“ฮิยาชิ จูกะ” เมนูอาหารจีนประจำฤดูร้อน ที่หาทานได้แค่ในญี่ปุ่น!

ถ้าพูดถึงเมนูเส้นประจำฤดูร้อนของญี่ปุ่น นอกจากบะหมี่เย็นอย่าง โซเม็ง, ซารุ โซบะ หรือ ฮิยามุงิ แล้ว “ฮิยาชิ จูกะ” ก็เป็นอีกหนึ่งเมนูบะหมี่เย็นที่ได้รับความนิยมในช่วงฤดูร้อนมากที่สุด เป็นเมนูที่ขาดไม่ได้ในฤดูร้อนของชาวญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้

“ฮิยาชิ จูกะ” (冷やし中華) หรือที่คนไทยเรียกชื่อเมนูนี้ว่า “บะหมี่เย็นทรงเครื่อง” มาจากการรวมคำระหว่าง ฮิยาชิ (冷やし) แปลว่า เย็น และ จูกะ (中華) แปลว่า จีน ซึ่งทำให้หลายคนเข้าใจว่าฮิยาชิ จูกะ เป็นเมนูบะหมี่เย็นที่มาจากประเทศจีน แต่แท้จริงแล้ว เมนูนี้ไม่มีในประเทศจีนนะ!

ฮิยาชิ จูกะ คืออะไร?

ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับเมนูบะหมี่เย็นทรงเครื่อง หรือ ฮิยาชิ จูกะ กันก่อนดีกว่า! จุดเด่นของเมนูนี้ นอกจากจะเสิร์ฟด้วยบะหมี่เส้นเย็นชื่นใจแล้ว ยังมาพร้อมเครื่องเคียงสีสันสดใส เช่น ผักประจำฤดูร้อนอย่าง แตงกวา, มะเขือเทศ ทานคู่กับเนื้อหมูย่าง (ชาชู) หรือเนื้อไก่ฉีก และไข่เจียวหั่นฝอย

นอกจากนี้ ยังสามารถเปลี่ยนเครื่องเคียงเป็นวัตถุดิบอื่น ๆ ได้ เช่น เนื้อกุ้ง, แฮม, ปูอัด, ไข่ต้ม รวมถึงพืชผักชนิดอื่น ๆ ที่หาได้ตามฤดูกาล เช่น ต้นอ่อนทานตะวัน, ต้นอ่อนผักบุ้ง และสาหร่ายวากาเมะ เป็นต้น ราดเส้นบะหมี่และเครื่องเคียงด้วยน้ำซุปเย็นที่ทำมาจากซอสโชยุผสมกับน้ำส้มสายชู เพิ่มความหอมด้วยน้ำมันงา และต้องไม่ลืมที่จะเพิ่มรสชาติด้วยการใส่ คาราชิ (มัสตาร์ดญี่ปุ่น) หรือเบนิโชกะ (ขิงเส้นแดง) เข้าไปด้วย

ฮิยาชิ จูกะ เมนูอาหารจีน ที่มีแค่ในญี่ปุ่น

 

View this post on Instagram

 

A post shared by nao (@nao.nao.026) on

ต้นกำเนิดของเมนูฮิยาชิ จูกะมาจากเมนูอาหารจีนที่ชื่อว่า “เหลียงปั้นเมี่ยน” (涼拌麺/りゃんばんめん) ซึ่งเดิมทีเมนูนี้ไม่ได้ทำให้เส้นบะหมี่เย็นด้วยการนำไปแช่น้ำแข็งแบบเดียวกับฮิยาชิ จูกะ แต่ทำให้เส้นบะหมี่เย็นด้วยวิธีอื่น เช่น การใช้พัดลมเป่า ฯลฯ อีกทั้ง ยังรับประทานคู่กับเนยถั่วลิสง ซึ่งแตกต่างกับเมนูฮิยาชิ จูกะที่ชาวญี่ปุ่นรับประทานโดยสิ้นเชิง จึงสรุปได้ว่า ฮิยาชิ จูกะ เป็นเมนูที่มีต้นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง

ว่ากันว่า..ฮิยาชิ จูกะ มีต้นกำเนิดในปี 1937 จากร้านอาหารจีน “ริวเท” (龍亭) ตั้งอยู่ที่เขตอาโอบะ ในเมืองเซ็นได ในตอนนั้น ทางร้านกำลังประสบปัญหาด้านการบริหารจัดการร้านในช่วงฤดูร้อน ซึ่งอยู่ในยุคที่ยังไม่มีเครื่องปรับอากาศ ทำให้ลูกค้าทานราเม็งร้อนในฤดูร้อนกันน้อยลง

สมาชิกสมาคมร้านอาหารจีนในญี่ปุ่นจึงรวมตัวประชุมเพื่อช่วยกันแก้ปัญหา โดยเจ้าของร้านริวเทในยุคนั้นก็เป็นหนึ่งในสมาชิกสมาคม เขาทดลองปรับสูตรราเม็ง ลองผิดลองถูกจนเกิดเป็นเมนู “ราเม็งเย็น” โดยเรียกชื่อเมนูนี้ว่า “เหลียงปั้นเมี่ยน” แบบเดียวกับเมนูต้นแบบมาจากเมนูอาหารจีน

หลังจากนั้น เจ้าของร้านริวเทก็นำเมนู “เหลียงปั้นเมี่ยน” มาวางจำหน่ายที่ร้านของตนและได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้า โดยเมนูราเม็งทั่วไปจะจำหน่ายอยู่ที่ราคา 10 เซ็น (銭 หน่วยเงินสมัยก่อนของญี่ปุ่น) แต่ “เหลียงปั้นเมี่ยน” สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงกว่าถึง 2.5 เท่า ในราคา 25 เซ็นเลยทีเดียว ถึงจะมีราคาแพง แต่เมนูราเม็งเย็นก็ยังขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ต่อมา ชาวญี่ปุ่นก็เปลี่ยนการเรียกชื่อเมนู “เหลียงปั้นเมี่ยน” มาเป็น “ฮิยาชิ จูกะ” หรือแปลตรงตัวว่า บะหมี่เย็นจากจีน และจากเสียงร่ำลือถึงความอร่อยที่เข้ากับช่วงอากาศร้อน ทำให้เมนูนี้กลายเป็นที่แพร่หลายไปทั่วญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว

 

View this post on Instagram

 

A post shared by 澤成農園 ☺︎ (@sawanari_nouen) on

นอกจากเมนูฮิยาชิ จูกะแล้ว ยังมีเมนูอาหารที่คิดค้นใหม่โดยชาวญี่ปุ่นแต่มีต้นแบบมาจากเมนูอาหารของต่างชาติอีกมากมาย เช่น ข้าวราดแกงกะหรี่, ครีมสตูว์ ฯลฯ ซึ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเมนูอาหารที่มีแค่ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น! และเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่น่าสนใจมากเลยทีเดียว ส่วนในครั้งหน้า เราจะมีเกร็ดความรู้ญี่ปุ่นอะไรที่น่าสนใจมาฝากเพื่อน ๆ อีกบ้าง? อย่าลืมติดตามกันนะคะ!

สรุปเนื้อหาจาก : kostrivia

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save