ช่วงฤดูร้อนของญี่ปุ่นแม้ไม่ร้อนเท่าเมืองไทยแต่ความชื้นสัมพัทธ์นั้นสร้างความเหนื่อยล้าให้กับคนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อย น้ำบ๊วยเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่ช่วยบรรเทาอาการเหนื่อยล้าจากความร้อนได้ดี มารู้ถึงสรรพคุณของน้ำเชื่อมบ๊วยและวิธีการทำง่าย ๆ กันนะคะ
สรรพคุณของน้ำเชื่อมบ๊วย
หากพูดถึงน้ำบ๊วยแล้วคงไม่มีใครปฏิเสธที่จะดื่ม ด้วยรสชาติเปรี้ยวอมหวานและหอมชื่นใจ ทำให้น้ำบ๊วยเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่คนญี่ปุ่นชื่นชอบ น้ำเชื่อมบ๊วยอุดมไปด้วยกรดซิตริกซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายมากมายดังนี้คือ
- ช่วยป้องกันความเหนื่อยล้าจากความร้อน
- ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ
- ช่วยขจัดพิษที่อยู่ในร่างกาย
- รักษาโรคบิด
- รักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนและอาหารเป็นพิษ
- ช่วยกระตุ้นการสร้างกรดในกระเพาะอาหารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพที่ดีในการย่อยอาหาร
- ช่วยควบคุมการทำงานของระบบลำไส้
- ช่วยให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลายในระหว่างช่วงฤดูร้อน
วิธีการทำน้ำเชื่อมบ๊วยง่าย ๆ
เข้าสู่ช่วงเริ่มต้นฤดูร้อนประมาณเดือนมิถุนายน หากเดินไปตามซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านขายผักก็มักจะเห็นบ๊วยเขียววางขายพร้อมวัตถุดิบที่นำมาแปรรูปบ๊วย เช่น น้ำตาลกรวดขาวเพื่อทำน้ำเชื่อมบ๊วย โชชุหรือเหล้าญี่ปุ่นเพื่อใช้ทำเหล้าบ๊วยและใบชิโสะแดงสำหรับคนที่อยากทำบ๊วยดอง สำหรับผู้เขียนแล้วทุกปีมักจะทำน้ำเชื่อมบ๊วย วิธีการทำน้ำเชื่อมบ๊วยง่าย ๆ มีดังนี้คือ
วัตถุดิบ
- ขวดสะอาดที่ผ่านการฆ่าเชื้อโดยการต้มหรือฉีดพ่นโดยโชชุ
- บ๊วยเขียว 1 กิโลกรัม
- น้ำตาลกรวด 1 กิโลกรัม
วิธีการทำ
1. นำบ๊วยเขียวมาล้างและเช็ดให้แห้ง แล้วใช้ไม้จิ้มฟันหรือไม่เสียบลูกชิ้นเขี่ยเอาขั้วผลออก หากไม่เอาขั้วผลออกจะทำให้มีการเจริญของราได้
2. นำบ๊วยที่ล้างและเช็ดจนแห้งใส่ถุงซิปล็อคและแช่แข็งไว้อย่างน้อยหนึ่งคืน การแช่แข็งจะช่วยลดระยะเวลาการทำน้ำบ๊วยได้สั้นกว่าการใช้บ๊วยดิบที่ไม่แช่แข็ง
3. นำบ๊วยมาเรียงสลับชั้นกับน้ำตาล
4. นำขวดบ๊วยไปวางไว้ในที่เย็นและคอยเขย่าทุกวัน ความเข้มข้นที่สูงกว่าของสารละลายน้ำตาลจะดึงเอาของเหลวจากผลบ๊วยออกมา ซึ่งใช้เวลาประมาณ 10-14 วันก็จะได้น้ำบ๊วยเข้มข้น ทั้งนี้หากไม่มีน้ำตาลกรวดก็สามารถใช้น้ำตาลทรายแทนได้ โดยเวลาที่ใช้ทำน้ำเชื่อมบ๊วยจะสั้นกว่าอยู่ที่ประมาณ 7-10 วัน แต่กลิ่นหอมจากบ๊วยจะน้อยกว่าการใช้น้ำตาลกรวด
5. แยกน้ำเชื่อมออกจากบ๊วยและนำมาตั้งไฟอ่อนพอเดือด ทิ้งไว้จนเย็นแล้วจึงเทใส่ภาชนะเก็บใส่ตู้เย็น
สำหรับวิธีนำมาดื่มทำได้โดยนำน้ำเชื่อมบ๊วยมาเจือจางกับน้ำหรือโซดาในอัตราส่วน น้ำเชื่อมบ๊วย 1 ส่วน ต่อน้ำเปล่าหรือโซดา 5 ส่วน
เสน่ห์ของน้ำเชื่อมบ๊วยนั้นมาจากกลิ่นหอมของบ๊วยและรสชาติหวานอมเปรี้ยว ที่เมื่อดื่มแล้วมักจะรู้สึกสดชื่นมาก ๆ น้ำเชื่อมบ๊วยที่ทำด้วยมือจะมีความหอมอร่อยมากกว่าน้ำเชื่อมบ๊วยที่วางขายเป็นผลิตภัณฑ์หลายเท่าเลย เพื่อนของผู้เขียนบอกว่าการทำน้ำเชื่อมบ๊วยแต่ละครั้งจะได้น้ำเชื่อมที่มีรสชาติไม่เหมือนกัน แต่นั่นคือความสนุกและเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ติดใจทำน้ำเชื่อมบ๊วยเองทุกปี สำหรับความสนุกและความสุขในการทำน้ำเชื่อมบ๊วยของผู้เขียนนั้นมาจากการที่ลูกชายเฝ้าถามทุกวันว่าเมื่อไหร่จะได้ดื่มน้ำเชื่อมบ๊วย และการได้เห็นลูกดื่มน้ำบ๊วยอย่างอร่อยทุกครั้งไป วิธีการทำน้ำเชื่อมบ๊วยอาจจะนำไปปรับใช้กับการทำน้ำเชื่อมจากผลมะม่วงหาวมะนาวโห่ได้ ลองทำดูนะคะ