ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศมหาอำนาจแห่งการเกษตร จึงไม่แปลกใจเลยที่สินค้าทางการเกษตรญี่ปุ่นจะกลายเป็นที่ยอมรับและถูกส่งออกไปยังแต่ละประเทศทั่วโลก โดยในปี 2019 รัฐบาลญี่ปุ่นเคยตั้งเป้าหมายการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรไว้เป็นจำนวนเงินมากถึง 1 ล้านล้านเยนเลยทีเดียว แม้ประเทศญี่ปุ่นจะกระตือรือร้นในการส่งออกสินค้าทางการเกษตรที่มีคุณภาพและมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์สู่ต่างชาติ แต่เพื่อน ๆ ทราบกันหรือไม่ว่า “ผัก” บางชนิด ก็ปลูกได้แค่ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น! อีกทั้งยังมีผักที่หลายชนิดที่นิยมรับประทานกันเฉพาะชาวญี่ปุ่นด้วย
รากไม้สมุนไพร “โกโบ” ที่ปลูกและรับประทานเฉพาะในญี่ปุ่น
ผักชนิดแรกที่ปลูกและรับประทานกันเฉพาะในญี่ปุ่นที่อยากแนะนำให้รู้จักกันก่อนเลยก็คือ “โกโบ” (ゴボウ) ผักมหัศจรรย์ที่มักอยู่ในเมนูเครื่องเคียงทุกมื้ออาหารของชาวญี่ปุ่น
“โกโบ” เป็นผักที่ญี่ปุ่นได้รับมาจากประเทศจีน เป็นพืชสมุนไพรที่มีต้นกำเนิดในแถบเอเชียกลาง ในยุคแรกหลังโกโบถูกนำเข้ามาในญี่ปุ่น ก็มีการปรับปรุงสายพันธุ์มาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นที่รู้จักในฐานะ “ยารักษาโรค” ไม่ได้เป็นวัตถุดิบประกอบอาหารเช่นในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับโกโบในช่วงยุคสงครามอีกด้วยว่า ญี่ปุ่นได้ใช้โกโบในการประกอบอาหารให้เชลยชาวอเมริกาและชาวยุโรปรับประทาน แต่เหล่าเชลยเข้าใจเกี่ยวกับรากไม้สมุนไพรนี้ผิด จึงมีการกล่าวโทษญี่ปุ่นในการพิจารณาระหว่างประเทศหลังสงครามว่า “ถูกชาวญี่ปุ่นลงโทษทารุณกรรมให้รับประทานรากไม้”
ถึงแม้โกโบจะดูเหมือนเป็นรากไม้ธรรมดา ๆ จนอาจทำให้ชาวต่างชาติเข้าใจผิด แต่โกโบก็เป็นพืชที่อุดมประโยชน์ มีคุณค่าทางอาหารสูง และเต็มไปด้วยคุณสมบัติทางยา แม้ในปัจจุบันจะเริ่มมีหลายประเทศที่หันมาเพาะปลูกโกโบกันมากขึ้น แต่ก็มีเพียงประเทศญี่ปุ่นเท่านั้นที่ยังคงใช้โกโบเป็นวัตถุดิบประกอบอาหารหลักในชีวิตประจำวัน
ผักที่รับประทานกันเฉพาะชาวญี่ปุ่น
เห็ดมัตสึทาเกะ
หลายคนคงเคยได้ยินชื่อของราชาเห็ด “มัตสึทาเกะ” กันมาบ้าง และคงจะทราบกันดีว่า เห็ดมัตสึทาเกะที่ปลูกในประเทศญี่ปุ่นเป็นวัตถุดิบชั้นสูงที่มีราคาค่อนข้างแพงเลยทีเดียว
เห็ดมัตสึทาเกะเป็นพืชประจำฤดูใบไม้ร่วงของญี่ปุ่น ซึ่งหารับประทานได้เพียงปีละครั้ง เป็นเห็ดที่นิยมทานกันเฉพาะชาวญี่ปุ่นเพราะกลิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของมัน เคยมีชาวต่างชาติเปรียบเทียบกลิ่นของเห็ดมัตสึทาเกะว่าเหมือน “กลิ่นเหม็นของถุงเท้า” แต่อย่างไรก็ตาม มัตสึทาเกะก็เป็นราชาเห็ดที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้
คอนเนียคุ (บุก)
อาจไม่ใช้ผักเลยซะทีเดียว แต่ “คอนเนียคุ” ก็เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากพืชที่รับประทานกันเฉพาะชาวญี่ปุ่น มีชาวญี่ปุ่นหลายคนที่ไม่ชอบกลิ่นเหม็นคาวอ่อน ๆ ของคอนเนียคุอยู่บ้าง แต่ด้วยคุณประโยชน์ที่มีมากมาย ทำให้คอนเนียคุเป็นที่จับตามองในฐานะเมนูอาหารสุขภาพและนิยมรับประทานผลิตภัณฑ์คอนเนียคุแปรรูป เช่น เส้นคอนเนียคุ บุกรูปเมล็ดข้าวจากคอนเนียคุ ฯลฯ เพราะคอนเนียคุมีแคลอรี่น้อย ไขมันต่ำ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่รักสุขภาพและต้องการลดน้ำหนัก
เมียวงะ (ขิงญี่ปุ่น)
เมียวงะ เป็นที่รู้จักในญี่ปุ่นในฐานะยาสมุนไพรตัวแทนฤดูร้อน มีกลิ่นหอมสดชื่นและยังช่วยป้องกันอาการอ่อนเพลียจากสภาพอากาศร้อยได้อีกด้วย น้ำมันหอมระเหยจากเมียวงะมีส่วนช่วยเพิ่มความอยากอาหาร ช่วยในการขับเหงื่อ ช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหาร ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตและระบบหายใจได้เป็นอย่างดี
วาราบิ
วาราบิ เป็นพันธุ์ผักภูเขาตัวแทนของฤดูใบไม้ผลิในญี่ปุ่น ซึ่งมีการยอมรับในบางประเทศว่า “วาราบิเป็นพืชมีพิษ” หลังมีกรณีที่ผู้ป่วยเคยแท้งบุตรมาแล้ว ด้วยเหตุนี้ ก่อนรับประทานวาราบิจึงจำเป็นจะต้อง “ถอนพิษ” ออกเสียก่อน โดยต้องแช่น้ำเพื่อล้างความฝาดและความขมออก และต้องล้างในระยะเวลารวดเร็วเพื่อให้ยังคงรักษาคุณค่าทางอาหารของวาราบิเอาไว้
แม้วาราบิจะมีพิษ แต่ก็ยังอุดมไปด้วยวิตามินอีสูง ชาวญี่ปุ่นมักนำมาลวกรับประทานเป็นสลัดผักหรือนำไปหุงรวมกับข้าวสวย อีกทั้งยังนำไปทอดเป็นเทมปุระและนำไปบดผสมในเส้นพาสต้าอีกด้วย
ต้นหอมอาซาสึกิ / ต้นหอมญี่ปุ่นเนงิ (ส่วนที่เป็นสีเขียว)
มาถึงผัก 2 ชนิดสุดท้ายที่เราจะมาแนะนำกันในครั้งนี้ ซึ่งเพื่อน ๆ น่าจะเคยได้ยินชื่อของ “เนงิ” หรือต้นหอมญี่ปุ่นกันมาบ้างแล้ว โดยปกติเราจะรับประทานต้นหอมญี่ปุ่นกันเฉพาะส่วนที่เป็นสีขาว ซึ่งนำมาประกอบอาหารได้ง่ายเพราะเป็นส่วนที่มีความอ่อนและมีรสหวานมากที่สุด
แต่นอกจากส่วนสีขาวของต้นหอมญี่ปุ่นแล้ว ชาวญี่ปุ่นก็นิยมรับประทานส่วนที่เป็นสีเขียวด้วยเช่นกัน แม้ต้นหอมญี่ปุ่นส่วนสีเขียวจะมีความแข็ง มีกลิ่นแรง และมีรสเผ็ด แต่หากนำมาประกอบอาหารอย่างถูกหลักแล้วล่ะก็ ต้นหอมญี่ปุ่นส่วนสีเขียวจะให้รสชาติความอร่อยไม่แพ้ส่วนสีขาวเลย
ส่วนต้นหอมอาซาสึกิ เป็นพันธุ์พืชป่าที่เติบโตระหว่างช่วงฤดูหนาวไปจนถึงฤดูใบไม้ผลิ มีจุดเด่นตรงรสชาติอันเผ็ดร้อนกว่าต้นหอมทั่วไป มีส่วนช่วยในการบำรุงร่างกาย ช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหาร ช่วยกระตุ้นความอยากอาหารหากรับประทานแบบสด แต่สำหรับผู้ที่ต้องการวิตามินเอ แนะนำให้นำไปประกอบอาหารด้วยการผัดน้ำมันเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด
View this post on Instagram
View this post on Instagram
เป็นอย่างไรบ้างกับผัก 7 ชนิดที่ปลูกและรับประทานเฉพาะในญี่ปุ่นที่เรานำมาฝากกันในครั้งนี้ จะเห็นได้ว่า มีหลายผักหลายชนิดเริ่มมีการเพาะปลูกและรับประทานกันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศมากขึ้น และไม่แน่ว่าในอนาคต ผักเหล่านี้อาจไม่ใช่ผักที่ทานกันเฉพาะชาวญี่ปุ่น แต่กลายเป็นวัตถุดิบประกอบอาหารในชีวิตประจำวันของอีกหลาย ๆ ประเทศก็ได้
สรุปเนื้อหาจาก : kaku-ichi