ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาหลายคนคงจะปาร์ตี้กันอย่างสนุกสนาน แต่ถ้ากินและดื่มติดกันหลายวันก็อาจทำให้รู้สึกไม่สบายท้องได้ คนญี่ปุ่นเลยมักจะกิน “ข้าวต้มนานะคุสะ” (七草がゆ) ซึ่งเป็นอาหารอ่อนที่ใส่ผัก-สมุนไพรฤดูใบไม้ผลิกว่า 7 ชนิด หลังจากปาร์ตี้ในวันหยุดยาวในเช้าวันที่ 7 มกราคม เพื่อให้กระเพาะได้พักบ้าง วันนี้เราจึงอยากจะแนะนำสมุนไพร 7 ชนิด ที่ใส่อยู่ในข้าวต้มนานะคุสะ จะมีสมุนไพรอะไรบ้างนั้นมาทำความรู้จักกันเลยดีกว่าค่ะ

Seri : せり
Seri (せり) หรือ ผักชีล้อม จัดเป็นพืชล้มลุกและเติบโตเป็นกลุ่ม มักขึ้นในพื้นที่ชุ่มน้ำหรือบริเวณริมทุ่งนา มีกลิ่นหอมสดชื่นและมีสรรพคุณหลายอย่าง เช่น ช่วยปรับสมดุลให้ระบบทางเดินอาหาร, ช่วยในการย่อยอาหาร, ช่วยบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ และช่วยลดความดันโลหิต เป็นต้น ส่วนของลำต้นและใบมีขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตในญี่ปุ่น และส่วนของรากนั้นสามารถนำมาทำหม้อไฟได้อีกด้วย
Nazuna : なずな
Nazuna (なずな) หรือที่คนญี่ปุ่นจะรู้จักกันในชื่อ “หญ้าเพนเพน” (ぺんぺん草:Penpengusa) เพนเพนเป็นคำเลียนเสียงของชามิเซน (三味線:Shamisen) ซึ่งเป็นดนตรีเครื่องสายของญี่ปุ่น Nazuna เป็นดอกหญ้าและผล (เมล็ด) ที่เกิดขึ้นใต้ดอก มีลักษณะคล้ายกับไม้ดีดชามิเซน และเป็นพืชที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้คน เจริญเติบโตได้ทุกที่ มักพบเห็นได้บ่อยตามริมถนน แต่กลับมีประโยชน์ช่วยขับความร้อนในร่างกายและช่วยขับปัสสาวะได้ดี

Gogyou : ごぎょう
Gogyou (ごぎょう) หรือหนาดคำน้อย เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติบริเวณทุ่งหญ้าและเนินเขา ดอกจะมีสีเหลือง บานในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ มีสรรพคุณช่วยลดอาการไอ ลดเสมหะและป้องกันไข้หวัดได้เป็นอย่างดี
Hakobera : はこべら
Hakobera (はこべら) หรือ Hakobe (はこべ) มีชื่อในภาษาไทยว่า “หญ้าลูกไก่” เป็นวัชพืชที่มีกลีบดอกสีขาว แยกออกเป็นแฉก ใบเรียวยาว มีลักษณะคล้ายดาว พบเห็นได้ทั่วไปในสวน สนามหญ้า ริมถนนหรือพื้นที่เปิดโล่ง มีสรรพคุณแก้อาการปวดท้อง ป้องกันโรคเหงือกอักเสบ ช่วยรักษาโรคเก๊าท์ โรคข้อ และระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ ถ้านำไปตากแห้งและบดให้ละเอียด ผสมเข้ากับเกลือก็สามารถใช้แทนยาสีฟันได้
Hotokenoza : ほとけのざ
Hotokenoza (ほとけのざ) ชื่อนี้มาจากที่นั่งของพระพุทธเจ้าเป็นใบไม้ที่วางเรียงกันเป็นวงกลม อีกชื่อหนึ่งคือ Koonitahirako (コオニタビラコ) มีความหมายว่า แผ่แบนราบไปกับทุ่งนา ดอกมีสีเหลือง ขนาดเล็ก สามารถเจริญเติบโตได้เองตามธรรมชาติทั่วญี่ปุ่น เช่น ในภูมิภาคฮอนชู ภูมิภาคชิโกกุ และภูมิภาคคิวชู (ยกเว้นฮอกไกโด) มักพบในทุ่งนาและทางเดินระหว่างนาข้าว มีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย ช่วยลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ รอยฟกช้ำ และป้องกันความดันโลหิตสูง ฯลฯ
Suzuna : すずな
Suzuna (すずな) หรือ Kabu (かぶ) หรือหัวผักกาดฝรั่งในภาษาไทย มีหลายสายพันธุ์ โดยหัวผักกาดจะมีสีที่แตกต่างกัน เช่น สีขาว, สีเหลือง,สีแดง เป็นต้น Suzuna (ส่วนใบ) มีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าส่วนรากหรือผลสีขาวของหัวผักกาด ซึ่งมีใยอาหารเกือบสองเท่า นอกจากนี้ ยังมีวิตามินซีและวิตามินอีมากกว่าอีกด้วย และใช้ Suzuna (ส่วนใบ) ทำข้าวต้มนานะคุสะ
อีกทั้งหัวผักกาดยังมีสรรพคุณแก้ท้องผูก, ช่วยเรื่องระบบย่อยอาหาร, ละลายเสมหะ, ขยายหลอดลมหลอดเลือด ฯลฯ ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระช่วยการเสริมสร้างกระดูกและสร้างคอลลาเจนอีกด้วย
Suzushiro : すずしろ
Suzushiro (すずしろ) หรือ หัวไชเท้า เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอียิปต์ อุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซี และแคลเซียมสูง ฯลฯ Suzushiro และ Suzuna มีสรรพคุณคล้ายกัน เช่น ช่วยทำให้บาดแผลสมานตัวเร็วขึ้น, ทำให้ฟันและกระดูกแข็งแรง, ช่วยป้องกันหวัด, ช่วยให้ระบบการขับถ่ายทำงานได้ดี และช่วยบำรุงผิวพรรณ เป็นต้น
สมุนไพรทั้ง 7 ชนิด ที่อยู่ในข้าวต้มนานะคุสะนั้น ส่วนใหญ่เป็นวัชพืชที่ไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจ แต่กลับมีประโยชน์มากกว่าที่เราคิดไว้เสียอีก น่าทึ่งมากเลยใช่ไหมคะ ที่ญี่ปุ่นสามารถหาซื้อผักเหล่านี้ได้ง่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ในไทยเองก็มีผักบางชนิดที่สามารถหาซื้อได้เช่นกัน ใครที่อยากดูแลสุขภาพแบบคนญี่ปุ่นก็อย่าลืมลองซื้อมากินกันดูนะคะ
สรุปเนื้อหาจาก: Yahoo, kisetsumimiyori
ผู้เขียน: Earnjrp