เข้าสู่ช่วงฤดูฝนของญี่ปุ่นแล้ว เป็นช่วงแห่งการเก็บเกี่ยวผลบ๊วยมาเพื่อแปรรูปและถนอมอาหารไว้เพื่อรับประทานได้ทั้งปี อีกทั้งอาหารและเครื่องดื่มแปรรูปจากบ๊วยยังสามารถนำมารับประทานแก้กระหายและชื่นใจคลายร้อนได้อีกด้วย มารู้กันว่าคนญี่ปุ่นนำผลบ๊วยมาแปรรูปเป็นอะไรกันบ้าง และวิธีการเลือกชนิดของบ๊วยเพื่อใช้ถนอมบ๊วยไว้รับประทานได้ทั้งปีกันค่ะ
บ๊วยดอง
บ๊วยดองได้มาจากการนำผลบ๊วยมาดองเกลือไว้แล้วนำมาตากแห้ง จากนั้นจึงเก็บใส่ขวดบรรจุภัณฑ์ไว้ โดยชนิดของบ๊วยดองนั้นขึ้นอยู่กับส่วนผสมของเครื่องปรุงที่ใช้ดอง เช่น บ๊วยดองกับเกลือ บ๊วยดองด้วยใบชิโสะแดงเพื่อให้สีบ๊วยมีสีออกชมพูสวยงาม และบ๊วยดองน้ำผึ้งซึ่งเติมน้ำผึ้งลงไปในขั้นตอนการดองเพื่อลดความเค็มของเกลือที่ใช้ดอง การดองบ๊วยใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนครึ่ง แต่ก็ได้บ๊วยดองรสชาติอร่อยที่สามารถเก็บไว้รับประทานได้ทั้งปี
น้ำเชื่อมบ๊วย
น้ำเชื่อมบ๊วยทำได้โดยการนำบ๊วยมาล้างให้สะอาด เช็ดให้แห้ง แล้วใช้ไม้ปลายแหลมเขี่ยส่วนของขั้วผลออก จากนั้นจึงนำมาเรียงสลับชั้นกับน้ำตาลกรวด ปิดฝาขวดให้สนิทแล้วนำวางไว้ในที่เย็น และหมั่นเขย่าขวดทุกวัน จนกระทั่งน้ำตาลละลายหมดก็จะได้น้ำเชื่อมบ๊วยที่มีกลิ่นหอมและรสหวานอมเปรี้ยวอร่อย ซึ่งสามารถนำมาผสมโซดาหรือน้ำ ดื่มเพื่อสร้างความสดชื่นและบรรเทาความเหนื่อยล้าได้ดี
เหล้าบ๊วยหรืออุเมะชู (Umeshu)
เหล้าบ๊วยได้จากการนำผลบ๊วยที่ผ่านการล้างทำความสะอาด เช็ดจนแห้ง และแกะเอาขั้วผลออกมาเรียงสลับชั้นกับน้ำตาลกรวด จากนั้นเติมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น โซจูหรือบรั่นดีลงไป วางไว้ในที่เย็นจนน้ำตาลละลายหมด ใช้เวลาประมาณ 6 เดือนก็จะได้เหล้าบ๊วยที่มีกลิ่นหอมละมุนรสหวานอร่อยถูกใจสาวๆ ผู้ชอบความคลาสสิคแบบญี่ปุ่น
แยมบ๊วย
แยมบ๊วยทำได้โดยการนำผลบ๊วยมาแกะเมล็ดออกและนำมากวนในน้ำตาล แยมบ๊วยมีรสชาติหวานอมเปรี้ยวให้ความสดชื่น ที่หาไม่ได้ในแยมจากผลไม้อื่นๆ
บ๊วยเชื่อมน้ำตาล
บ๊วยเชื่อมน้ำตาลมีเนื้อสัมผัสนุ่มจากการต้มผลบ๊วยในส่วนผสมของน้ำและน้ำตาล คนญี่ปุ่นนิยมนำบ๊วยเชื่อมมารับประทานกับไอศกรีมหรือโยเกิร์ต
บ๊วยมิโซะ
บ๊วยมิโสะได้จากการดอกบ๊วยด้วยมิโซะและน้ำตาล ซึ่งมีรสชาติเปรี้ยวเค็มหวานสดชื่น คนญี่ปุ่นนิยมนำบ๊วยมิโซะมารับประทานกับผักแท่ง ซาชิมิ และเนื้อย่าง เป็นต้น
บ๊วยดองโชยุ
การดองบ๊วยวิธีนี้ทำได้โดยผ่าเอาเมล็ดออกจากผลบ๊วย แล้วนำมาดองในโชยุ บ๊วยดองโชยุจะอร่อยมากกับเต้าหู้เย็นและซาชิมิ นอกจากนี้ยังสามารถนำบ๊วยมาสับให้ละเอียดและรับประทานกับข้าวสวยได้ด้วย
วิธีการเลือกชนิดของบ๊วยเพื่อให้เหมาะกับวัตถุประสงค์ในการถนอมอาหาร
ผลบ๊วยแบ่งออกเป็น 3 ชนิดตามระยะเวลาการสุก คือ บ๊วยเขียว บ๊วยสุก และบ๊วยสุกมาก
บ๊วยเขียว (Oume, 青梅)
บ๊วยเขียวเป็นบ๊วยที่หาซื้อได้ในช่วงต้นฤดูกาลประมาณต้นเดือนมิถุนายน ผลบ๊วยจะเขียวกรอบและแข็ง เหมาะสำหรับการนำมาทำน้ำเชื่อมบ๊วย เหล้าบ๊วย บ๊วยเชื่อมน้ำตาล บ๊วยมิโซะ และบ๊วยดองในโชยุ แต่ไม่เหมาะที่จะนำมาทำบ๊วยดอง
บ๊วยสุก (Kanjukuume, 完熟梅)
บ๊วยสุกสีเหลืองอ่อนมีขายในช่วงกลางเดือนมิถุนายน ผลบ๊วยนิ่มและมีกลิ่นหอม เหมาะที่จะนำมาทำน้ำเชื่อมบ๊วยและเหล้าบ๊วยที่มีกลิ่นหอมละมุน บ๊วยมิโซะหรือแยมบ๊วยก็ได้ แต่ไม่เหมาะที่จะนำมาเชื่อมหรือดองโชยุเนื่องจากผลบ๊วยนิ่มเกินไป
บ๊วยสุกงอม (Chōkanjukuume, 超完熟梅)
บ๊วยชนิดนี้มีจำหน่ายตั้งแต่กลางเดือนถึงปลายเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นบ๊วยที่ดีที่สุดในการนำมาทำบ๊วยดองและแยมบ๊วยที่มีกลิ่นหอมละมุน
การถนอมอาหารจากบ๊วยเป็นงานละเอียดที่ต้องใช้เวลา แต่บ๊วยแปรรูปที่ได้จากการถนอมอาหารเหล่านี้สร้างคุณค่าทางใจและการดื่มด่ำกับอาหารตามฤดูกาลไปพร้อมกับรสชาติอร่อยถูกปากสมาชิกในบ้านค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก kurashiru