เข้าหน้าร้อนแล้ว มาดองเหล้าบ๊วยแบบชาวญี่ปุ่นกันเถอะ

เมื่อเริ่มเข้าสู่เดือนมีนาคม-เมษายนของทุกปี ไม่ว่าจะเดือนไปที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตไหนในญี่ปุ่นก็มักจะเจอลูกบ๊วยวางขายอยู่เสมอ แต่สำหรับผู้เขียนนั้นอยู่ที่ฮอกไกโด ฤดูร้อนมาถึงช้า ลูกบ๊วยเพิ่งจะมีวางจำหน่ายตอนมิถุนายนนี้เองค่ะ

ชาวญี่ปุ่นมีวิธีแปรรูปลูกบ๊วยให้สามารถเก็บไว้ทานได้นานๆ ตลอดทั้งปีหลากหลายวิธี ไม่จะเป็นการดองบ๊วยเค็มไว้ใส่ในข้าวปั้น หรือแม้แต่การนำบ๊วยมาดองเหล้าค่ะ ซึ่งเหล้าที่ดองมาจากลูกบ๊วยเหล่านี้ เรามักรู้จักกันในชื่อ “อุเมะชู” นั่นเอง อุเมะชูเป็นเหล้าญี่ปุ่นที่ดื่มง่าย เพราะมีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน เป็นที่นิยมสำหรับหญิงสาว แต่ดีกรีความแรงของแอลกอฮอล์ก็สูงใช่เล่นเลยนะคะ

พูดถึงเหล้าที่สามารถทำเองได้ชนิดนี้ หลายๆ ท่านอาจจะเข้าใจว่าเป็นเหล้าแบบใหม่ แต่จริงๆ แล้วเหล้าบ๊วยนั้นมีประวัติศาสตร์ที่อยู่คู่กับวงการอาหารญี่ปุ่นมากว่า 300 ปีค่ะ เพราะเป็นเหล้าที่มีบันทึกไว้ในตำราอาหารเก่าแก่ของญี่ปุ่นอย่าง “ฮอนโจโชกกัง” ที่เขียนขึ้นมาตั้งแต่ยุคเอโดะโน่น

รู้ประวัติความเป็นมากันคร่าวๆ แล้วเรามาเริ่มดองกันเลยค่ะ

วันนี้เราใช้เหล้าขาว 35 ดีกรี 1.8 ลิตร ต่อลูกบ๊วย 1 กิโลกรัม ต่อน้ำตาลกรวด 800 กรัมค่ะ ใครไม่ชอบหวานก็สามารถลดน้ำตาลได้นะคะ
ล้างขวดโหลที่จะใช้ดองให้สะอาดด้วยน้ำเปล่า แล้วล้างซ้ำด้วยเหล้าขาวที่จะใช้ดองอีกครั้งหนึ่ง
เด็ดขั้วสีดำๆ แบบนี้ทิ้งไป
ล้างลูกบ๊วยให้สะอาด ลูกบ๊วยที่แตกหรือมีส่วนที่เน่าให้คัดทิ้งไป
ค่อยๆ เรียงลูกบ๊วยที่คัดแล้วลงในโหล สลับกับน้ำตาลกรวด
เรียงลูกบ๊วยกับน้ำตาลกรวดสลับกันเป็นชั้นแบบนี้จนกว่าจะหมด
เทเหล้าขาวที่เหลือลงไปในโหลให้หมด
เสร็จแล้วปิดด้วยฝาแบบสุญญากาศให้เรียบร้อย

เหล้าบ๊วยปกติจะใช้เวลาดองกันขั้นต่ำที่ 3 เดือน แต่รสชาติจะดีที่สุดเมื่อดองครบ 1-3 ปี ซึ่งก็คือตอนที่ดอกบ๊วยเริ่มบานในปีหน้านั่นเอง กิจกรรมการดองเหล้าบ๊วยจึงถือเป็นกิจกรรมที่สานสัมพันธ์ในครอบครัวชาวญี่ปุ่นค่ะ ในหน้าร้อนก็ช่วยกันดอง พอตอนหน้าหนาวก็ช่วยกันดื่มนั่นเอง

ผู้เขียน: A Housewife Wannabe

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save