะตั้งกล่องรับเศษรันเนอร์ตามจุดต่างๆในเกมเซ็นเตอร์ Bandai Namco Amusement ในเครือกว่า 190 แห่งทั่วประเทศ เพื่อรวบรวมเศษพลาสติกเหล่านี้มาทำการรีไซเคิลเชิงเคมี (Chemical Recycle) ซึ่งเป็นนวัตกรรมการรีไซเคิลขั้นสูง เพื่อทำให้สามารถนำพลาสติกเหล่านี้กลับมาใช้ในกระบวนผลิตใหม่ได้

โครงการผลิตกันพลาจากพลาสติกรีไซเคิลครั้งแรกของโลก

BANDAI SPIRITS บริษัทในเครือ Bandai Namco Group ที่รับผิดชอบในการผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับกันพลาแต่ละรุ่นให้ข้อมูลว่า ในอดีตบริษัทได้ทดลองใช้กรรมวิธีรีไซเคิลทั่วไปที่เรียกว่า “Material Recycle” โดยใช้วิธีการบดพลาสติกแล้วนำมาหลอมขึ้นรูปใหม่ แต่ประสบปัญหาในการรักษาความแข็งแรงและการคงสีของพลาสติกไว้ ทำให้กันพลาที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลแบบนี้ไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการ แต่ในปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีรีไซเคิลเชิงเคมีนั้น ช่วยให้การนำพลาสติกใช้แล้วมารีไซเคิลทำได้ง่ายขึ้น

รันเนอร์ที่รวบรวมได้จากกล่องทั่วประเทศ จะถูกนำมาใช้รีไซเคิลใน 3 รูปแบบ ได้แก่

  1. Chemical Recycle สำหรับพลาสติกที่จะนำไปใช้กับกันพลาแบบใหม่ ที่จะเริ่มขายในปี 2022
  2. Material Recycle สำหรับพลาสติกที่จะนำไปใช้กับ “อีโคพลา”(エコプラ)หรือพลาสติกโมเดลราคาประหยัด ซึ่งวัสดุจะไม่ได้มีความแข็งแรงหรือมีสีสันหลากหลายเหมือนพลาสติกที่ผ่านการรีไซเคิลเชิงเคมี
  3. Thermal Recycle หรือการรีไซเคิลพลาสติกเป็นพลังงานความร้อนโดยใช้กระบวนการเผา ซึ่งรันเนอร์ที่ไม่ได้ถูกใช้ในการรีไซเคิลในข้อ 1 และ 2 จะถูกนำมาผ่านกระบวนการนี้ และใช้เป็นพลังงานสำหรับโรงงานผลิตพลาสติกโมเดลต่อไป
รันเนอร์สำหรับ “อีโคพลา”「エコプラ」
กระบวนการ Gunpla Recycling Project

นับเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่บริษัทต่างๆ ทั่วโลกหันมาใส่ใจเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และจริงจังกับการรีไซเคิลของเหลือใช้มากขึ้น แฟนๆ กันพลาทั้งหลายคงดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรักษ์โลกนี้ด้วย

สำหรับผู้เขียนเองก็มักใช้เวลาว่างในการต่อกันพลาบ้างเหมือนกัน และเชื่อว่าในไทยเองก็คงมีคนที่ต่อกันพลาเป็นงานอดิเรก (หรือแม้แต่ทำเพื่อแข่งขันกันชิงรางวัลอย่างจริงจัง) อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว คงจะดีเหมือนกันถ้ามีกล่องรับพลาสติกไปรีไซเคิลแบบนี้ในประเทศไทยบ้าง

สรุปเนื้อหาจาก: prtimes, nlab
ผู้เขียน: MIZUNOHANA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save