ทำไม “คาราเต้” ของญี่ปุ่นถึงถูก “เทควันโด” ของเกาหลีตัดหน้าได้เป็นกีฬาโอลิมปิกก่อนถึง 20 กว่าปี!

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ก่อนที่ผู้เขียนจะมาพูดถึงหัวเรื่องหลักของเราในวันนี้ ขอแทรกข่าวก่อนนะครับ

จากที่ผู้เขียนเคยพูดถึงข่าวที่ว่าทาง JFA จะจัดฟุตบอลกระชับมิตรระหว่างทีมชาติญี่ปุ่นกับทีมชาติเกาหลีใต้ ในวันที่ 25 มีนาคม ซึ่งผลการแข่งขันออกมาแล้วว่าญี่ปุ่นชนะ 3-0 ยินดีด้วยกับทีมชาติญี่ปุ่นนะครับ

พอผลออกมาแบบนี้ปั๊บ วันที่ 26 มีนาคม ทางสมาคมฟุตบอลเกาหลีใต้ถึงกับต้องออกมาแถลงการณ์ “ขอโทษ” แฟนบอลเกาหลีใต้ “ขอโทษ” ที่พ่ายแพ้ญี่ปุ่น ผู้เขียนอ่านแล้วตกใจเลยว่า เกาหลีนี่ กระสันอยากชนะญี่ปุ่นขนาดนั้นเลยหรือ? ดูเหมือนเกาหลีอยากจะแข่งดีกับญี่ปุ่นไปหมดตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจ บันเทิง ยันกีฬา แต่มีสิ่งหนึ่งที่น่าเจ็บใจสำหรับคนญี่ปุ่นจริงๆ ก็คือการที่ “วิชาหมัดมวย” ประจำชาติของญี่ปุ่น ถูกวิชาก๊อปเกาหลีตัดหน้าได้ขึ้นแท่นเป็นกีฬาโอลิมปิกไปก่อนตั้งยี่สิบปีแน่ะ!

เป็นที่น่าเสียใจจริงๆ ว่าวิกฤติโควิดทำให้โอลิมปิก 2020 ที่ญี่ปุ่นหมายมั่นจะจัดมานานมีอันต้องเลื่อนออกไป ทั้งที่ในโอลิมปิกครั้งนี้จะเป็น “ครั้งแรก” ที่ “คาราเต้” จะได้เป็นกีฬาโอลิมปิก หลังจากที่ถูก “คาราเต้เกาหลี” ขออภัย “เทควันโด” ตัดหน้าได้เป็นกีฬาโอลิมปิกไปก่อนถึงกว่าสองทศวรรษ ทำไม อะไร ยังไง วิชาการต่อสู้ “ต้นแบบ” ของญี่ปุ่น (จริงๆ มาจากโอกินาว่า) ถึงได้ถูก “ของก๊อปเกาหลี” แซงหน้าไปได้ อย่าได้สงกา อย่าเพิ่งดราม่า มาอ่านและดูกันชัดๆ ไปเลยดีกว่าครับ

ว่าด้วยเรื่อง “คาราเต้”

พูดถึง “คาราเต้” แล้ว ก็นับเป็นศาสตร์การต่อสู้จากโอกินาว่ามาแต่โบราณยุคอาณาจักรริวกิวก็จริง แต่ก็ถูกเผยแพร่ในญี่ปุ่นจนได้รับการยอมรับด้วยการเขียนตำรับตำราต่างๆ โดยอาจารย์ฟุนาโกชิ กิชิน ปรมาจารย์แห่งคาราเต้สำนักโชโตคัง (松濤館) เป็นปฐม มาแต่ยุคไทโช และยังมีแนวทางสำนักใหญ่ๆ อื่นๆ ซึ่งก็ได้แพร่หลายไปถึงต่างประเทศ เช่น สำนักโกจูริว (剛柔流) ชิโตริว (糸東流) วาโดริว (和道流) เป็นต้น ฉะนั้นก็อาจกล่าวได้ว่ามันได้กลายเป็นวิชาหมัดมวยของญี่ปุ่น จิตวิญญาณอย่างญี่ปุ่น สำหรับคนญี่ปุ่น การที่ “คาราเต้” จะได้ผงาดขึ้นมาเป็นกีฬาโอลิมปิกนั้น มันคือสัญลักษณ์ของการคืนชีพของ “จิตวิญญาณยามาโตะ” ซึ่งถูกปิดผนึกมาตั้งแต่ยุคหลังสงคราม

หลังสงคราม ประเทศผู้ชนะสงครามได้มองว่าศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่นนั้นมักมีความผูกพันกับคติบูชานักรบซึ่งนำไปสู่การก่อสงคราม พวกฝรั่งผิวขาวมองว่าคนญี่ปุ่นซึ่งเป็น “คนผิวเหลือง” ที่ร่างกายต้องอ่อนแอกว่าคนผิวขาว แต่ทำไมถึงเก่งกาจ ก็เพราะมีศิลปะการต่อสู้ติดตัวนั่นแล กองทัพอเมริกาจึงได้เอาวิชาต่อสู้ทั้งหลายของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะยูโด ไอคิโด คาราเต้ หยิบยืมเอาวิชาพวกนี้มาใช้ในการฝึกหัดทหาร

มีอยู่คราวหนึ่งกองทัพอเมริกาได้จัดให้เอาวิชายูโด ไอคิโด คาราเต้ มาประลองกับครูฝึกที่ถือมีด ปรากฏว่ามีนักคาราเต้ผู้หนึ่งต่อยหมัดตรงสวนตู้มใส่ครูฝึกเสียจนล้ม นักคาราเต้ผู้นั้นคืออาจารย์นากายามะ มาซาโทชิ ผู้เป็นศิษย์ของอาจารย์ฟุนาโกชิ กิชิน (อาจารย์นากายามะนั้นต่อมาได้เป็นหัวหน้าอาจารย์คนแรกของสมาคมคาราเต้ญี่ปุ่น แม้แต่อาจารย์โอยามะ มาสุทัตสุ ผู้ก่อตั้งสำนักเคียวคุชิน ก็เป็นศิษย์ของอาจารย์นากายามะ มาซาโทชิ) แต่นั้นมาพวกทหารอเมริกันทั้งหลายได้แก่ทหารอากาศและสารวัตรทหารก็เรียนวิชากับอาจารย์นากายามะ พอทหารพวกนี้ไปประจำที่ไหนก็เอาวิชาคาราเต้ไปเผยแพร่ เลยทำให้วิชาคาราเต้แพร่หลายออกไป

จิตวิญญาณความเป็นญี่ปุ่นในคาราเต้นั้นอยู่ที่การโจมตีอย่างเด็ดขาด “สังหารในหมัดเดียว” แรงผลักที่ผลักพื้นด้วยเท้าจะถูกส่งผ่านการหมุนของเอวไปยังกำปั้นที่ยื่นออกมา ใส่พลัง ตูม! (เหมือนกับยอดวิชาดาบซามูไรที่ “สังหารในดาบเดียว” นั่นแล) แม้กระนั้น ในความที่คาราเต้นั้นเป็น “บูโด” 武道 หรือ วิถียุทธ์ มีไว้เพื่อ “หยุด” ความรุนแรง และสิ่งสำคัญคือ การเอาการฝึกวิชาต่อสู้เป็นเครื่องฝึกหัดขัดเกลาบุคลิกภาพและจิตวิญญาณของตนเอง ฉะนั้นคาราเต้ที่แท้หาใช่แค่วิชาต่อสู้แบบเป็นเครื่องมือแห่งความรุนแรงหรือกีฬาเพื่อสันทนาการไม่ แต่เป็นเครื่องขัดเกลาจิตใจ และเป็นเครื่องสร้างคนด้วย

แล้วเหตุใด “คาราเต้” จึงถูก “เทควันโด” ตีตลาดได้?

ความจริงที่ว่า “เทควันโด” ของเกาหลีได้กลายมาเป็น “กีฬาสาธิต” ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโซลปี 1988 และได้รับการยอมรับให้เป็นกีฬาโอลิมปิกอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2000 นั้น ทำไมผู้เขียนถึงจั่วหัวว่าเป็น “คาราเต้ญี่ปุ่น” บ้างล่ะ “วิชาก๊อปเกาหลี” บ้างล่ะ และทำไมมันถึงแซงหน้าได้เป็นกีฬาโอลิมปิกก่อนญี่ปุ่นได้เป็นยี่สิบปี? เราจำเป็นต้องดูไปถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่มาและต้นกำเนิดของมัน

อย่างที่รู้กันว่าญี่ปุ่นได้ยึดตรองคาบสมุทรเกาหลีเป็นเวลา 35 ปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2453 จนถึงตอนสิ้นสุดสงครามในปี พ.ศ. 2488 เป็นที่กล่าวว่านาย ชเวฮงฮี (ตอนหลังได้เป็นนายพลของกองทัพเกาหลีใต้) ครั้งเมื่ออยู่ที่ญี่ปุ่นได้เรียนวิชาคาราเต้สำนักโชโตคังโดยมีอาจารย์ฟุนาโกชิ และอาจารย์นากายามะ (ซึ่งเป็นศิษย์ของอาจารย์ฟุนาโกชิอีกที) เป็นผู้สอน จนได้สายดำสองดั้ง และพอยุคหลังสงครามจนถึงขบวนการสร้างชาติเกาหลี ก็เกิดมีการรวมเอาวิชาต่อสู้สำนัก (กวาน 館) ต่างๆ เข้าด้วยกัน และจงใจบัญญัติ “วิชาต่อสู้ประจำชาติเกาหลี” ขึ้นมาใหม่ซึ่งได้ชื่อว่า “เทควันโด” ( 跆拳道 แปลตรงตัวคือ “วิถีแห่งเท้าและหมัด”) ในปี พ.ศ. 2498 นี่เอง

แล้ววิชาต่อสู้ที่ว่ามาจากสำนักต่างๆ น่ะ แต่ก่อนเขาเรียกว่ากระไร?

เฉลยนะครับ เรียกว่า “ทังซูโด” 唐手道 

แต่ก่อนคนญี่ปุ่นยุคก่อนสงครามเขียนคำว่า “คาราเต้” ว่า 唐手 (หมายถึงวิชา “เต้” หรือวิชาหมัดมวยอย่าง (อาณาจักร) ถัง คืออย่างเมืองจีน) นะครับ คำว่า “คาราเต้” ที่เขียนว่า 空手 นี่เพิ่งมาเขียนในสมัยหลังนี้เอง

แบบนี้ จะไม่ให้เรียกว่า “คาราเต้เกาหลี” ได้อย่างไร?

ต่อมาด้วยปัญหา “การเมือง” ในหมู่เดียวกันเอง นายพลชเวถูกขอให้ “ถอนตัว” ออกจากสมาคมเทควันโดเกาหลี แกก็เลยออกไปตั้ง “สมาพันธ์เทควันโดนานาชาติ” เรียกย่อๆ ว่า ITF ที่แคนาดาโน่น ต่อมาก็ได้สร้างสายสัมพันธ์กับผู้นำเกาหลีเหนือ จนคนเขาว่าเทควันโด ITF นี่เป็นเทควันโด “สายเกาหลีเหนือ” ไป ในขณะที่ตอนหลังเกาหลีใต้ก็ได้จัดตั้งองค์กรที่เรียกว่า “กุกกิวอน” (國技院 แปลตรงตัวคือ สภาวิชาต่อสู้แห่งชาติ) และก็สหพันธ์เทควันโดโลก WTF (ซึ่งตอนหลังต้องเปลี่ยนชื่อย่อเป็น WT เนื่องจาก WTF ดันไปพ้องกับคำว่า What the f***) ได้กลายเป็นองค์กรหลักในการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนตลอดจนถึงการให้คุณวุฒิ ผลก็คือในฝั่งโลกตะวันตกเลยมีองค์กรเทควันโดสองสาย และทั้งสองสายก็มียิมกระจายไปทั่ว ผลก็คือจำนวนคนเรียนเทควันโดพอรวมกันในระดับโลกเลยมีมาก มาก มาก มากพอที่จะผลักดันให้กลายเป็นกีฬาโอลิมปิกได้

แต่อนิจจา ในขณะที่ในยุโรปและอเมริกาเทควันโดถูกผลักดันให้เติบโต ขยายสาขา เพิ่มจำนวนคนเรียนได้อย่างเป็นระบบ คาราเต้โดยเฉพาะในอเมริกานั้นกลับขยายตัวในแบบที่ ไม่ได้มีองค์กรหรือสมาคมอะไรที่จะผลักดันอย่างเป็นระบบ ผลคือในอเมริกายุคหนึ่งความที่ยุคนนั้นพอคนเห่ออยากเรียนคาราเต้มากๆ มันก็มีคนเปิดสำนักมั่วซั่วหลอกลวง ตั้งตัวเป็นอาจารย์แบบเถื่อนๆ เปิดยิมสอนแบบเก็บสตางค์จำพวกจ่ายครบจบแน่ ที่เรียกว่า McDojo นั่นแหละครับ ผลคือสุดท้ายในฝั่งตะวันตกคนก็เสื่อมความเชื่อถือ คาราเต้ก็พลอยเสื่อมความนิยมไป และคาราเต้นั้นในเมืองนอกที่อื่นๆ ก็ต่างสำนักต่างเผยแพร่กันเอง ไม่ต้องดูอื่นไกล ชมรมคาราเต้ในไทยน่ะ บางทีก็โกจูริว บางที่ก็โชโตคัน บางที่ก็วาโดริว ในขณะที่เทควันโดเมืองไทยจะยิมที่ไหนๆ ครูที่มีคุณวุฒิสอบเลื่อนสายได้ ก็คือได้คุณวุฒิจาก WTF กันทั้งนั้น ก็ต้องยอมรับว่าการมีองค์กรที่เป็นเอกภาพมันมีผลต่อการผลักดันกีฬาให้เป็นที่แพร่หลายได้จริง

ก่อนจะจากกันวันนี้ ใครที่จะดราม่า มาม่า เรื่องผู้เขียนเอาเทควันโดไปเปรียบกับคาราเต้ ไม่ต้องอะไรมากมาย ดูการรำกาต้า 型 (ซึ่งในเทควันโดเกาหลี โดยเฉพาะสาย WTF เรียกว่า “พุมเซ่”)

อันนี้คือกาต้า “ไทเคียวคุ” (対極 ก็คือ ไทเก๊ก นั่นแหละ) โชะดัน ของคาราเต้สำนักโชโตคัน

ส่วนอันนี้คือพุมเซ่ “แทกึก อิล จัง” (แทกึก กับ ไทเคียวคุ ก็คำเดียวกัน คือหมายถึง “ไทเก๊ก” แทกึก อิลจัง แปลได้คือ ไทเก๊ก บทที่หนึ่ง) อันนี้ท่าเบสิกเลยสำหรับขึ้นสายเหลืองสองของเทควันโด

ดูแล้วก็วินิจฉัยกันเองนะครับ สวัสดีครับ

สรุปเนื้อหาจาก MAG2NEWS และ gekisaka

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save