บ๊วยดองเป็นหนึ่งในอาหารที่คนญี่ปุ่นนิยมนำมารับประทานเพื่อสร้างความสดชื่นและช่วยบรรเทาความเหนื่อยล้า ซึ่งบ๊วยดองมีประโยชน์มากมายดังที่ ANNGLE เคยนำเสนอไปแล้ว (อ่านเพิ่มเติม) คราวนี้เรามารู้จักชนิดของบ๊วยดองและวิธีทำบ๊วยดองน้ำผึ้งแบบง่ายๆ ที่ไม่ว่าใครก็ทำได้กันค่ะ แน่นอนว่าวัตถุดิบทั้งหมดสามารถหาได้จากในบ้านเรานี่เอง
ชนิดของบ๊วยดองในญี่ปุ่น
ในญี่ปุ่นบ๊วยดองมีหลากหลายชนิด ได้แก่
1. บ๊วยดองเกลือเม็ด (Shiraboshi Ume, 白干し梅) ซึ่งเป็นบ๊วยดองเกลือเม็ดแบบดั้งเดิม ที่คงรสชาติเปรี้ยวจัดของบ๊วยได้ดี
2. บ๊วยดองใบชิโสะแดง (Akajiso Tsuke, 赤じそ漬け) ซึ่งเป็นบ๊วยดองที่มีสีแดงสวยและมีกลิ่นหอมจากใบชิโสะแดง กลิ่นของใบชิโสะแดงนอกจากจะช่วยให้เจริญอาหารแล้วก็มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียด้วย
3. บ๊วยดองปลาโบนิโตะแห้ง (Katsuo Ume, かつお梅) ซึ่งเป็นบ๊วยดองที่มีกลิ่นหอมและรสชาติอูมามิของส่วนผสมปลาโบนิโตะแห้ง โชยุ และมิริน
4. บ๊วยดองคอมบุ (Kombu Ume, 昆布梅) ซึ่งเป็นบ๊วยดองที่ได้จากการดองบ๊วยและสาหร่ายคอมบุรวมกัน ทำให้ได้รสเปรี้ยวเค็มผสมกลิ่มหอมและรสอูมามิของสาหร่ายคอมบุ
5. บ๊วยดองน้ำผึ้ง (Hachimitsu Tsuke, はちみつ漬け) ซึ่งเป็นบ๊วยดองเกลือผสมน้ำผึ้ง รสหวานของน้ำผึ้งตัดกับรสเปรี้ยวและเค็มของบ๊วยทำให้รับประทานง่าย และส่งผลให้บ๊วยดองชนิดนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากคนญี่ปุ่น
วิธีการทำบ๊วยดองน้ำผึ้ง
วัตถุดิบ
- บ๊วยแก่จัด 1 กิโลกรัม
- เกลือ 150 กรัม หรือ 15 เปอร์เซ็นต์
- น้ำผึ้ง 40 กรัมหรือ 4 เปอร์เซ็นต์
- น้ำตาลกรวด 60 กรัมหรือ 6 เปอร์เซ็นต์
- โชจูหรือเหล้าขาว 35 ดีกรี เล็กน้อย
วิธีทำ
1. นำบ๊วยมาบ่มในกล่องกระดาษจนสุกเป็นสีเหลือง
2. นำบ๊วยมาล้างให้สะอาดแล้วใช้ไม้จิ้มฟันเขี่ยเอาขั้วผลออก จากนั้นเช็ดเบาๆ ด้วยผ้าสะอาด

3. ใช้โชจูหรือเหล้าขาวฆ่าเชื้อทำความสะอาด ขวดหรือภาชนะล้างสะอาดที่จะใช้ดองบ๊วย
4. ผสมเกลือกับน้ำผึ้งแล้วนำมาโรยลงบนบ๊วย จากนั้นนำบ๊วยใส่ภาชนะที่ผ่านการทำความสะอาดฆ่าเชื้อ และโรยเกลือผสมน้ำผึ้งที่เหลือลงไปในภาชนะทั้งหมด
5. วางทับด้วยของมีน้ำหนัก เช่น หินสะอาดหรือน้ำที่บรรจุถุงพลาสติกไว้บนชั้นบนสุดของบ๊วย จากนั้นปิดฝาภาชนะ แล้วนำไปวางไว้ในที่อากาศถ่ายเทได้ดี
6. หลังจากดองประมาณ 1 อาทิตย์ก็จะมีการหมักเป็นน้ำส้มเกิดขึ้น เติมน้ำตาลกรวดครึ่งหนึ่งหรือ 30 กรัมลงไปให้ทั่วโดยเลี่ยงไม่ให้น้ำตาลไปสัมผัสบ๊วยโดยตรง
7. หลังจากนั้นอีก 3 วัน ก็เติมน้ำตาลกรวดที่เหลือลงไปในภาชนะดองบ๊วยในทั่ว โดยระวังไม่ให้น้ำตาลไปสัมผัสบ๊วยโดยตรง แล้วรอจนน้ำตาลละลายหมด
8. เลือกช่วงเวลาที่อากาศดีติดต่อกันแล้วนำบ๊วยไปเรียงบนตะแกรงไม้ไผ่และตากแดดไว้ 3 วัน ในที่อากาศถ่ายเทได้ดี พลิกกลับบ๊วยวันละ 1 ครั้ง กลางคืนก็เก็บบ๊วยมาไว้ในบ้าน
9. เมื่อครบ 3 วันแล้วก็เก็บบ๊วยใส่ภาชนะที่มีฝาปิด บ๊วยจะนิ่มเวลาเก็บจึงต้องเก็บด้วยความระวังเพื่อป้องกันไม่ให้เนื้อบ๊วยเละ เก็บใส่ตู้เย็นรับประทานได้ถึง 3 เดือน
ปริมาณของบ๊วยนั้นสามารถปรับได้ตามชอบตามสัดส่วนที่ให้ไว้ โดยการใช้สัดส่วนของน้ำตาลและน้ำผึ้งรวมเป็น 10 เปอร์เซ็นนั้นก็เพื่อให้ได้บ๊วยดองที่นุ่มกำลังดี
บ้านเราสามารถหาซื้อผลบ๊วยสดได้จากโครงการหลวงหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ขายของญี่ปุ่น เพื่อนญี่ปุ่นของผู้เขียนบอกว่าเธอดองบ๊วยเองทุกปี และรสชาติบ๊วยดองจะแตกต่างกันทุกปี แต่เธอว่านั่นคือความสนุกและความสุขที่ได้รับประทานบ๊วยดองที่ไม่เหมือนใครด้วยฝีมือเธอเองค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก: cookpad