สวัสดีครับ พอดีเมื่อวันก่อนผู้เขียนไปนั่งกิน “คิมบับ” มา ผู้เขียนชอบกินคิมบับครับเพราะถึงในความรับรู้ของคนญี่ปุ่นมันจะเป็น “โนริมากิเกาหลี” ก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นอีกรสชาติหนึ่ง อีกรสนิยมหนึ่งไปแล้ว วันนี้เลยจะขอพูดถึงความเป็นมาของคิมบับในส่วนที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมอาหารการกินของคนญี่ปุ่นนะครับ
Fun Facts เกี่ยวกับ “คิมบับ”
1. คิมบับ 김밥 นั้น แปลตรงตัวแปลว่า “ข้าวสาหร่าย” (คิม แปลว่าสาหร่ายโนริ บับแปลว่าข้าว) ซึ่งชื่อเกาหลีๆ แบบนี้ ว่ากันว่าปรากฏในหนังสือพิมพ์ครั้งแรกเมือปี พ.ศ. 2478 ก่อนหน้านั้นคนเกาหลียังใช้คำญี่ปุ่นว่า “โนริมากิ” อยู่เลย อย่างไรก็ดี ลุมาถึงมี พ.ศ. 2491 ทางรัฐบาลเกาหลีให้บัญญัติว่า ให้เรียกอาหารนี้ว่า “คิมบับ” (ชาตินิยมประสาเกาหลีๆ ที่ไม่อยากยอมรับว่ารับอะไรมาจากญี่ปุ่น) แต่คนเกาหลีรุ่นเก่าๆ บางทีก็ยังติดปากเรียกว่า “โนริมากิ” อยู่จนถึงทศวรรษที่ 1990 จนกระทรวงวัฒนธรรมและกีฬาต้องออกมาบอกว่า ให้เรียกว่า “คิมบับ” แทน กันอีกทีในปี พ.ศ. 2538 โดยถึงกับตีพิมพ์ “รายการคำภาษาญี่ปุ่นที่คนเกาหลีใช้ในชีวิตประจำวัน” เพื่อจะชี้ว่า จงเลิกใช้ภาษาญี่ปุ่นซะแล้วใช้คำเกาหลีแทนเถิด
2. อย่างไรก็ดีในวัฒนธรรมสมัยใหม่เราอาจถือว่า “คิมบับ” เป็นอาหารเกาหลีอย่างหนึ่งได้แล้วเหมือนกันด้วยรสนิยมการกินที่ไม่เหมือนกับญี่ปุ่น หนึ่ง คิมบับเกาหลีใส่เกลือกับน้ำมันงา แต่ไม่มีรสน้ำส้มสายชู และก็ไม่มีการใส่ “ของดิบ” เป็นไส้เหมือนอย่างที่คนญี่ปุ่นนิยม สอง มีวิธีกินที่พลิกแพลงต่างจากของญี่ปุ่น เช่น เอาไปชุบไข่ทอด หรือราดน้ำต๊อกโปกีกิน
3. เชื่อไหมครับว่า เคยมีความพยายามจะเอาคิมบับไปโยงกับ ซัม (쌈) ซึ่งเป็น “เมี่ยงคำเกาหลี” เอาเนื้อมาห่อผักกิน (อย่างเวลาเราไปกินหมูเกาหลีน่ะครับ) เพื่อจะโยงว่าคิมบับคืออาหารเกาหลีนะ (ห่อเหมือนกันแค่เปลี่ยนเป็นห่อสาหร่าย) หาได้ลอกเลียน “โนริมากิ” ของญี่ปุ่นไม่ (โธ่เอ๊ย)
4. ในยุคที่เกาหลีแต่ก่อนข้าวยากหมากแพง ข้าวขาวกับสาหร่ายนั้นเป็นของกินคนรวย แต่มาถึงยุคนี้ คิมบับกลายเป็นอาหารจานด่วนเหมือนแซนด์วิช พกไปกินตอนทัศนศึกษาได้ หาซื้อกินได้ตามแผงลอย ร้านสะดวกซื้อ ซื้อไปกินตอนนั่งรถไฟก็ยังได้ ฮิตมากถึงกับมีร้านที่ขายคิมบับโดยเฉพาะ
5. ในขณะที่ “คิมบับ” นั้นกลายเป็นของกินยอดนิยมของเกาหลี แต่คนเกาหลี (รวมถึงคนจีนด้วย) ที่ผ่านมานั้นไม่นิยม “ข้าวปั้น” (โอะนิกิริ) เพราะรังเกียจว่าเป็นข้าวที่เย็นแล้ว คนจีนคนเกาหลีมีค่านิยมว่าข้าวสวยต้องกินร้อนๆ มีแต่ขอทานหรือคนชั้นต่ำเท่านั้นที่ต้องกินข้าวเย็นๆ (ในขณะที่ในบริบทวัฒนธรรมญี่ปุ่นแต่โบราณนั้น “ข้าวปั้น” คือการถนอมอาหาร เพราะการเอาไปปั้นเป็นก้อน ทำให้ข้างในบูดเน่าหรือเป็นราได้ช้า การโรยเกลือ เอามิโสะห่อ หรือไปปิ้งไฟนั้น เป็นการหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราโดยทำให้ผิวนอกนั้นอยู่ในสภาพที่จะขึ้นราได้ยาก นับว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านของญี่ปุ่นอย่างแท้จริง) แต่พอมาถึงยุคนี้เมื่อไลฟ์สไตล์เปลี่ยนไป จึงเริ่มมี “ข้าวปั้นสามเหลี่ยม” ขายตามร้านสะดวกซื้อในเกาหลี เรียกว่า “คิมบับสามเหลี่ยม” ไปเสียอย่างนั้น
6. เดี๋ยวนี้คนญี่ปุ่นก็รู้จักกินคิมบับเหมือนกันในฐานะ “โนริมากิสไตล์เกาหลี” (韓国風海苔巻き) ขนาดว่ามีสูตรวิธีทำคิมบับตามในเว็บของญี่ปุ่นด้วย

พูดแล้วก็อยากไปกินอีกจังเลยครับ (ฮา) ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจดีนะครับว่า ญี่ปุ่นครั้งหนึ่งได้เคยส่งออกวัฒนธรรมการกิน “โนริมากิ” ให้คนเกาหลีในยุคอาณานิคม แล้วคนเกาหลีก็เอาไปดัดแปลง แล้วญี่ปุ่นก็นำเข้าวัฒนธรรมการกินที่ถูกดัดแปลงมาแล้วอีกต่อ ช่างเหมือนกรณีของ “หมูกระทะ” ของไทยที่มีรากเหง้าจาก “ซัมกย็อบซัล” ของเกาหลีจริงๆ (แต่ก่อนเรียก “หมูเกาหลี” แล้วค่อยกลายเป็น “หมูกระทะ”) แล้วก็ดันมีคนหัวใสเอา “หมูกระทะ” ของไทยไปเปิดเป็นร้านให้คนเกาหลีกินเสียอย่างนั้น
ข้อมูลและภาพจาก yukashikisekai และ wikipedia