วันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ญี่ปุ่นก็ได้มีเทศกาลฮินะมัตสึริหรือเทศกาลเด็กผู้หญิง ซึ่งจะมีการประดับตุ๊กตาฮินะเพื่ออวยพรแก่เด็กผู้หญิงและทานอาหารเฉลิมฉลองกัน อาหารที่ทานกันในเทศกาลนี้ก็มีหลากหลาย อย่างเช่น ขนมฮินะอาราเร่ ข้าวจิราชิซูชิ ซุปใสใส่หอยตลับก็เป็นอีกเมนูสำคัญที่ขาดไม่ได้เช่นกัน แล้วทำไมหอยตลับถึงสำคัญต่อเทศกาลนี้ ? มาดูคำอธิบายที่น่าสนใจจาก Kitano Tomoko จากสถาบันวิจัยวัฒนธรรมอาหารกันค่ะ
หอยตลับถือเป็นลางดี
การที่หอยตลับกลายมาเป็นอาหารประจำเทศกาลฮินะมัตสึรินั้นว่ากันว่ามีต้นกำเนิดมาจากการละเล่น “Kai-awase” (貝合わせ) ที่เริ่มขึ้นในหมู่ชนชั้นสูงในสมัยเฮอัน โดยจะวาดภาพธรรมชาติหรือภาพคนลงในเปลือกหอยด้านใน แล้วพลิกคว่ำไว้ จากนั้นจึงเล่นโดยการจับคู่เปลือกหอยที่เป็นภาพเดียวกัน คล้ายกับเกมจับคู่ในปัจจุบัน การละเล่นนี้ปรากฏในนิยายเรื่อง Genji Monogatari อีกด้วย
เปลือกหอย 2 ชิ้น หากเป็นคู่ของมัน ก็จะสามารถเข้ากันได้พอดี แต่หากไม่ใช่ก็ไม่สามารถประกบคู่กันได้ ด้วยแนวคิดนี้ หอยตลับจึงถือเป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคีในชีวิตคู่และความซื่อสัตย์ต่อคู่ครอง ทำให้มักมีอาหารชนิดนี้ในเทศกาลฮินะมัตสึริและงานแต่งงาน และด้วยแนวคิดนี้ยังกล่าวกันว่าในช่วงปีเคียวโฮ (ค.ศ. 1716 – 1736) ในสมัยเอโดะ โชกุนคนที่แปด โทคุงาวะ โยชิมุเนะ จึงได้ริเริ่มให้มีซุปที่ใส่หอยตลับในอาหารสำหรับงานแต่งงาน
ในอีกด้านหนึ่ง มีธรรมเนียมที่เรียกว่า “Iso-asobi” (磯遊び) เป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งในฤดูใบไม้ผลิที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยในวันเทศกาลฮินะมัตสึริ เหล่าครอบครัวและเพื่อน ๆ ก็จะออกไปเที่ยวเล่นกันที่ชายฝั่งหรือชายหาดใกล้ ๆ และกินดื่มกันเพื่อเฉลิมฉลอง หลังจากนั้นก็จะนำหอยที่เก็บมาได้ไปเซ่นไหว้แก่เทพเจ้า และนำมาทานด้วยกัน จนกลายมาเป็นซุปใสใส่หอยตลับอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
ปรากฏในบันทึกเกี่ยวกับอาหารที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น!
ประวัติการกินหอยตลับของคนญี่ปุ่นมีมาอย่างยาวนานซึ่งย้อนกลับไปได้ถึงสมัยโจมงเลยทีเดียว หอยตลับ ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “Hamaguri” (蛤) มีทฤษฎีต่าง ๆ มากมายเกี่ยวกับที่มาของชื่อ แต่มีทฤษฎีหนึ่งที่ดูจะเป็นไปได้มากที่สุดคือ มาจากคำว่า Hamaguri (浜栗) ซึ่งหมายถึง หินของชายหาด
คนญี่ปุ่นชื่นชอบการทานหอยตลับมาตั้งแต่สมัยโจมง ดังได้ปรากฏหลักฐานใน “Nihon Shoki” หรือพงศาวดารญี่ปุ่น (ซึ่งแล้วเสร็จในปี 720) ในพงศาวดารนี้ได้กล่าวว่า Iwamutsukarinomikoto (磐鹿六鴈命) ได้ถวาย “Umugi” (白蛤 ชื่อเก่าของหอยตลับ) ดองน้ำส้มสายชูแก่องค์จักรพรรดิ พระองค์ชื่นชอบเป็นอย่างมาก และให้เขาเป็นคนทำอาหารขององค์จักรพรรดิ นอกจากนี้ นี่ยังเป็นบันทึกเกี่ยวกับอาหารที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่นอีกด้วย!
นอกจากนี้ เมื่อเข้าสู่สมัยเอโดะ เมนูหอยตลับย่างของเมืองคุวะนะในจังหวัดมิเอะก็กลายเป็นอาหารขึ้นชื่อ จนเกิดสำนวนญี่ปุ่นที่ฮอตฮิตขึ้นมาในสมัยนั้นคือ “Sono Te ha Kuwana no Yakihamaguri” (その手はくわなの焼蛤) หมายถึง แม้จะใช้คำพูดที่สวยหรูดูดียังไงก็ไม่มีทางเชื่อหรือหลงกล
หอยตลับไม่ใช่แค่อร่อยเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ต่อร่างกายมากมายตามที่เขียนไว้ใน “Honzoukoumoku” (本草綱目) งานเขียนด้านเภสัชหรือการรักษาโรคที่ตีพิมพ์ในศตวรรษที่ 16 ว่ามีประโยชน์ต่อทั้งปอด, กระเพาะ และไต แถมยังเหมาะสำหรับคนที่ดื่มบ่อยอีกด้วย
ฤดูของหอยตลับจะอยู่จนถึงประมาณเดือนเมษายน หากมีโอกาสไปญี่ปุ่นในช่วงฤดูใบไม้ผลิ อย่าลืมไปลองลิ้มชิมรสชาติ ทานอาหารตามฤดูกาลแบบคนสมัยโบราณก็น่าสนใจนะคะ ^^
สรุปเนื้อหาจาก gunosy