ช่วงหน้าร้อนของประเทศญี่ปุ่น แม้จะเป็นเวลา 1 ทุ่มแล้ว ท้องฟ้าก็ยังคงสว่างคล้ายกับช่วงกลางวัน แต่พอใกล้เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ช่วงเวลาดวงอาทิตย์ตกก็เร็วขึ้นตั้งแต่ 6 โมงเย็น ทำให้กลางวันมีเวลาสั้นกว่ากลางคืน ซึ่งชาวญี่ปุ่นจะสัมผัสได้โดยสัญชาตญาณเลยว่า “ฤดูใบไม้ร่วง” ได้มาถึงแล้ว
ความพิเศษของฤดูใบไม้ร่วงที่ทำให้คนญี่ปุ่นรู้สึกตื่นเต้นได้ในทุก ๆ ปีก็เพราะว่าฤดูนี้เป็นฤดูกาลที่เต็มไปด้วย “อาหารอร่อย ๆ” นั่นเองค่ะ จนเกิดเป็นคำว่า “Shokuyoku no Aki” (食欲の秋) ที่แปลว่า “ฤดูใบไม้ร่วงที่เจริญอาหาร”
ครั้งนี้เราจะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับ “ฤดูใบไม้ร่วงที่เจริญอาหาร” ของญี่ปุ่นให้มากขึ้น! ไปรู้ถึงความหมายและที่มาว่า ทำไม? พอเข้าฤดูใบไม้ร่วงแล้วชาวญี่ปุ่นถึงเจริญอาหารมากกว่าฤดูอื่น ๆ และไปดูวิธีที่ไม่ทำให้ “น้ำหนักขึ้น” ในฤดูกาลที่มีแต่อาหารอร่อย ๆ แบบนี้กันค่ะ
ที่มาและความหมายของ “Shokuyoku no Aki”
อย่างที่ได้เกริ่นไปข้างต้นว่า “Shokuyoku no Aki” (食欲の秋) แปลว่า “ฤดูใบไม้ร่วงที่เจริญอาหาร” ซึ่งมีทฤษฎีอธิบายเกี่ยวกับคำนี้ไว้ว่า ฤดูใบไม้ร่วงเป็นฤดูกาลเจริญเติบโตของพืชพรรณธัญญาหารต่าง ๆ เช่น เกาลัด, มันเทศ, สาลี่, องุ่น รวมทั้งข้าวสารที่ชาวญี่ปุ่นรับประทานเป็นอาหารหลักด้วย เมื่อมีวัตถุดิบประกอบอาหารให้เลือกทานมากมาย ความรู้สึกอยากอาหารก็ยิ่งเพิ่มตามไปด้วย ชาวญี่ปุ่นจึงเรียกฤดูกาลนี้ว่า “ฤดูใบไม้ร่วงที่เจริญอาหาร”
วัตถุดิบอาหารที่ประจำฤดูใบไม้ร่วงของญี่ปุ่นยังมีอีกมากมาย ได้แก่ เห็ดชิตาเกะ, เห็ดมัทซึทาเกะ, มะเขือม่วง, ฟักทอง, รากบัว, ปลาแซลมอน, ปลาซัมมะ, ปลาไหล และปลาโอแถบ ฯลฯ แค่เห็นชื่อวัตถุดิบอาหารก็รู้สึกหิวขึ้นมาเลยว่าไหมคะ?
ทำไมถึงรู้สึก “เจริญอาหาร” เมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วง?
มีทฤษฎีที่อธิบายเกี่ยวกับ “ความอยากอาหารในฤดูใบไม้ร่วง” ไว้ว่า ในฤดูร้อนของญี่ปุ่น ร่างกายของมนุษย์ต้องเผชิญภาวะ “Natsubate” (夏バテ) หมายถึง อาการเหนื่อยล้า ไม่กระตือรือร้น ไม่รู้สึกอยากทานอาหาร และไม่อยากทำอะไรเลยเนื่องจากอากาศร้อน ทำให้พอเข้าฤดูใบไม้ร่วงที่อากาศเริ่มเย็นสบาย ชาวญี่ปุ่นจึงเกิดความอยากอาหารเพิ่มมากขึ้นตามธรรมชาติและรับประทานเพื่อทำให้ร่างกายกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
อีกทั้ง ความอยากอาหารในฤดูใบไม้ร่วงยังเกี่ยวข้องกับ “เซโรโทนิน”(Serotonin) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่ม “ฮอร์โมนแห่งความสุข” สารต้านความเครียดที่หลั่งจากสมองและหลั่งจากทางเดินอาหาร ทำหน้าที่ควบคุมความอยากอาหาร คอยส่งสัญญาณให้ร่างกายรู้ว่ากำลังอิ่มอยู่ ซึ่งสารนี้จะผกผันตามระยะเวลาที่ร่างกายโดนแสงอาทิตย์ เมื่อร่างกายโดนแสงอาทิตย์น้อยสารเซโรโทนินก็จะหลั่งน้อยลง เมื่อโดนแสงแดดเยอะก็จะหลั่งสารเซโรโทนินเยอะ กล่าวคือ ในฤดูใบไม้ร่วงที่มีเวลาช่วงกลางคืนยาวนานกว่ากลางวัน ร่างกายจะโดนแสงแดดได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับฤดูร้อน ทำให้สารเซโรโทนินหลั่งลดลงจนเกิดความอยากอาหารเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีอีกทฤษฎีที่อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ความอยากอาหารในฤดูใบไม้ร่วงเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์และสัตว์ ที่จะต้องทานอาหารบำรุงร่างกายเพื่อเตรียมตัวสู่ฤดูหนาวต่อไป
ทานอย่างไรไม่ให้ “น้ำหนักขึ้น” ในฤดูกาลที่มีแต่อาหารอร่อย ๆ
ในฤดูกาลที่มีแต่วัตถุดิบอาหารน่ารับประทานไปหมด ถ้าเพื่อน ๆ ตามใจปาก ทานเพราะรู้สึกอยากอาหารแต่อาจไม่ได้หิวจริง ๆ แบบนี้มีหวังน้ำหนักขึ้นแน่นอนค่ะ! เราเลยจะมาแนะนำวิธีที่การควบคุมความอยากอาหารที่น่าสนใจตามสไตล์คนญี่ปุ่น เพื่อน ๆ สามารถเลือกวิธีที่เหมาะกับตัวเองได้ และรับรองว่าช่วยลดโอกาส “น้ำหนักขึ้น” ได้แน่นอน
เริ่มจากการทานผักและสาหร่ายทะเลก่อน
ผักและสาหร่ายทะเลเป็นวัตถุดิบอาหารที่มีแคลอรีต่ำ แต่อุดมไปด้วยเส้นใยอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุ การรับประทานผักและสาหร่ายทะเลเป็นอันดับแรกในมื้ออาหารแต่ละมื้อจะช่วยให้ร่างกายรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น และช่วยป้องกันไม่ให้เราทานเมนูอื่น ๆ เยอะเกินไปด้วย
ทานอาหารพร้อมกับดื่มน้ำเปล่า น้ำชา หรือเครื่องดื่ม Non-Calorie
ถ้าจะทานขนมหวาน แนะนำให้เพื่อน ๆ ดื่มน้ำเปล่าหรือเครื่องดื่ม Non-Calorie ตามเข้าไปด้วยเพื่อให้รู้สึกอื่มเร็วขึ้น วิธีนี้เหมาะมากสำหรับคนที่อยากทานขนมแต่กลัวจะทานเยอะเกินไป
นั่งหลังตรงระหว่างรับประทานเสมอ
การนั่งหลังตรงและรักษาบุคลิกภาพให้ดูสวยสง่าจะทำให้ร่างกายเกิดการเผาผลาญ ซึ่งหมายความว่าเพื่อน ๆ สามารถเผาผลาญพลังงานในร่างกายได้ระหว่างการรับประทานอาหารด้วย! นอกจากนี้การที่เราคอยบังคับให้ร่างกายต้องนั่งหลังตรง รักษาบุคลิกภาพบนโต๊ะอาหารอยู่ตลอดเวลา จะทำให้เรามีความสนใจในเมนูอาหารตรงหน้าได้น้อยลงด้วยนะ
เคี้ยวอาหารให้มากขึ้น
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราทานอาหารมากเกินไปโดยไม่รู้ตัวเป็นเพราะ “การทานอาหารที่เร็วเกินไป” เพราะฉะนั้น เพื่อน ๆ ต้องใช้เวลาในการรับประทานให้นานขึ้น เพื่อให้ร่างกายจดจำรสชาติอาหารและรู้สึกอิ่ม วิธีการป้องกันการทานอาหารเร็วเกินไปก็คือ “ทานอาหาร 1 คำ ให้เคี้ยว 30 ครั้ง” ซึ่งการเคี้ยวอาหารให้ละเอียดจะช่วยลดความอยากอาหารได้ในระดับหนึ่งด้วย
นอกจากนี้ ยังควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้มากขึ้น แถมยังช่วยให้ร่างกายแข็งแรง อย่างไรก็ตาม ในฤดูใบไม้ร่วงของประเทศญี่ปุ่น นอกจากจะมีคำว่า “Shokuyoku no Aki” หรือ “ฤดูใบไม้ร่วงที่เจริญอาหาร” แล้ว ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมายที่คนญี่ปุ่นจะนึกถึงเมื่อฤดูใบไม้ร่วงมาเยือนอีกด้วย เช่น ฤดูใบไม้ร่วงแห่งการอ่าน (読書の秋), ฤดูใบไม้ร่วงของกีฬา (スポーツの秋) และ ฤดูใบไม้ร่วงแห่งศิลปะ (芸術の秋) ฯลฯ ไว้เราจะมาแนะนำให้เพื่อน ๆ รู้จักกันในโอกาสหน้านะคะ
สรุปเนื้อหาจาก : yakudatta