Karate Combat เมื่อฝรั่งพยายามปลุกกระแสนิยมใน “คาราเต้” อีกครั้งผ่านลีกกีฬาอาชีพ

อย่างที่ผู้เขียนเคยกล่าวไว้ว่า “คาราเต้” ในโลกตะวันตกนั้น ถูกนำมาเผยแพร่ (เคย) ได้รับความนิยม แล้วก็เสื่อมความนิยมไป ในขณะที่ในสิบกว่าปีมานี้ MMA กลายเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกนิยมดู (ฝั่งตะวันตกมี UFC ฝั่งตะวันออกมี ONE Championship) และอิทธิพลของ MMA ทำให้คนในโลกหันมาให้ราคากับ “มวยไทย” และ “บราซิลเลียนยูยิตสู” กันไปเสียหมด (เรื่องที่ว่าทำไมบราซิลเลียนยูยิตสูจึงติดตลาดนั้น บางคนก็ว่าเป็นผลจากการสมคบคิดวางแผนของพวกตระกูลเกรซี่ที่ใช้ UFC เป็นเครื่องมือ “อวดสรรพคุณ” วิชาของตัวเอง) แต่ ณ เวลานี้ มีความพยายามที่จะทำให้ “คาราเต้” กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง ในด้านหนึ่งคือกีฬาสมัครเล่น ที่คาราเต้จะได้เป็น “กีฬาโอลิมปิก” ครั้งแรกที่ญี่ปุ่น (ขอปีนี้ 2021 อย่ายกเลิกเลย เพี้ยง) และอีกด้าน คือลีก “คาราเต้อาชีพ” ซึ่ง ณ ตรงนี้แหละ ที่ Karate Combat จะมาสร้างความแตกต่าง!

Karate Combat คืออะไร?

Karate Combat เป็นลีกการแข่งขัน “คาราเต้อาชีพ” ก่อตั้งขึ้นในปี 2018 โดย Robert Bryan และ Michael Dipietro โดยรูปแบบหลักก็คือเป็นคาราเต้แบบฟูลคอนแทค (คือใส่ได้เต็มข้อภายใต้กฎกติกาจำกัดจุดโจมตี) แต่ใส่รูปแบบ “การนำเสนอ” เวลาเปิดตัวผู้เข้าแข่งขันในสไตล์แบบวิดีโอเกม (อารมณ์เหมือนสตรีทไฟเตอร์หรือเทคเคน) เพื่อความแปลกและแตกต่าง (ซึ่งน่าจะโดนใจคนรุ่นใหม่)

ด้วยความที่เป็นลีกคาราเต้อาชีพ ขอเพียงเป็นการออกอาวุธสไตล์คาราเต้ จะมาจากสำนักสายวิชาไหนนั้นไม่สำคัญ จึงมีผู้เข้าแข่งขันในลีกทั้งชายและหญิงกว่าร้อยคน มาจากสายวิชาสำนักต่างๆ ทั้งโชโตคัง ชิโตริว วาโดริว ไปจนถึง “อเมริกัน คาราเต้” (คือคาราเต้ที่ฝรั่งบัญญัติวิชาโดยเอาวิชาของสำนักต่างๆ ของญี่ปุ่นมามิกซ์กัน)

กติกาการแข่งเป็นการแข่งสามยก ยกละสามนาที พักยกครั้งละหนึ่งนาที มีกรรมการห้ามในสนาม สนามต่อสู้เป็นสังเวียนจัตุรัสขนาด 6.5 x 6.5 เมตร มีกำแพงเอียงลาดเป็นมุม 45 องศา ใส่นวม 4 ออนซ์ คล้ายนวม MMA (ผู้ชายใส่กระจับด้วย) เปลือยอก นุ่งแต่กางเกงคาราเต้ (ถ้าเป็นผู้หญิงใส่เสื้อยืด) คาดสายด้วย (แหม่ ยังกับเกมไฟท์ติ้ง)

ออกอาวุธอะไรได้บ้าง? แน่นอน เตะต่อยได้ เพราะมันคือคาราเต้ จะปล่อยหมัดชุดก็ได้ เตะต่ำก็ได้ (แต่ต้องเตะใส่ขาส่วนที่ต่ำกว่าเข่านะครับ พูดง่ายๆ เตะเจาะยางอัดใส่ข้อพับขาหรือโดนต้นขาอย่างมวยไทยไม่ได้นะครับ ฟาวล์) เตะสูงใส่หน้าก็ได้ (ต่อยหน้าก็ได้) หมุนตัวเตะก็ได้ แต่ห้ามฟันศอก ห้ามตีเข่า (สำหรับคนชอบดูมวยไทย มันอาจไม่สะใจ เข้าใจครับ) พอดีคนจัดเขาไม่อยากให้มันเป็นการแข่งประเภทเลือดกระฉูด (แต่ UFC ล่อกันบางทีเลือดกระเซ็นเลยนะครับ) แต่ถึงจะศอกและเข่าไม่ได้ แต่สามารถ “ทำให้คู่ต่อสู้ล้ม” ด้วยการปัดขา เกี่ยวขา หรือทุ่ม ลงพื้นแล้วยังลงไปจัดกันต่อได้ แต่ไม่ใช่การไปเล่นรัดข้อต่อดัดแขนล็อคคอนะครับ (อันนี้คาราเต้นะครับไม่ใช่มวยปล้ำหรือบีเจเจ) ลงไปจัดกันต่อในที่นี้หมายถึงลงไปต่อยคู่ต่อสู้ที่อยู่บนพื้นได้ “เป็นเวลาห้าวินาที” แล้วกรรมการห้ามค่อยจับแยก ประมาณนี้

การแข่งขันนั้นมีการจำกัดรุ่นตามน้ำหนักดังนี้

ผู้หญิง

ฟลายเวท (122 ปอนด์ / 55 กก.)
แบนตัมเวท (+121 ปอนด์ / +55 กก.)

ผู้ชาย

แบนตัมเวท (132 ปอนด์ / 60 กก.)
ไลท์เวท (148 ปอนด์ / 67 กก.)
เวลเตอร์เวท (165 ปอนด์ / 75 กก.)
มิดเดิลเวท (185 ปอนด์ / 84 กก.)
เฮฟวี่เวท (มากกว่า 205 ปอนด์ / 93 กก.)

จุดเด่นที่ผู้จัดพยายามสร้างความแตกต่างก็คือการนำเสนอสไตล์วิดีโอเกม มีข้อมูลโปรไฟล์นักสู้ มีการทำฉากกราฟิกจำลองเหมือนฉากในวิดีโอเกม ฯลฯ โดยใช้ Unreal Engine (เอนจิ้นเจ้าเดียวกับที่ใช้ทำเกม Tekken 7)

ในแง่ของกติกาการต่อสู้ Karate Combat น่าจะตอบโจทย์คนดูที่อยากเห็นคนลงไปคลุกพื้นแล้วยังต่อยใส่กันได้อีก แต่ไม่ได้อินกับการมาไล่ปล้ำล็อคจับกดคู่ต่อสู้อย่างใน UFC พูดง่ายๆ คือน่าจะถูกใจคนชอบสายเตะต่อยที่ไม่อินกับสายคว้าจับ (จำพวกมวยปล้ำหรือบีเจเจ) โดยที่ลงพื้นแล้วไปต่อยซ้ำได้ (ไม่เหมือนกีฬามวยยืนต่อยอื่นๆ ที่แบบล้มลงพื้นก็จับแยกกันเสียทีนึง อย่างมวยไทยหรือมวยสากล)

ในแง่ธุรกิจ Karate Combat ถือว่าเป็นลีกกีฬาต่อสู้ที่โตไวจนได้ทำสัญญากับช่องถ่ายทอดสดจำพวก ESPN เลยทีเดียว ส่วนเรื่องของการนำเสนอการแข่งขันในรูปแบบวิดีโอเกมนั้น ต้องยอมรับว่ากล้าและบ้ามากตามสไตล์ฝรั่ง ก็ต้องมาดูกันต่อไปว่าจะดังเทียบชั้น UFC ได้ไหมในอนาคต

…แต่สำหรับบรรดาอาจารย์ในวงการคาราเต้ตามแบบแผนประเพณีดั้งเดิม ผู้เขียนเชื่อว่าคง “ไม่ถูกใจสิ่งนี้” แน่นอน เพราะพวกเขาอาจจะมองว่าเป็นการทำให้วิชาเสื่อมทรามลง หรือเปล่า? (อารมณ์น่าจะเหมือนครูมวยไทยโบราณมองมวยไทยเวที)

แต่ในทัศนะของฝรั่งบางคนเท่าที่ได้อ่านและตัวผู้เขียนเอง เห็นว่าในเมื่อทุกวันนี้คนในโลกนี้เขาจะให้ราคา (หรือไม่ให้ราคา) วิชาศิลปะการต่อสู้ใดก็ตาม เขามองที่การแข่งขันใน “กีฬาอาชีพ” ว่ามันเป็นวิชาที่ใช้เอาชนะคู่ต่อสู้บนสังเวียนได้หรือเปล่า? (ซึ่งอย่างน้อยในระยะหลังๆ มาก็มีนักสู้ UFC หลายคนที่เป็นนักคาราเต้ เช่น Lyoto Machida หรือ Stephen Thompson และความสำเร็จชัยชนะของพวกเขาในการใช้อาวุธของคาราเต้ เช่น ฟรอนต์คิก (มะเอะเกริ) ไซด์คิก (โยโคเกริ) บนสังเวียน ก็ทำให้คนหันมา “ให้ราคา” กับคาราเต้มากขึ้น) ฉะนั้น ถ้าคิดจะทำคาราเต้ให้กลับมาเป็นที่นิยม (ให้คนหันกลับมาให้ราคากันมากๆ) ละก็ การมีลีกกีฬาอาชีพแบบ Karate Combat เป็นสิ่งที่ “ของมันต้องมี” ครับ

ใครสนใจ Karate Combat เข้าไปดูที่เว็บได้นะครับ karate.com

สรุปเนื้อหาจาก medium

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save