[รีวิว] “อิคิงามิ สาส์นสั่งตาย” พล็อตเรื่องน่าตื่นตะลึง แต่การเล่าเรื่องยังไม่ค่อยถึงใจ (สปอยล์)

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ใกล้จะหมดปี 2564 แห่งความน่ากลัวยิ่งกว่าปี 2563 แล้วนะครับ ภาวะโควิดได้เข้ามาแทรกซึมบ่อนทำลายชีวิตผู้คนในทุกด้าน สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน จากที่เราเคยมีหวัง เราฝันถึงภูมิคุ้มกันหมู่ที่จะเกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนกันมากๆ เราฝันถึงการเปิดประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจให้มีคนมาท่องเที่ยว แต่แล้วทุกอย่างกลับไม่เป็นดังฝัน สายพันธุ์ใหม่ที่เข้ามาเขย่าขวัญเรื่อยๆ ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการวัคซีน ผลกระทบในทางลบต่อร่ายกาย ฯลฯ เหมือนตอนนี้แทนที่จะมีหวัง เราเหมือนตกอยู่ในความกลัวกันเสียมากกว่า? มีอยู่วันหนึ่งผมนอนนึกถึงการ์ตูนที่เคยอ่านเมื่อสิบปีก่อนคือเรื่อง “อิคิงามิ สาส์นสั่งตาย” นึกไปว่าอยากจะอ่านอีกสักที เลยขอมารีวิวแบบสปอยล์จริงๆ จังๆ ให้ฟังนะครับ

เริ่มแรกเรื่องนี้ปูมาแบบว่า ประเทศอะไรก็ไม่รู้ (ซึ่งพูดอ่านเขียนญี่ปุ่นนะ แต่ไม่ใช่ประเทศญี่ปุ่น สงสัยจะเป็นประเทศโลกคู่ขนาน (ฮา)) มีกฎหมายที่เรียกสวยๆ ว่า “กฎหมายผดุงความรุ่งเรืองแห่งชาติ” (国家繁栄維持法 คกคะฮันเอย์อิจิโฮ เรียกสั้นๆ ว่า โคคุฮัน KOKUHAN ก็ได้นะ) ซึ่งมีวาทกรรมสวยหรูว่าเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อ “ให้ประชาชนโดยเฉพาะคนหนุ่มสาว มีความตระหนักในคุณค่าของชีวิต” ซึ่งวิธีสร้าง “ความตระหนักในคุณค่าของชีวิต” ของพี่แกคือ…

บังคับให้เด็กที่เพิ่งขึ้น ป.1 ทุกคน “ฉีดวัคซีน”

(ซึ่งในเรื่องก็ไม่ได้ให้ความกระจ่างว่ามีไว้ป้องกัน “โรคอะไร?” แต่บอกว่าเด็กประถมทุกคนต้องฉีดเพื่อ “ผดุงความรุ่งเรืองของชาติ” ตลกดีไหม?)

ฉีดเสร็จครูใหญ่ค่อยมาบอกว่า หนูๆ จ๊ะ “วัคซีน” ที่ฉีดให้พวกหนูน่ะ จะมี 1 ใน 1,000 คนที่จะมี “นาโนแคปซูล” ซึ่งจะแตกตัวในช่วงอายุ 18-24 ปี (หรือพูดง่ายๆ คือมีหนึ่งในพันคนที่จะต้อง “ตาย” ในช่วงวัยหนุ่มสาว) ฉะนั้นขอให้ “ตระหนักในคุณค่าของการมีชีวิต” และใช้ชีวิตให้เต็มที่นะจ๊ะ (เพราะหนูไม่รู้หรอกลูกว่าหนูจะได้อยู่จนเลย 24 ปีรึเปล่า 555)

ต่อมาหนึ่งในเด็กที่โดนฉีดแต่โชคดีว่าไม่แจ๊กพอตไปเจอนาโนแคปซูล ก็เลยโตมาผ่านอายุพ้น 24 ไปได้ แล้วได้ทำงานราชการ ตำแหน่ง “คนส่งหนังสือแจ้งการตายล่วงหน้า” ต้องเดินไปเคาะประตูหน้าบ้านไปตามผู้มีรายชื่อคนที่ชีวิตเจอแจ๊กพอต หนังสือที่ว่านี่เรียกกันอย่างภาษาชาวบ้านว่า “อิคิงามิ” (逝紙 แปลเป็นไทยแบบบ้านๆ คือ “ใบตาย”) (ภาษาราชการเรียกว่า 死亡予告証 ชิโบโยะโคคุโช “ใบแจ้งเตือนล่วงหน้าการเสียชีวิต”) นั่นแหละครับ คนส่งหนังสือนี่ล่ะครับ พระเอกของเรื่อง

จริงๆ การ์ตูนเรื่องนี้มี “พล็อตเรื่อง” ที่สามารถทำให้เรื่องมันสนุกและโหดได้ไม่ยาก กับการเล่นแง่มุมเรื่องของการใช้ “กฎหมาย” เพื่อ “กดหัว” ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนให้อยู่ในความหวาดกลัว (ว่าตูจะมีชีวิตรอดพ้นถึงเบญจเพสไหมว้า) แถมยังมีประเด็นเรื่องของการ “สร้างค่านิยม” เพื่อให้กฎหมายอย่างว่า “กลายเป็นที่ยอมรับของสังคมคนหมู่มาก” เช่นการยกย่องว่าคนหนุ่มสาวที่แจ๊กพอตแบบนี้เนี่ย “เป็นวีรชนของชาติ” ต้องยกย่องออกสื่อ ครอบครัวของผู้วายชนม์ก็จะได้เงินตอบแทนรายปีจากรัฐ (ไม่นับแคมเปญจำพวก ใครที่ได้อิคิงามิ ท่านสามารถใช้มันเพื่อเติมน้ำมันรถฟรี ซื้อของได้ฟรี สั่งข้าวกินได้ฟรี ตามร้านที่ร่วมรายการ 555) แต่ถ้าใครแสดงความคิดเห็นคัดค้านหรือไม่เชื่อในกฎหมายดังกล่าว จะถูกประณามว่าเป็น “ผู้มีความคิดเชิงด้อยพัฒนา” (退廃思想者 ไทไฮชิโซฉะ) อาจโดนเพื่อนบ้านรังเกียจไม่มีคนคบหาด้วย หรืออาจโดนจับไป “อบรมใหม่” (再教育 ไซเคียวอิคุ คล้ายๆ “ปรับทัศนคติ”) ได้ ยิ่งตอนท้ายนี่เด็ดสุด พอประเทศเข้าภาวะสงคราม มีแคมเปญว่า ใครอาสาไปรบ หากท่านเป็นคนวัยหนุ่มสาวจะได้รับการขจัดนาโนแคปซูล หากท่านเลยวัยหนุ่มสาวท่านก็เอาสิทธิ์ดังกล่าวเอาให้ลูกหลานคนในครอบครัวใช้ได้อีกหนึ่งสิทธิ์

แต่ผู้เขียนเรื่องนี้กลับไปเล่าเรื่องโดยไปโฟกัสที่ชีวิตของคนหนุ่มสาวที่ได้รับอิคิงามิ ไปในโทนที่เป็น “ดราม่า” ไปเสียอย่างนั้น? เช่น ชีวิตของหนุ่มนักดนตรีข้างถนนที่ยอมทิ้งความเป็นตัวเองเพื่อจะได้เดบิวต์ แล้วพอมาได้ “อิคิงามิ” เขาก็ตัดสินใจ ขอร้องเพลงที่ตัวเองอยากร้องออกรายการสดทางวิทยุก่อนตาย ร้องเสร็จก็ล้มพับลงไปตายคารายการจริงๆ หรือเรื่องของผู้กำกับหนุ่มซึ่งแฟนสาวได้รับอิคิงามิ พยายามฝ่ารถติดเพื่อไปดูใจก่อนตาย แต่อนิจจาพอไปถึงเธอตายเสียแล้ว คือโทนเรื่องการเล่าเรื่องแบบนี้มันทำให้การ์ตูนเรื่องนี้แทนที่จะเป็นการ์ตูนที่มีเนื้อหาเข้มข้น เน้นการต่อสู้ การเป็นขบถกับระบบอันอยุติธรรม ดันกลายเป็นละครชีวิต (น้ำเน่า) ไปซะอย่างนั้น ต้องรอมาถึงหลายๆ ตอนก่อนถึงจะเริ่มมีเนื้อเรื่องที่มีคนที่ได้รับอิคิงามิ “ด้วยความรู้สึกที่เป็นปฏิปักษ์กับระบบ” ตั้งคำถามในใจขึ้นมาว่ากฎหมายพรรค์อย่างนี้มีไว้เพื่ออะไร ทำไมเขาต้องถูกฆ่า ด้วยความที่หนุ่มคนนี้เป็นนักพ่นศิลปะบนกำแพง (graffiti) ซึ่งโดยตัวมันเองก็ถือว่าเป็นศิลปะที่เป็นขบถต่อสังคมอยู่แล้ว พี่แกก็เลยไว้ลายก่อนตาย ไปพ่นบนกำแพงด้วยภาพศิลปะอันใครเห็นก็ต้องอึ้ง แถมลงท้ายให้ด้วยคำว่า…

F*** KOKUHAN

สะใจดีไหมครับพี่น้อง?

งานศิลปะบนกำแพงเย้ยกฎหมาย สุดแสบสันต์ จนตำรวจต้องบอกว่า “อย่าดูนะครับอย่าดู”

ส่วนการเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับตัวพระเอกของเรา ก็อย่างว่าล่ะครับพระเอกก็เป็นแค่ข้าราชการต๊อกต๋อยธรรมดา ที่ถูกกดหัวอยู่ภายใต้กรอบระเบียบประเพณีตามสไตล์สังคมญี่ปุ่น จึงทำได้แค่ตั้งข้อสงสัยแล้วก็คับแค้นใจ คับข้องใจ พูดกับใครไปก็ไม่รู้จะเชื่อใจได้จริงหรือเปล่า สุดท้ายมาโดนหัวหน้างานหลอกให้ติดกับดัก โดนจับข้อหามีความผิดเป็นกบฏทางความคิด โดนไล่ออกจากราชการแล้วก็โดนจับไปปรับทัศนคติอีก 6 เดือน สุดท้ายท้ายเรื่องพี่แกก็หนีไปกับนางเอก (รึเปล่า?) ได้แบบงงๆ เพราะโชคช่วย ที่จริงโดนปืนจ่อหัวแล้วแต่พอดีมีจรวดมิสไซล์ลงแถวนั้น เรือต่างชาติที่พี่แกไปยืนอยู่ก็เลยรีบออกเรือ เลยเผ่นหนีออกนอกประเทศไปได้แบบงงๆ แล้วเรื่องก็จบแค่นั้น สุดท้ายพระเอกในเรื่องนี้ไม่ได้มีความเป็นฮีโร่ที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้หรือแก้ไขอะไรเลย หรือแม้แต่จะแสดงความเป็นกบฏการป่วนเมืองเพื่อแสดงความขัดขืนต่อระบบ (เหมือนอย่างบทของ Justin Timberlake ในหนังเรื่อง In Time ล่าเวลาสุดนรก ที่ตอนท้ายเรื่องที่แกไปไล่ปล้นธนาคารเวลาไปเรื่อยๆ) บทของพระเอกในเรื่องนี้จึงจืดจางมาก คือแค่สงสัย กลัว โดนจับไปปรับทัศนคติ แล้วก็เผ่นหนีออกนอกประเทศ แค่นั้นเอง

นั่นแหละครับ ผมถึงบอกว่า “พล็อตเรื่องน่าตื่นตะลึง แต่การเล่าเรื่องยังไม่ค่อยถึงใจ” แต่คิดว่าการ์ตูนเรื่องนี้คงได้รับความนิยมในระดับหนึ่ง ก็เลยมี “ฉบับภาพยนตร์” ออกมาด้วย ผมยังไม่มีโอกาสได้ดูหนังเต็มเรื่อง แต่จาก “เทรลเลอร์” ดูแล้วโทนการเล่าเรื่องของหนังก็คงเน้นแนว “ละครชีวิต” เหมือนอย่างในการ์ตูนนั่นแหละครับ

ช่วงปีใหม่นี้อยู่กับบ้านก็ลองหาหนังสนุกๆ ดู หรือหาการ์ตูนสนุกๆ อ่านกันนะครับ สวัสดีครับ

ข้อมูลภาพยนตร์จาก wikipedia

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save