กระแสเริ่มซา…หรือจะหมดยุคของ “ชาไข่มุก” ในญี่ปุ่นแล้ว?!?

“ไข่มุก” สำหรับใส่ในเครื่องดื่ม (โดยเฉพาะชานมหรือชารสชาติต่างๆ) ที่ญี่ปุ่นเรียกว่า “ทาปิโอก้า” (タピオカ) เคยเป็นกระแสและได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่วัยรุ่นญี่ปุ่นช่วงประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งตอนนั้นเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของ “ชาไข่มุก” ในประเทศญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้

โดยกระแสของเครื่องดื่มหรือชาที่ใส่ไข่มุก เริ่มต้นมาจากสายการบินของไต้หวันที่เริ่มเสิร์ฟชาไข่มุกบนเครื่องบิน และเริ่มมีการทำการตลาดเครื่องดื่มประเภทนี้โดยมาเปิดร้านสาขาในญี่ปุ่นจนได้รับความนิยมโดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่น

ถ้าสงสัยว่าทาปิโอก้านั้นฮิตขนาดไหน ก็ขนาดที่เกิดศัพท์ใหม่คำว่า “ทาปิรุ” (タピる) ที่เป็นคำกริยาแปลว่า “ดื่มเครื่องดื่มที่ใส่ไข่มุก” และมักพบเห็นคำนี้ได้ในสื่อโซเชียลต่างๆ อย่าง Instagram หรือ Twitter


นอกจากนี้ ในปี 2019 ซึ่งถือว่าเป็นปีที่ทาปิโอก้าได้รับความนิยมสูงสุด ยังมีธีมปาร์คที่จัดในช่วงเวลาจำกัดอย่าง “Tokyo Tapioca Land” (東京タピオカランド) ที่บริเวณหน้าสถานีรถไฟฮาราจุกุ ซึ่งจะมีจุดให้เช็คอิน ถ่ายรูป ลองชิมเมนูอาหารและเครื่องดื่มที่ใส่ทาปิโอก้ามากหมายหลายเมนูอีกด้วย

เมื่อถึงจุดที่กระแส “ทาปิโอก้า” เริ่มซา

หลังจากผ่านจุดที่กระแสทาปิโอก้าได้รับความนิยมอย่างสูงในปี 2019 มีบริษัทวิจัย Tokyo Shoko Research (東京商工リサーチ) ให้ข้อมูลว่า ในปี 2020 ยอดขายของสินค้าและอาหารที่เกี่ยวข้องกับทาปิโอก้าลดลงอย่างมาก จากที่เคยเห็นลูกค้าต่อคิวยาวเหยียดหน้าร้านชาไข่มุก กลับกลายเป็นเงียบเหงาไปถนัดตา


ในตอนนั้นมีบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับทาปิโอก้าจำนวนกว่า 125 บริษัท โดยในบรรดาบริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่กว่า 20 บริษัท ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากกระแสขาลงของทาปิโอก้า อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ธุรกิจร้านอาหารต้องวางแผนปรับตัวกันถ้วนหน้า

เดิมทีกระแสของทาปิโอก้าหรือชาไข่มุกเข้ามาตีตลาดลูกค้ากลุ่มวัยรุ่น ซึ่งมักถ่ายรูปลงในสื่อโซเชียลจนกลายเป็นแฟชั่นที่เรียกว่าใครที่อยากอินเทรนด์ก็ต้องดื่มชาไข่มุก


จนกระทั่งช่วงปี 2020 เริ่มมีเครื่องดื่มที่ใส่ไข่มุกวางขายอยู่ทั่วไปตามร้านอาหารจานด่วน (fast food) และซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งสันนิษฐานว่า ด้วยเหตุนี้ทำให้คุณค่าของชาไข่มุกนั้นถูกลดทอนลง เพราะลูกค้าอาจมองว่าสินค้าตัวนี้ไม่ได้เป็นของหายากที่ต้องต่อคิวซื้ออีกต่อไป

การปรับตัวของร้านค้า

บรรดาร้านที่ขายชาหรือเครื่องดื่มทาปิโอก้าทั้งหลายเริ่มปรับตัวเพื่อตอบรับต่อความนิยมที่ลดลง โดยเริ่มเข้าสู่แพลตฟอร์มส่งอาหารถึงบ้านหรือฟู้ดเดลิเวอรี่ (food delivery) มากขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19


แต่อย่างไรก็ตาม เสียงตอบรับจาก food delivery ก็ไม่ได้ดีมากนัก เพราะกว่าชาไข่มุกจะถูกส่งไปถึงบ้านก็มักจะเจออุปสรรคเรื่องน้ำแข็งละลาย ทำให้รสชาติเปลี่ยนหรือหน้าตาไม่น่ารับประทานเหมือนซื้อจากที่ร้าน อีกทั้งลูกค้าก็ยังมีตัวเลือกอื่นๆ อีกมากมายนอกจากชาไข่มุก จึงเป็นเหตุให้ร้านค้าหรือกิจการที่ขายเครื่องดื่มใส่ไข่มุกเป็นหลักต้องอำลาวงการและล้มหายตายจากกันไปพอสมควร

บางร้านค้ามีการปรับเปลี่ยนหน้าร้านเดิมเพื่อไปขายสินค้าอื่น อย่างเช่นเครปหรือเมนูที่ได้รับความนิยมในช่วงนี้อย่าง “ไก่ทอดสไตล์ไต้หวัน” หรือ “ต้าจี๊ไผ” (ダージーパイ หรือ 大鶏排) เพราะร้านไก่ทอดไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ในร้านมากนัก อีกทั้งเป็นเมนูที่รับประทานง่าย แม้ว่าจะสั่งแบบเดลิเวอรี่รสชาติก็ไม่เปลี่ยนจากการซื้อเองที่ร้านมากนัก

แบรนด์ใหญ่ๆ ยังคงอยู่

นอกจากทาปิโอก้าแล้ว ยังมีอาหารชนิดอื่นที่เคยเป็น “เมนูแฟชั่น” และฮิตติดลมบนอย่างมาก เช่น วุ้นมะพร้าวทรงลูกเต๋า (ナタデココ) ขนมทิรามิสุ (ティラミス) ขนมคาเนเล่ (カヌレ) จนสุดท้ายก็กลายเป็นเมนูที่มีขายทั่วไปตามร้านอาหารหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตแต่ยังคงขายได้อย่างต่อเนื่อง


คาดว่าทาปิโอก้าก็คงกำลังเข้าสู่วัฏจักรเดียวกัน คือกำลังเปลี่ยนผ่านจากการเป็น “สินค้าแฟชั่น” ที่เจาะตลาดกลุ่มวัยรุ่นมาเป็นสินค้า Commodity หรือสินค้าโภคภัณฑ์ที่วางขายทั่วไปและเข้าถึงลูกค้าทุกเพศทุกวัย

แม้ว่าร้านทาปิโอก้าหลายๆ รายจะต้องเลิกกิจการหรือผันตัวไปขายอย่างอื่น แบรนด์ทาปิโอก้ารายใหญ่ๆ อย่าง Chun Shui Tang (春水堂 หรือที่สาขาในไทยใช้ชื่อแบรนด์ว่า TP TEA) และ Gong cha (ゴンチャ) กลับมีการขยายสาขามากขึ้น


อย่างแบรนด์ Gong cha ที่เดิมมีจำนวนสาขาเป็นหลักสิบ กลับเร่งขยายจำนวนร้านจนปัจจุบันมีมากกกว่า 120 สาขา และทางแบรนด์ยังตั้งเป้าว่าจะขยายไปให้ได้มากกว่า 400 สาขาในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า


ยิ่งเป็นการเน้นย้ำว่ากลยุทธ์การทำให้กิจการเครื่องดื่มทาปิโอก้าอยู่รอดได้นั้น ต้องเน้นการเปลี่ยนภาพลักษณ์จากสินค้าแฟชั่นเฉพาะกลุ่ม มาเป็นเครื่องดื่มที่ใครๆ ก็สามารถหารับประทานได้ และร้านค้าก็ต้องกระจายทั้งในเขตชานเมืองหรือห้างสรรพสินค้าที่เข้าถึงชุมชน

อนาคตของทาปิโอก้าในญี่ปุ่นจะเป็นอย่างไรนั้น เราคงต้องติดตามกันต่อไป แต่ที่แน่ๆ คือ “ชาไข่มุก” ยังเป็นเมนูโปรดของผู้เขียนและคาดว่าน่าจะเป็นที่ชื่นชอบของผู้อ่านหลายๆ ท่านอยู่…ใช่ไหมคะ?

สรุปเนื้อหาจาก: itmedia

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save