เมื่ออนิเมะชวนคุยเรื่องการเมือง และประเด็นที่มีให้ขบคิด

ถ้าคุณคลิกเข้ามาอ่านบทความนี้ คุณคงเป็นคนหนึ่งที่ชอบดูอนิเมะที่ชวนขบคิดเรื่องประเด็นหนักๆ อย่างการเมือง ซึ่งในบริบทที่อนิเมะเริ่มทำหน้าที่เป็น Infotainment และ Edutainment ที่ให้ข้อมูลควบคู่ไปกับความบันเทิงอย่างทุกวันนี้ การที่อนิเมะจะนำเสนอประเด็นดังกล่าวจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป ทั้งนี้ ถ้าพูดถึงอนิเมะการเมืองที่ถูกจัดให้ขึ้นหิ้ง เชื่อว่าหลายคนคงมีลิสต์ในใจอยู่แล้ว และสำหรับคนที่กำลังมองหาอนิเมะแนวนี้ดู วันนี้เราจะลองมาดูตัวอย่างบางส่วนที่น่าสนใจกันค่ะ

Mobile Suit Gundam (機動戦士ガンダム): กระจกสะท้อนการเมืองและสงครามของโลกเรา

Mobile Suit Gundam อนิเมะหุ่นยนต์คลาสสิกที่มีสงครามอวกาศและหุ่นกันดั้มเป็นแกนหลักของเรื่องนี้ มีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์จริงในโลกปัจจุบันของเรา ซึ่งหนังสือ ทฤษฎีว่าด้วยอนิเมะปลายรัชสมัยเฮย์เซย์ (平成最後のアニメ論) ได้เขียนอธิบายไว้อย่างน่าสนใจ

เช่น ภาค Wing ที่สะท้อนทั้งศักยภาพและบาดแผลของญี่ปุ่นตั้งแต่การปฏิรูปเมจิและสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาค U.C. ที่เป็นเรื่องสงครามเนโอซีออนครั้งที่ 3 ที่เป็นการสะท้อนเรื่องราวตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงสงครามเย็น ภาค 00 ที่เนื้อเรื่องเกี่ยวกับเซ็นสึนะ เอฟ เซเอค่อนข้างเข้มข้นและหม่นหมองเป็นการสะท้อนเหตุการณ์เวิลด์เทรด เซ็นเตอร์และความหวาดกลัวที่ผู้คนในตอนนั้นกลัวว่าจะมีสงครามครั้งใหม่เกิดขึ้น และภาค Iron-Blooded Orphans ที่ดำเนินในไทม์ไลน์หลัง “สงครามมหาวิบัติ” ก็เป็นการสะท้อนถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในโทโฮคุ (東日本大震災)

ซึ่งจากไทม์ไลน์ของ Mobile Suit Gundam ที่ดำเนินมาตลอด 40 ปีที่ผ่านมา อาจมองได้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เติบโตไปพร้อมๆ กับเหตุการณ์ในโลกเรา และสะท้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นออกมาในขณะเดียวกัน จึงเป็นหนึ่งในอนิเมะที่เป็นกระจกสะท้อนให้เราได้กลับมาทบทวนสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ผ่านเนื้อเรื่องของสงครามอวกาศที่น่าติดตาม

Youjo Senki (幼女戦記): อย่าได้ดูถูกพลังของความรู้สึกมนุษย์

Youjo Senki หรือบันทึกสงครามของยัยเผด็จการ เล่าเรื่องของมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งที่ตายไปเกิดใหม่เป็นเด็กหญิงชื่อทาเนีย เดเกรชาฟท์ในโลกที่อยู่ในภาวะสงคราม และมีสิ่งคล้ายพระเจ้าที่เธอเรียกว่า “ตัวตน X” พยายามทำให้เธอเชื่อในพลังของพระเจ้า

ฉากหลังของเรื่องนี้อยู่ในโลกที่คล้ายกับสงครามโลกครั้งที่ 1 ของเรา และฉากการต่อสู้รวมถึงกลยุทธ์ทางการทหารเป็นตัวชูโรงให้เรื่องนี้ได้รับความสนใจ แต่อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจของเรื่องนี้คือการถกเถียงเรื่องของพลังความรู้สึกของมนุษย์ที่เป็นตัวแปรหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศ ในฉากหนึ่ง ทาเนียพูดคุยเรื่องการตัดสินใจของรัฐบาล ที่แม้จะดูสมเหตุสมผลตามหลักการทั่วไป แต่เธอชี้ว่าการตัดสินใจของรัฐบาลในครั้งนี้ไม่ได้เอาความรู้สึกของมนุษย์มาเป็นตัวแปรในการคำนึงด้วย และถ้ามองข้ามความโกรธแค้นของประเทศผู้แพ้สงครามและไม่จัดการให้เบ็ดเสร็จ ความโกรธแค้นนี้ก็อาจเป็นชนวนที่ก่อให้เกิดสงครามครั้งต่อๆ ไปได้อย่างไม่สิ้นสุด ซึ่งเธอเองในชาติก่อนเคยมองข้ามความรู้สึกของมนุษย์และต้องชดใช้มันมาแล้ว

ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะเรื่องนี้มีมหาอำนาจอยู่สองระดับ ระดับแรกคือประเทศของทาเนียที่กำลังชนะสงครามและขยายอำนาจไปเรื่อยๆ และอีกระดับหนึ่งคือตัวตน X ที่อ้างตนว่าเป็นพระเจ้าและพยายามทำให้ทาเนียเชื่อในพระเจ้า ซึ่งอำนาจทั้งสองนี้ต่างก็มีผู้ต่อต้าน ได้แก่ประเทศอื่นที่ทาเนียไปรบ และตัวทาเนียเองที่ต่อต้านตัวตน X

ทั้งนี้ การแสดงให้เห็นว่าความรู้สึกมนุษย์เป็นตัวแปรที่ผู้มีอำนาจคาดไม่ถึงเสมอจะเห็นได้ชัดในการต่อต้านของทาเนียเอง เพราะโดยทั่วไปแล้ว เมื่อเห็นว่ามีพลังที่อยู่เหนือความเข้าใจ คนทั่วไปอาจจะยอมจำนนและเชื่อฟังได้ แต่ทาเนียกลับแสดงการต่อต้าน ถึงขั้นโกรธแค้นอำนาจดังกล่าวด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นอะไรที่แม้แต่พระเจ้าอย่างตัวตน X ก็คาดไม่ถึงเช่นกัน ส่วนคำถามว่าความรู้สึกของมนุษย์จะพาเราไปได้ไกลขนาดไหนนั้น คงต้องติดตามเรื่องกันต่อไป

Aldnoah Zero (アルドノア・ゼロ): จงประสาทความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที

Aldnoah Zero เป็นเรื่องของสงครามระหว่างชาวโลกและชาวอังคารที่มีชนวนมาจากการลอบสังหารเจ้าหญิงอัสเซลัมจากดาวอังคาร แม้ว่าประเด็นการเมืองในเรื่องอาจจะไม่เด่นเท่าฉากหุ่นรบและทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ที่ช่วยให้ตัวละครเอกเอาชนะหุ่นดาวอังคารได้ แต่โดยรวมแล้วทั้งเรื่องก็เป็นการติดตามชนวนไปจนถึงจุดจบของสงคราม และเป็นการจำลองที่น่าสนใจว่าถ้ามีคนไปตั้งรกรากบนดาวอังคาร เราจะยังมองว่าชาวโลกกับชาวอังคารเป็นพวกเดียวกันอยู่หรือไม่

แต่นอกจากนี้ เรื่องนี้มีประโยคที่เป็นธีมหลักของเรื่องคือ “จงประสาทความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที (Let justice be done though the heavens fall)” ซึ่งเป็นประโยคที่ถูกหยิบยกมาใช้ทั้งในแวดวงการเมืองและกฎหมาย โดยสามารถตีความได้ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ เพราะประโยคนี้สามารถหมายความว่า “ความยุติธรรมจักต้องมีอยู่ ไม่ว่าในสถานการณ์รูปแบบใดก็ตาม” และ “การกระทำใดๆ ที่ตอบโต้ความผิดนั้นถือว่าถูกต้อง แม้จะผิดศีลธรรมก็ตามที” ได้เช่นกัน ถ้ามองโดยรวม ทั้งเรื่องนี้เป็นเรื่องของสงครามที่ชาวอังคารเริ่มขึ้นเพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับเจ้าหญิงอัสเซลัมที่เชื่อกันว่าถูกชาวโลกลอบสังหาร และตลอดเรื่องเราจะเห็นตัวละครฝั่งดาวอังคารที่ลุกขึ้นมาขับเคลื่อนการเมืองทั้งเพื่อคืนความเป็นธรรมให้ตัวเองและเพื่อดาวอังคาร

แต่ทั้งนี้ คำถามที่คงเกิดขึ้นกับหลายคนหลังจากดูจบก็คือ สงครามและความวุ่นวายทางการเมืองที่เห็นมาทั้งเรื่องนั้น ได้คืนความเป็นธรรมให้กับใครบ้างหรือเปล่า? มีตัวละครไหนที่ได้บทสรุปอย่างที่สมควรจะได้หรือไม่? หรือการสร้างความยุติธรรมโดยไม่เลือกวิธี เช่นการใช้ความรุนแรงและสงคราม เป็นคำตอบที่ผิดที่เราเลือกใช้เสมอมา?

Code Geass (コードギアス): การเมืองแบบมาเคียเวลเลียน

Code Geass อนิเมะขึ้นหิ้งตลอดกาลอีกเรื่อง เป็นเนื้อเรื่องการปฏิวัติและขึ้นสู่อำนาจของลูลูช วี บริททาเนียโดยใช้ความสามารถในการเดินหมากการเมืองและพลังของกีอัส การตีความเนื้อเรื่องของ Code Geass สามารถตีความได้อย่างหลากหลาย เช่นในแง่มุมของอำนาจเบ็ดเสร็จ การสร้างความชอบธรรมในการเมือง และอื่นๆ ในจำนวนนี้ การตีความที่น่าสนใจของเรื่องนี้คือการตีความโดยหลักการเมืองแบบมาเคียเวลเลียน (Machiavellian)

งานเขียน “The Prince” ของนักการเมืองชาวอิตาเลียน นิโคโล มาเคียเวลลี (Nicolo Machiavelli) เป็นหนังสือที่เปรียบเสมือนคู่มือของผู้ปกครอง ว่าด้วยวิธีการให้ได้มาซึ่งอำนาจและการรักษาอำนาจนั้นไว้ ซึ่งการสร้างฐานอำนาจของลูลูชนั้นล้อไปกับหลักการมาเคียเวลเลียนในหลายครั้ง เช่นการใช้กองกำลังท้องถิ่นที่มีความภักดีต่อแผ่นดินแม่ของตน ซึ่งลูลูชก่อตั้งภาคีอัศวินดำที่ประกอบด้วยคนญี่ปุ่นเพื่อเป็นกองกำลังปฏิวัติให้ญี่ปุ่นเป็นอิสระจากบริททาเนีย หรือการทำตัวให้เป็นที่หวาดกลัวมากกว่าเป็นที่รักของผู้คน โดยลูลูชก็ปฏิบัติตามข้อนี้จนจบเรื่อง

ถ้าดูรายละเอียดเพิ่มเติม หลักการเมืองแบบมาเคียเวลเลียนดูเหมือนจะเป็นหลักการปกครองที่เน้นรักษาอำนาจของผู้ปกครอง และยินดีละทิ้งศีลธรรมเมื่อจำเป็น แต่ในขณะเดียวกัน หลักการเดียวกันนี้ก็เป็นการชำแหละให้ผู้ถูกปกครองได้เห็นกลไกการรวมและรักษาอำนาจของชนชั้นปกครองเช่นกัน ซึ่ง Code Geass ก็สามารถถ่ายทอดประเด็นนี้ออกมาได้อย่างน่าติดตาม

Ginga Eiyuu Densetsu (銀河英雄伝説): ศักดินา ประชาธิปไตย และการเมืองแบบคลาสสิก

Ginga Eiyuu Densetsu หรือตำนานวีรบุรุษกาแล็กซี อีกผลงานที่กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้งหลังจากมีการรีเมคขึ้นและเป็นอนิเมะการเมืองที่ถูกจัดให้ขึ้นหิ้งสำหรับใครหลายคน แม้ว่าเรื่องนี้จะมีการรบในอวกาศให้ได้ดู แต่ตัวชูโรงหลักของเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง ที่มีให้เห็นทั้งระหว่างจักรวรรดิกาแล็กซีและเสรีพันธมิตรดาวเคราะห์ และความขัดแย้งทางการเมืองภายในแต่ละฝ่าย

ความน่าสนใจของเรื่องนี้คือ แม้ทั้งเรื่องจะเกี่ยวกับสงครามระหว่างฝ่ายจักรวรรดิฯ ที่เป็นระบอบศักดินา และฝ่ายเสรีพันธมิตรฯ ที่เป็นระบอบประชาธิปไตย แต่การเล่าเรื่องไม่ได้ชี้ให้ฝ่ายจักรวรรดิกาแล็กซีหรือเสรีพันธมิตรดาวเคราะห์เป็นตัวร้าย แต่กลับกัน ตัวละครร้ายกลับเป็นผู้มีอำนาจในฝ่ายต่างๆ เสียเอง และในขณะที่เนื้อเรื่องดำเนินไปและตัวละครเอกในแต่ละฝ่ายต่างไต่ขึ้นสู่อำนาจ ผู้ชมก็จะได้เห็นกลไกของระบอบการเมืองทั้งสองแบบ ซึ่งต่างมีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวเอง และมีการเปรียบเทียบที่น่าสนใจ รวมถึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของผู้นำทางการเมือง

ทั้งนี้ แม้ว่าเรื่องนี้จะยังนับว่าเก่าเมื่อเทียบกับบริบทการเมืองในปัจจุบัน เพราะถูกแต่งขึ้นในช่วงปี 1980 และมีบทวิเคราะห์เช่นของ ร็อบ ฮัตตัน (Rob Hutton) ที่มองว่าปัญหาหนึ่งของเรื่องนี้คือการสนับสนุนอำนาจทหารให้มีบทบาททางการเมือง ซึ่งจะเห็นได้จากบทบาทของนักการเมืองในเรื่องที่มีบทเพียงน้อยนิดและถูกฆ่าตัดบททิ้งไปในเรื่องได้อย่างง่ายดาย และเรื่องนี้ยังเป็นการสะท้อนกระแสการเมืองของญี่ปุ่นที่เริ่มเปลี่ยนผ่านมาสนับสนุนให้ญี่ปุ่นกลับมามีกองทัพของตนเองอีกครั้ง นอกจากนี้ แม้เนื้อเรื่องจะเทน้ำหนักไปที่นายพลหยาง ตัวละครเอกของฝ่ายเสรีพันธมิตรฯ ที่มีความสามารถและไม่ได้ใฝ่อำนาจ แต่คำถามที่ผู้ชมอย่างเราอาจจะสงสัยก็คือโอกาสที่เราจะมีผู้นำแบบนี้จะมีสักเท่าไหร่? และถ้ามีและเราปล่อยให้ทุกการตัดสินใจเป็นของผู้นำในอุดมคติของเรา เราจะกลายเป็นอัตตาธิปไตยโดยไม่รู้ตัวหรือเปล่า?

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่เริ่มสนใจระบอบการเมืองและอยากเห็นการเปรียบเทียบในการทำงานของอำนาจในระบอบการเมืองทั้งสองแบบ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เราจะได้เห็นตัวอย่างคลาสสิกของระบอบการเมืองทั้งสองที่สามารถเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ทางการเมืองของโลกเราในอดีตได้หลายเหตุการณ์ และอย่างที่นายพลหยางเคยกล่าวไว้ “ในขณะที่ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ดำเนินต่อไป ประวัติศาสตร์ก็จะถูกสั่งสมเรื่อยๆ ประวัติศาสตร์ไม่ได้เป็นเพียงบันทึกของอดีต แต่ยังเป็นหลักฐานว่าอารยธรรมยังเดินไปข้างหน้าจนถึงทุกวันนี้ อารยธรรมทุกวันนี้คือผลจากอดีต” ดังนั้น การได้ย้อนกลับไปดูรูปแบบการเมืองที่ผ่านมา อาจจะให้คำตอบอะไรบางอย่างกับเราก็ได้

จากตัวอย่างอนิเมะทั้ง 5 เรื่องนี้ จะเห็นได้ว่าแต่ละเรื่องต่างทำหน้าที่ทั้งสะท้อนเหตุการณ์ในโลกเรา ตั้งคำถามกับเหตุการณ์ปัจจุบันและอนาคตที่เราอาจจะเดินไป และเป็นตัวอย่างจำลองเหตุการณ์ให้เราเห็นการทำงานของการเมือง ซึ่งแน่นอนว่านอกจากเรื่องหยิบยกมาในวันนี้ ยังมีอีกหลายเรื่องที่น่าหยิบยกมาพูดคุยกัน เรื่องไหนที่คุณชอบและอยากแบ่งปันความคิด มาพูดคุยกันได้ในแฟนเพจนะคะ

สรุปเนื้อหาจาก media, The Daily Opium, Flier

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save