“เบญจมาศ” เป็นดอกไม้ประจำฤดูใบไม้ร่วงของประเทศญี่ปุ่น มีช่วงฤดูกาลเจริญเติบโตอยู่ในเดือนกันยายน-ตุลาคม ชาวญี่ปุ่นมักนำดอกเบญจมาศสีเหลืองสดใสมาตกแต่งบนจานซาชิมิหรือเมนูปลาดิบในฐานะเครื่องเคียงเช่นเดียวกับผักทั่ว ๆ ไป แต่น้อยคนนักที่จะกล้าทาน เพราะคิดว่า “ดอกเบญจมาศมีไว้สำหรับตกแต่งจาน ไม่ได้มีไว้สำหรับรับประทาน” แถมยังมี “รสขม” ไม่อร่อยอย่างที่คิด
แต่เพื่อน ๆ ทราบหรือไม่ว่า นอกจากดอกเบญจมาศแบบทั่วไปที่มีไว้ประดับตกแต่งและชื่นชมความงามแล้ว ยังมี “ดอกเบญจมาศทานได้” อยู่หลากหลายสายพันธุ์ในญี่ปุ่น เช่น พันธุ์มตเทะโนะโฮะกะ ดอกเบญจมาศสีม่วงอมชมพูที่ชาวญี่ปุ่นเรียกกันว่าเป็น “ราชาแห่งดอกเบญจมาศที่ทานได้”, พันธุ์คาคิโนะโมโตะ ดอกเบญจมาศสีม่วงอมชมพูที่เป็นส่วนประกอบหนึ่งในการหมักดองน้ำส้มสายชูและใช้เป็นวัตถุดิบประกอบอาหารของชาวจังหวัดนีงาตะ โดยดอกเบญจมาศทานได้จะแตกต่างจากดอกเบญจมาศทั่วไปตรงที่ให้คุณค่าทางอาหารสูงและมีประโยชน์ต่อร่างกายนั่นเอง
ความแตกต่างของดอกเบญจมาศทั่วไปกับดอกเบญจมาศทานได้
แม้ว่าเบญจมาศจะเป็นดอกไม้ที่ไม่มีพิษ แต่ก็ไม่ใช่ว่าดอกเบญจมาศทุกชนิดสามารถทานได้! เพราะเบญจมาศเป็นดอกไม้ที่ “มีรสขมมาก” ทำให้สายพันธุ์ที่มีรสขมน้อยถูกจัดอยู่ในประเภท “ดอกเบญจมาศทานได้”
ดอกเบญจมาศทานได้สายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในญี่ปุ่นก็คือ “พันธุ์มตเทะโนะโฮะกะ” (もってのほか) และ “พันธุ์คาคิโนะโมโตะ” (カキノモト) ที่เราได้กล่าวไปข้างต้น อีกทั้งยังมี “พันธุ์เอนเมระคุ” (延命楽) เป็นดอกเบญจมาศที่มีสีม่วงอมชมพูเช่นเดียวกัน ส่วนดอกเบญจมาศสีเหลืองสำหรับรับประทานที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไปจะเป็น “พันธุ์อะโบคิว” (阿房宮) โดยชาวญี่ปุ่นมักเรียกในอีกชื่อว่า “โคะกิคุ” (小菊) แปลว่าดอกเบญจมาศขนาดเล็ก


วิธีการทานดอกเบญจมาศและข้อควรระวัง
หลายคนอาจมองว่า ดอกไม้เป็นวัตถุสำหรับตกแต่งเพื่อความสวยงาม แต่ความจริงแล้ว ในร้านปลาดิบทั่วไปในญี่ปุ่นมักใช้ “ดอกเบญจมาศทานได้” เสิร์ฟมาพร้อมกับเมนูอาหาร ซึ่งหมายความว่า “ดอกเบญจมาศเป็นอาหารที่รับประทานได้” ซึ่งเพื่อน ๆ สามารถรับประทานดอกไม้สดได้เลย โดยวิธีรับประทานดอกเบญจมาศที่ถูกต้องก็คือ ให้เด็ด “กลีบดอก” และทานคู่กับเนื้อปลาดิบจิ้มซอสโชยุจะได้รสชาติที่อร่อยกำลังดี ไม่ควรทานดอกไม้เข้าไปทั้งตัวดอก เพราะดอกไม้จะมีส่วนที่เรียกว่า “ตัวชูเกสร” ซึ่งเป็นส่วนที่มีรสขมอยู่
ดอกเบญจมาศในญี่ปุ่นจะมีทั้งสายพันธุ์ที่มีกลีบดอกขนาดเล็กและกลีบดอกขนาดใหญ่ ซึ่งทั้งสองล้วนสามารถนำมารับประทานเป็นเครื่องเคียงหรือนำมาโรยหน้าบนเมนูน้ำซุปได้ นอกจากจะเป็นการเพิ่มคุณค่าทางอาหารแล้ว ยังช่วยเพิ่มสีสันให้เมนูอาหารดูน่ารับประทานเข้ากับฤดูใบไม้ร่วงในญี่ปุ่น
ถึงแม้ว่าดอกเบญจมาศจะเป็นดอกไม้ปลอดภัยที่แทบไม่ต้องกังวลเลยว่าถ้าทานมากเกินไปจะส่งผลเสียงต่อร่างกายหรือไม่ แต่อย่างไรก็ดี ดอกเบญจมาศเป็นสมุนไพรจีนชนิดหนึ่งที่ “มีฤทธิ์ทำให้ร่างกายเย็น” เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีภาวะร่างกายไวต่อความเย็นหรือเป็นโรคแพ้ความเย็นควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน หากต้องการรับประทานแนะนำให้ทานดอกเบญจมาศคู่กับเก๋ากี้จะช่วยลดฤทธิ์เย็นได้
ประโยชน์ของดอกเบญจมาศ
ในดอกเบญจมาศ 100 กรัมจะมีวิตามินอีอยู่ 4.6 มิลลิกรัม ในขณะที่อัลมอนด์ที่ถูกขนานนามว่าเป็น “ขุมสมบัติของวิตามินอี” มีวิตามินอีอยู่ 3.0 มิลลิกรัม อย่างไรก็ตาม โอกาสที่คนทั่วไปจะได้ทานดอกเบญจมาศในปริมาณเยอะ ๆ ในชีวิตประจำวันคงหาได้ยากเมื่อเทียบกับอัลมอนด์ที่หาซื้อได้ง่ายในปัจจุบัน อีกทั้ง คุณค่าทางอาหารของดอกเบญจมาศในปริมาณที่น้อยแทบจะไม่ส่งผลอะไรกับร่ายกายมนุษย์สักเท่าไหร่ แต่หากเราสามารถรับประทานดอกเบญจมาศในปริมาณที่มากเพียงพอได้แล้วล่ะก็ ร่างกายของเราจะได้รับวิตามินอีที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างแน่นอน!
หวังว่าบทความนี้จะทำให้เพื่อน ๆ สนใจดอกเบญจมาศที่ถูกตกแต่งอยู่บนจานอาหารได้ไม่มาก็น้อยนะคะ ถ้ามีโอกาสอย่าลืมลองทานด้วยวิธีที่เราแนะนำกันไว้ด้วยล่ะ!
สรุปเนื้อหาจาก : livedoor