ความหมายที่แท้จริงของสุภาษิตญี่ปุ่น “อย่าให้ลูกสะใภ้ทานมะเขือฤดูใบไม้ร่วง”

“มะเขือม่วง” เป็นผักประจำฤดูร้อนในประเทศญี่ปุ่น เกษตรกรจะเริ่มนำมะเขือม่วงมาวางจำหน่ายกันตั้งแต่เดือนพฤษภาคมยาวไปจนถึงเดือนตุลาคมเลยทีเดียว เพราะแต่ละท้องถิ่นในญี่ปุ่นมีมะเขืออยู่หลายสายพันธุ์ ทำให้มีระยะการเจริญเติบโตที่แตกต่างแต่ไล่เลี่ยกัน เราจึงได้เห็นมะเขือม่วงวางจำหน่ายบนท้องตลาดตั้งแต่ต้นฤดูร้อนยาวไปถึงช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วงเช่นนี้

โดยช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมในประเทศญี่ปุ่นจะเริ่มมีอากาศเย็นสบาย อากาศช่วงกลางวันกับช่วงกลางคืนจะแตกต่างกันมากจนร่างกายสัมผัสได้ ซึ่งมะเขือม่วงในฤดูกาลนี้ ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า “อากิ นัสสึ” หรือ มะเขือฤดูใบไม้ร่วง และด้วยคาบเกี่ยวระหว่างฤดูกาล จึงทำให้มะเขือในฤดูร้อนกับฤดูใบไม้ร่วงมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยมะเขือฤดูใบไม้ร่วงจะมีเนื้อนุ่ม มีความชุ่มฉ่ำ และอร่อยกว่ามะเขือม่วงในฤดูร้อน

สุภาษิตญี่ปุ่น “อย่าให้ลูกสะใภ้ทานมะเขือฤดูใบไม้ร่วง”

ในญี่ปุ่นมีสุภาษิตที่เกี่ยวกับมะเขือฤดูใบไม้ร่วงอยู่ก็คือ “อากิ นัสสึ โยเมะ นิ คุวาสุนะ” (秋ナス嫁に食わすな) แปลว่า “อย่าให้ลูกสะใภ้ทานมะเขือฤดูใบไม้ร่วง” เป็นคำพูดเปรียบเทียบกันระหว่างแม่สามีกับลูกสะใภ้ที่มักไม่ลงรอยกัน ความหมายของสุภาษิตนี้ก็สามารถแปลได้ตรงตัวเลย คือ อย่าให้สะใภ้ทานมะเขือฤดูใบไม้ร่วง เพราะมะเขือในฤดูใบไม้ร่วงมีรสชาติอร่อยเป็นพิเศษ จะให้ลูกสะใภ้ทานก็น่าเสียดาย ไม่คุ้มค่า ไม่คู่ควร

แม้จะมีความหมายในเชิง “แม่สามีกลั่นแกล้งลูกสะใภ้” ก็ตาม แต่ยังมีอีกหนึ่งทฤษฎีที่เขียนอธิบายความหมายที่แท้จริงของคำสุภาษิตนี้เอาไว้ว่า มะเขือม่วงเป็นผักฤทธิ์เย็น เมื่อทานในช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่มีอากาศเย็นแล้ว จะยิ่งทำให้ร่างกายหนาวเย็น ขาดสมดุล และอาจป่วยได้ “ถึงแม้มันจะอร่อย แต่อย่าให้ลูกสะใภ้ทานมะเขือฤดูใบไม้ร่วงเลยจะดีกว่า” ทำให้สุภาษิตมีอีกความหมายที่แตกต่างกันสุดขั้วระหว่างแม่สามีที่แสดงความห่วงใยต่อลูกสะใภ้นั่นเอง ใครที่จะนำสุภาษิตนี้ไปใช้อาจต้องระมัดระวังไม่ให้อีกฝ่ายเข้าใจความหมายผิดด้วยล่ะ!

ทานมะเขือฤดูใบไม้ร่วงอย่างไรให้อร่อย

เมนู “มะเขือม่วงย่าง”

แม้มะเขือม่วงในฤดูใบไม้ร่วงจะมีเปลือกที่นุ่ม มีเนื้อรสชาติอร่อย และมีส่วนประกอบของน้ำมากกว่ามะเขือฤดูร้อนก็ตาม แต่มะเขือทั้งสองฤดูมีโภชนาการและคุณค่าทางอาหารเทียบเท่ากัน จึงสามารถนำไปประกอบอาหารทำเมนูต้ม ย่าง หรือนำไปทอดกรอบก็อร่อยไม่แพ้กัน แต่ต้องระวังการทานมะเขือม่วงทอดกรอบไม่ให้มากเกินไป เพราะมะเขือจะดูดซึมน้ำมันเข้าไปที่เนื้อผักเยอะนั่นเอง

ใครที่กลัวว่าผักฤทธิ์เย็นอย่างมะเขือม่วงจะทำให้ร่างกายเย็นจนขาดสมดุล แนะนำให้ทำเมนู “ราตาตูย” เป็นสตูผัก อาหารพื้นเมืองของประเทศฝรั่งเศสตอนใต้ โดยการนำเนื้อสัตว์, ซุกีนี่, ปาปริก้า, หอมใหญ่ และมะเขือม่วงผัดกับซอสมะเขือเทศเข้มข้น ทานร้อน ๆ เพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย

เมนู “ราตาตูย”
เมนู “เทมปุระมะเขือม่วง”

ส่วนใครที่อยากกำลังมองหาผักอร่อย ๆ สำหรับช่วงไดเอท มะเขือม่วงตอบโจทย์นี้แน่นอน! โดยมะเขือม่วง 100 กรัมจะให้พลังงานเพียง 22 กิโลแคลอรี่เท่านั้นเอง! นอกจากนี้ ในมะเขือม่วง 100 กรัม ยังให้ธาตุโพแทสเซียม 220 มิลลิกรัม และให้มีเส้นใยอาหารถึง 2.2 กรัมอีกด้วย นอกจากจะให้พลังงานน้อยแล้ว มะเขือม่วงยังมีส่วนประกอบของน้ำมากกว่า 90% จึงเหมาะที่จะนำมาทำเป็นเมนูไอเดท และยังมีส่วนช่วยให้ร่างกายเย็นจากสภาพอากาศร้อนอย่างในประเทศไทยได้อีกด้วยนะ!

สรุปเนื้อหาจาก : allabout

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save