Parody หรือวรรณกรรมล้อ คือผลงานที่เลียนแบบสไตล์ของงาน ศิลปิน หรือประเภท (Genre) ด้วยการนำมากล่าวถึงในแบบที่เกินจริง โดยมีจุดประสงค์เพื่อความขบขันหรือความบันเทิง ซึ่งต่างจาก Satire ที่เป็นวรรณกรรมล้อเช่นกันแต่มีจุดประสงค์เพื่อการขับเคลื่อนสังคมแอบแฝง (Bulger, 2017)
สำหรับการ Parody ในวงการอนิเมะนั้น ในช่วงปี 2000 ตั้งแต่มังงะเรื่อง Gintama (2003) ถูกตีพิมพ์และออกอากาศ ผลงานมังงะและอนิเมะแนว Parody เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจมากขึ้น จนในช่วงปี 2010 เป็นต้นมาอนิเมะแนว Parody มีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและมาในหลายรูปแบบ ซึ่งในบทความนี้เราจะลองมาดูตัวอย่างอนิเมะแนว Parody ที่น่าสนใจ และมามองผ่านมุขตลกไปอีกขั้นว่า Parody ให้อะไรอีกบ้างนอกจากอารมณ์ขัน
อนิเมะที่ล้อ Genre เพราะซ้ำมากจึงแหวกแนวเสียเลย
สำหรับใครที่ติดตามอนิเมะแนวหนึ่งมานาน ไม่ว่าจะเป็นแนวการ์ตูนสาวน้อย (โชโจ) แนวซุปเปอร์ฮีโร่ หรือแนวสาวน้อยเวทมนตร์ คงมีหลายคนที่พบว่าเมื่อดูอนิเมะมากมาจนถึงจุดๆ หนึ่ง เราจะเริ่มเดาพล็อตและสูตรสำเร็จของอนิเมะแนวนี้ได้ ซึ่งอนิเมะที่ Parody สูตรสำเร็จของอนิเมะแนวต่างๆ นั้นมีทั้ง One Punch Man ที่ล้อทุกเอกลักษณ์ของอนิเมะแนวซุปเปอร์ฮีโร่ ไม่ว่าจะเป็นสูตรสำเร็จว่าฮีโร่ต้องฝึกหนักเหนือมนุษย์เพื่อให้ได้พลัง ฮีโร่ต้องมีจุดประสงค์ที่ยิ่งใหญ่ และอื่นๆ ที่เป็นเอกลักณ์ของซุปเปอร์ฮีโร่ทั้งของญี่ปุ่นและอเมริกา
นอกจากนี้ Gekkan Shoujo Nozaki-kun เป็นอีกอนิเมะที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะเป็นอนิเมะประเภทโรแมนติกคอมเมดี้ในตัวเองแล้ว ในเนื้อเรื่องยังมีการล้อฉากที่มักจะเป็นฉากโรแมนติกของการ์ตูนสาวน้อยญี่ปุ่น เช่น การเดินร่มคันเดียวกัน การเดินจูงจักรยานกลับบ้าน การนั่งกินข้าวกล่องด้วยกัน หรือแม้แต่ฉากสารภาพรักหลังเลิกเรียนก็ยังสามารถกลายเป็นเรื่องตลกที่คาดไม่ถึงได้ ถึงอย่างนั้น Gekkan Shoujo Nozaki-kun ก็ยังสามารถทำให้คนดูลุ้นเอาใจช่วยให้ตัวละครที่มีสีสันเหล่านี้ได้เสมอ
หรือถ้าพูดถึงอนิเมะที่ล้อได้อย่างถึงพริกถึงขิง หนึ่งในนั้นก็คงต้องพูดถึง Mahou Shoujo Ore ซึ่งฉีกภาพสาวน้อยเวทมนตร์ที่เราคุ้นเคยอย่างแทบไม่เหลือเค้าโครง สาวน้อยเวทมนตร์ต้องแปลงร่างได้? ใช่ แต่เรื่องนี้แปลงร่างเป็นผู้ชายนะ สาวน้อยเวทมนตร์ต้องมีตัวช่วยน่ารักๆ ? มี แต่เรื่องนี้ตัวช่วยมีหน้าเป็นลุงยากูซ่านะ และอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้คนดูตั้งคำถามว่านี่หรือสาวน้อยเวทมนตร์ แต่ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือสาวน้อยเวทมนตร์อีกเช่นกัน
อนิเมะที่ล้อ Stereotype เพราะความจริงไม่เป็นอย่างที่คิด
Stereotype หรือการเหมารวมคือทัศนคติที่สังคมทั่วไปมีต่อลักษณะของกลุ่มคนคนหนึ่งจนกลายเป็นมาตรฐาน และเป็นสิ่งที่ทุกสังคมมี ซึ่งอนิเมะเรื่องหนึ่งที่ล้อ Stereotype ได้อย่างน่าสนใจคือ Asobi Asobase อนิเมะที่ล้อ Stereotype เด็กผู้หญิงในสังคมญี่ปุ่นและสังคมอื่นที่คล้ายคลึงกัน
ตั้งแต่ชื่อเรื่อง Asobi Asobase ที่ดูเผินๆ เมื่อสำนวนคุณหนูที่เชิญชวนให้มาเล่นด้วยกัน ไปจนถึง Opening ที่ดูเหมือนเรื่องราวสวยงามของมิตรภาพเด็กหญิง แต่อย่าให้สิ่งเหล่านี้หลอกคุณได้ เพราะเนื้อเรื่องของ Asobi Asobase จะทำให้เห็นว่า “มิตรภาพของผู้หญิงก็เหมือนทิชชู่เปียกน้ำที่ขาดได้เสมอ”
อนิเมะที่ล้อสารพัด เพราะใดใดในโลกล้วนมีไว้เพื่อล้อ
พูดถึงอนิเมะที่ล้อทุกอย่างตั้งแต่อนิเมะเรื่องอื่น สังคมญี่ปุ่น จนถึงนักการเมือง Gintama ทำมาหมดแล้ว ด้วยฉากหลังที่เป็นญี่ปุ่นยุคเอโดะซึ่งถูกชาวสวรรค์ (มนุษย์ต่างดาว) ยึดและนำเทคโนโลยีที่คล้ายยุคปัจจุบันของเราเข้ามา ฉากหลังของ Gintama จึงเป็นญี่ปุ่นที่เราทั้งคุ้นเคยและรู้สึกแปลกใหม่ ทั้งยังทำให้ Gintama สามารถล้อทั้งความเป็นญี่ปุ่นคลาสสิกและญี่ปุ่นปัจจุบันได้อย่างเป็นธรรมชาติในตัวมันเอง
นอกจากมุขตลกที่ล้อทุกอย่างเท่าที่อนิเมะเรื่องหนึ่งจะล้อได้ Gintama ยังล้อตัวเองด้วยการที่ตัวละครรู้ว่านี่เป็นเพียงอนิเมะเรื่องหนึ่ง และมีมุขบ่นสต๊าฟเบื้องหลังและอาจารย์โซราจิ (กอริลลา) ผู้เขียนอยู่บ่อยครั้ง ถึงแม้จะ Gintama จะเป็นอนิเมะที่ล้อทุกอย่าง แต่ส่วนผสมของดราม่าและแอคชั่นของแก่นเรื่องหลักทำให้ Gintama เป็นอนิเมะแนวโชเน็น (เด็กผู้ชาย) อีกเรื่องที่ได้รับความนิยม
จริงๆ แล้วการ Parody ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์หรือไม่?
แม้ปัจจุบันญี่ปุ่นจะมีกฎหมายลิขสิทธิ์บังคับใช้ แต่เราก็ยังเห็นผลงานแนว Parody ที่ล้ออนิเมะเรื่องอื่นออกมาอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะในรูปแบบของมังงะและอนิเมะซึ่งสามารถสอดแทรกมุขอ้างอิงถึงสิ่งต่างๆ ได้ผ่านภาพและบทพูด อย่างไรก็ตาม กฏหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ของญี่ปุ่นมองว่าการ Parody เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากการ Parody ดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์
ตัวอย่างหนึ่งของการ Parody ที่ถูกบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์คือตอนที่ 1 ของ Osomatsu-san (2015) ซึ่งเป็นเนื้อเรื่องที่หกแฝดพูดถึงการกลับมาอีกครั้งของอนิเมะตนเองในรอบ 27 ปี และพวกเขาเองควรจะตามให้ทันเทรนด์ของอนิเมะในตอนนี้ หลังจากนั้นตัวละครต่างๆ ของเรื่องก็เริ่มเลียนแบบตัวละครจากอนิเมะชื่อดังอื่นๆ ทำให้ตอนแรกของอนิเมะเรื่องนี้ถูกแบนไปด้วยเรื่องลิขสิทธิ์แม้ว่าตอนดังกล่าวจะได้รับความนิยมจากผู้ชมอยู่มากก็ตาม
ถ้าอย่างนั้น Gintama ที่ล้ออนิเมะเรื่องอื่นอย่างเห็นได้ชัดเคยมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์บ้างหรือไม่? ข้อสังเกตของแฟนคลับคืออนิเมะส่วนใหญ่ที่ Gintama ล้อมักจะมาจากค่ายจั๊มพ์ ซึ่งเป็นค่ายเดียวกันและถือลิขสิทธิ์ในอนิเมะเรื่องอื่นๆ เหล่านั้นอยู่ ทำให้ Gintama ลดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ไปได้มากพอสมควร หรือถ้ามี อาจารย์โซราจิผู้เขียนเคยเล่าว่าเขาได้ “ส่งขนม” ไปแทนคำขอโทษอยู่ นอกจากนี้ เนื่องจาก Gintama เป็นอนิเมะที่ได้รับความนิยม การที่ Gintama นำอนิเมะเรื่องอื่นมาล้อจึงอาจมองได้ว่าเป็นการโปรโมตอนิเมะเรื่องที่โดนล้อไปด้วยในตัว ถึงอย่างนั้น ก็มีฉากล้อบางฉากของ Gintama ที่ถูกแบนไปในขั้นตอนการผลิตแผ่นดีวีดี เช่นฉากล้อการแถลงการณ์ของนักการเมืองญี่ปุ่นเป็นต้น
ดังนั้น แม้ว่าการ Parody จะดูเป็นเรื่องปกติในวงการอนิเมะญี่ปุ่น แต่ด้วยกฎหมายลิขสิทธิ์ที่ยังไม่คุ้มครองการ Parody ผู้ผลิตอนิเมะจึงยังต้องระวังเรื่องสิ่งที่จะหยิบจับขึ้นมาล้ออยู่
เมื่อคนดูหัวเราะกับสิ่งที่คุ้นเคย เมื่อนั้นการ Parody จึงประสบความสำเร็จ
เช่นเดียวกันกับมุขตลกที่เราเล่นกับเพื่อน ถ้าเพื่อนไม่หัวเราะให้กับมุขของเรา มุขนั้นก็ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ การ Parody ก็เช่นกัน การหยิบจับสิ่งหนึ่งมาล้อและทำให้เป็นเรื่องตลกได้นั้น ผู้ล้อจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ เป็นอย่างดี และคนดูหรือผู้ฟังเองก็ต้องคุ้นเคยกับสิ่งที่ถูกนำมาล้อในระดับหนึ่งจึงจะสามารถเข้าใจและรู้สึกตลกไปกับมันได้
ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกตลกที่เราเห็นไซตามะจาก One Punch Man สามารถเอาชนะตัวร้ายและฮีโร่อื่นๆ ได้อย่างหน้าตาเฉย เพราะเรารู้และคุ้นเคยดีว่าตัวละครเอกต้องฝึกและพยายามสุดความสามารถเพื่อเอาชนะศัตรู หรือการที่เราหัวเราะฉากที่ควรจะโรแมนติกใน Gekkan Shoujo Nozaki-kun ซึ่งสามารถกลายเป็นฉากคอมเมดี้ได้ในพริบตา เพราะเราคุ้นตากับสถานการณ์โรแมนติกเหล่านี้ดี หรือแม้แต่การหัวเราะบุคลิกของกินโทกิจาก Gintama เพราะเราคุ้นเคยกับตัวละครเอกที่มักจะเป็นบุคคลแบบอย่างในอุดมคตินั่นเอง หรือแม้แต่การที่เพื่อนๆ เข้าใจความหมายของรูปปกบทความนี้ ก็มาจากการที่เพื่อนๆ รู้จักหรือคุ้นเคยกับท่าพลังคลื่นเต่าของ Dragon Ball ดี
นอกจากนี้ อีกความน่าสนใจของอนิเมะแนว Parody คือการที่อนิเมะประเภทนี้ประสบความสำเร็จทั้งในกลุ่มคนญี่ปุ่นและชาวต่างชาติ ซึ่งบางประเด็นที่ถูกจับมาล้อนับว่าเป็นเนื้อหาเฉพาะตัวของญี่ปุ่น เช่นการใช้ชีวิตแบบนีท (ไม่ทำงาน ไม่เรียน ไม่ฝึก) ของหกแฝดโอโซมัตสึที่เป็นประเด็นในสังคมญี่ปุ่น หรือแม้แต่มุข Parody นิทานพื้นบ้านและวัฒนธรรมความเชื่อญี่ปุ่นของ Hoozuki no Reitetsu เป็นต้น ดังนั้น การที่ชาวต่างชาติอย่างเราเข้าใจและหัวเราะให้กับการ Parody เหล่านี้ ก็นับเป็นอีกตัวชี้วัดหนึ่งที่บอกถึงความสำเร็จในการทำให้ชาวต่างชาติคุ้นเคยกับความเป็นญี่ปุ่นต่างๆ ที่ถูกนำเสนอมา
แม้ว่าแว้บแรกสื่อประเภท Parody แบบนี้อาจจะดูเหมือนการล้อเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่นอกจากนั้นแล้ว การ Parody สามารถเป็นตัวจุดประกายให้คนสนใจสิ่งที่ถูกนำมาล้อได้ สามารถชี้ความจริงในสิ่งที่เราคุ้นเคยซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้และอดหัวเราะไม่ได้ และยังสามารถเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการเผยแพร่วัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของสิ่งๆ หนึ่งสู่สายตาชาวโลกอีกด้วย แต่เหนือสิ่งอื่นใด ความสำเร็จสูงสุดของ Parody คือเสียงหัวเราะ ถ้าเพื่อนๆ ดูอนิเมะหรือ Parody ใดๆ ก็ตามแล้วหัวเราะพลางนึกว่า “อืม ก็จริงนะ” ถือว่า Parody นั้นๆ ได้ประสบความสำเร็จแล้ว