20 อันดับสุดยอดนวัตกรรมอาหารที่เปลี่ยนวิถี “การกิน” ของคนญี่ปุ่น (ตอนที่ 1)

เราทราบกันดีว่าญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศสุดยอดแห่งเทคโนโลยีที่ประดิษฐ์คิดค้นสินค้าและนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ด้วยอุปนิสัยของคนญี่ปุ่นที่มีความละเอียด ทำให้สามารถสรรค์สร้างอะไรต่อมิอะไรออกมาให้โลกว้าวได้เสมอ คราวนี้ ANNGLE ขอพาทุกคนมาชมการจัดอันดับ 20 สุดยอดนวัตกรรมอาหารที่เปลี่ยนวิถี “การกิน” ของคนญี่ปุ่น และน่าจะเปลี่ยนโลกด้วย (บางอันดับหลายคนอาจจะมีติดบ้านอยู่ตอนนี้ก็ได้นะ) เริ่มที่อันดับ 20 เลย

อันดับ 20: ยาคูลท์ (ปี 1935)

 

View this post on Instagram

 

A post shared by Dicas Canadenses (@dicas_canadenses) on

เครื่องดื่มนมเปรี้ยวเพื่อสุขภาพที่คนไทยคุ้นเคยกันดี คิดค้นโดยดร. มิโนรุ ชิโรตะ ซึ่งได้ค้นคว้าเกี่ยวกับจุลินทรีย์กรดนมหรือแลคติกแอซิดแบคทีเรีย และพบว่าจุลินทรีย์นี้สามารถทำลายจุลินทรีย์ที่ไม่ดีในลำไส้ของมนุษย์ได้ โดยในยาคูลท์ 1 ขวดมีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากถึง 2 หมื่นล้านตัว ในช่วงแรกๆ เครื่องดื่มประเภทนี้ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะในต่างประเทศที่ยังไม่ค่อยกล้าดื่มเมื่อได้ยินว่ามี “แบคทีเรีย” จึงเป็นที่มาของสาวยาคูลท์ที่ทำหน้าที่เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรของยาคูลท์ และเป็นช่วยส่งเสริมให้ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นในสังคมด้วย

อันดับ 19: การิการิคุง (ปี 1981)

 

View this post on Instagram

 

A post shared by akko (@akogram0209) on

อิมเมจของโซดา = สีฟ้าน่าจะมีเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น เห็นได้จากเครื่องดื่มโซดาของญี่ปุ่นที่มักจะทำเป็นสีฟ้าสดใส ไอศกรีมแท่งการิการิคุงรสโซดาได้แรงบันดาลใจมาจากสีของท้องฟ้าและนำ้ทะเลเพื่อดึงดูดให้เด็กๆ ที่ออกไปเล่นนอกบ้านอยากกิน โดยสีฟ้านั้นไม่ใช่สีสังเคราะห์ แต่เป็นสีธรรมชาติจากสาหร่ายสไปรูลินา ดอกคำฝอย และดอกพุดซ้อน ตัวไอศกรีมทำแยกเป็น 2 ชั้นคือชั้นนำ้แข็งไสและชั้นไอศกรีมเพื่อให้เด็กๆ สามารถกินน้ำแข็งไสได้สบายๆ ด้วยมือเดียวนั่นเอง

อันดับ 18: โอชาสึเกะโนริ (ปี 1952)

 

View this post on Instagram

 

A post shared by わんわん (@kapakkuwanko) on

สินค้านี้ทำให้ข้าวที่เย็นๆ แข็งๆ กลับมาอร่อยได้โดยการเติมน้ำร้อนเท่านั้น สมัยที่ยังไม่มีหม้อหุงข้าว ไมโครเวฟ หรือเตาอบ การนำอาหารมาอุ่นใหม่ถือเป็นเรื่องยาก และมักจะลงเอยที่การทิ้งข้าวที่เย็นและแข็งไปอย่างน่าเสียดาย โอชะสึเกะโนริเป็นผงสำหรับโรยข้าวที่ประกอบด้วยสาหร่าย ข้าวเกรียบเล็กๆ ที่เรียกว่าอาราเระ และธัญพืชสีเขียวซึ่งประกอบด้วยมัทฉะ ผงสาหร่าย เกลือ และน้ำตาล เป็นต้น ทั้งหมดนี้ผสมรวมกันจนได้รสชาติแสนอร่อยเมื่อโรยบนข้าวและผสมกับน้ำร้อนหรือน้ำเย็น

อันดับ 17: บุกหรือคอนยัคคุ

บุกหรือคอนยัคคุเป็นอาหารที่ถูกคิดค้นขึ้นในสมัยเอโดะซึ่งสามารถรับประทานได้ตลอดปี ปกติแล้วหัวบุกนั้นเน่าเสียได้ง่ายและไม่ทนทานต่ออากาศเย็นๆ แต่เมื่อนำมาบดและผสมกับผงสาหร่ายอย่างเช่นฮิจิกิจนกลายเป็นคอนยัคคุเด้งดึ๋งจะทำให้สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานยิ่งขึ้น ทั้งแคลอรี่ต่ำ ดีต่อสุขภาพ ดีต่อลำไส้ และเป็นตัวช่วยในการไดเอทที่ดี ที่สำคัญคือนำไปทำอาหารได้หลากหลายสุดๆ ทำให้คอนยัคคุกลายเป็นวัตถุดิบที่คนญี่ปุ่นหลายคนเลือกรับประทานเป็นประจำ

อันดับ 16: กาแฟสำเร็จรูป (ปี 1899)

หลายคนอาจจะคิดว่ากาแฟสำเร็จรูปมีต้นกำเนิดมาจากประเทศฝั่งยุโรป แต่ความจริงแล้วนี่เป็นนวัตกรรมของคนญี่ปุ่นแท้ๆ เลย กาแฟสำเร็จเป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญจากความล้มเหลวของดร. ซาโตริ คาโต้ นักเคมีชาวญี่ปุ่นที่ทำงานอยู่ที่ประเทศอเมริกา โดยในตอนนั้นเขาตั้งใจที่จะคิดค้นชาเขียวในรูปแบบผงแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ทว่าเมื่อนำมาลองกับกาแฟกลับสำเร็จขึ้นมา ต่อมาหลังจากนั้นหลายปีกาแฟสำเร็จรูปจึงเริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมในญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงปีค.ศ. 1970 เป็นต้นมา

อันดับ 15: คามาโบโกะ (ราวๆ ปี 1115)

ลูกชิ้นปลาสีขาวชมพูที่เรามักจะเห็นบ่อยๆ ในชามราเมงนี้มีต้นกำเนิดมานานหลายศตวรรษแล้ว สมัยก่อนถ้าคนญี่ปุ่นจับปลาได้มากเกินไปจนกินไม่ทันก็มีแต่ต้องทิ้งไปเท่านั้น คามาโบโกะจึงถูกคิดค้นขึ้นในฐานะอาหารถนอมเพื่อเก็บปลาไม่ให้เน่าเสีย โดยทำจากเนื้อปลาผสมกับวัตถุดิบและเครื่องปรุงรสต่างๆ สำหรับคนต่างชาติอย่างเราๆ น่าจะคุ้นเคยกับปูอัดมากที่สุด ซึ่งปูอัดเองก็เป็นอาหารถนอมจากปลาคล้ายๆ กับคามาโบโกะเช่นกัน

อันดับ 14: การเพาะเห็ดไมตาเกะ (ปี 1983)

ในอดีตเห็ดไมตาเกะเป็นเห็ดที่หาได้ยากและมีมูลค่าสูง จึงมีการพยายามเพาะเห็ดจนกระทั่งประสบความสำเร็จเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้เอง เป็นการเพาะในโรงเรือนที่มีการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น แสงแดด และลมเพื่อจำลองสภาพอากาศให้เหมือนกับบนภูเขา ทำให้ปัจจุบันเห็ดไมตาเกะที่เคยมีราคากิโลกรัมละ 10,000 เยนเมื่อ 30 กว่าปีก่อนราคาลดลงมาเหลือ 100-200 เยนเท่านั้น

อันดับ 13: โชยุ (ราวๆ ปี 1254)

เครื่องปรุงที่มีติดครัวทุกบ้านอย่างโชยุแท้จริงแล้วถูกคิดค้นขึ้นจากความบังเอิญในระหว่างการผลิตโมโรมิ มิโสะ (มิโสะประเภทหนึ่งที่มีรสเค็มปานกลาง มีเนื้อหยาบ และมักผสมธัญพืชจำพวกข้าวเข้าไปด้วย) ซึ่งทำให้ได้โชยุรสชาติอร่อยเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลพลอยได้ออกมา แม้ว่าโชยุจะถูกคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่ยุคคามาคุระ แต่กว่าจะเป็นที่นิยมในหมู่คนทั่วไปก็ล่วงมาในยุคเมจิช่วงปลายศตวรรษที่ 19

อันดับ 12: อายิโนะโมะโต๊ะ (ปี 1909)

 

View this post on Instagram

 

A post shared by Wild_orchid (@wild_orchid876) on

รสอูมามิที่ครองใจคนทั่วโลก ผงชูรสที่คุ้นหูคนไทยมากที่สุดแบรนด์นี้คิดค้นขึ้นโดยศ.ดร.คิคุนาเอะ อิเคดะ จากมหาวิทยาลัยหลวงโตเกียว โดยในระหว่างที่เขากำลังรับประทานยุโดฟุ (เต้าหู้ต้มในหม้อไฟ) ฝีมือภรรยาอยู่นั้นเอง เขาได้ลิ้มรสน้ำซุปสาหร่ายคอมบุและเกิดคำถามขึ้นในใจว่านี่คือรสชาติอะไรกันแน่ รสชาติที่อร่อยล้ำนี้ไม่ใช่รสเปรี้ยว หวาน เค็ม หรือขม เขาจึงพยายามค้นหาคำตอบจนพบว่ารสนี้มาจากกรดกลูตามิกในสาหร่ายคอมบุ และได้ตั้งชื่อว่ารสชาตินี้ว่า “อูมามิ” ก่อนที่จะผลิตผงปรุงรสอายิโนะโมะโต๊ะขึ้นในเวลาต่อมา

อันดับ 11: ซาโต้โนะโกะฮัง (ปี 1988)

 

View this post on Instagram

 

A post shared by Kazuki Okamoto (@footgrapher) on

นี่คือข้าวสวยบรรจุกล่องที่เพียงแค่นำไปอุ่นในไมโครเวฟก็รับประทานได้ทันที โดยเกิดจากความต้องการเปลี่ยนความคิดของผู้คนที่ว่า “การทำอาหารต้องใช้เวลามาก” ข้าวของซาโต้โนะโกะฮังเป็นข้าวที่ผ่านการฆ่าเชื้อก่อนที่จะนำไปหุง และเมื่อหุงแล้วจะสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 10 เดือนโดยไม่เสีย โดยในบรรจุภัณฑ์ยังมีซองผงเหล็กที่ช่วยดูดซับออกซิเจนซึ่งส่งผลให้แบคทีเรียเติบโตได้ยากขึ้น จึงยิ่งช่วยยืดอายุของซาโต้โนะโกะฮังให้นานขึ้นไปอีก

ยังไม่หมดแค่นี้นะ ไปอ่านต่อตอนที่ 2 กันเลย: 20 อันดับสุดยอดนวัตกรรมอาหารที่เปลี่ยนวิถี “การกิน” ของคนญี่ปุ่น (ตอนที่ 2)

สรุปเนื้อหาจาก: syufufuu

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save