เมื่อ “สตรอเบอร์รี่เกาหลี” ที่จริงๆ แล้วมันคือ “สตรอเบอร์รี่ (พันธุ์) ญี่ปุ่น“ บุกตลาดเมืองไทย

ท่ามกลางความขัดแย้งและแรงปรารถนาอยากจะ “ชิงดีชิงเด่น” ของคนเกาหลี ที่อยากเอาชนะ “ศัตรู” อย่างญี่ปุ่นเสียเหลือเกิน เกิดเหตุการณ์ที่กลายเป็นปัญหาทางจริยธรรมทั้งในแง่ทรัพย์สินทางปัญญาและการค้า นั่นคือเหตุการณ์ที่ “สตรอเบอร์รี่พันธุ์ญี่ปุ่น” ถูกคนเกาหลี “ขโมยเอาไปทำขายเอง” 

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2562 มีผู้พบว่าที่ Tops Market สาขาห้างเซ็นทรัลพลาซา อุดรธานี มีผลไม้นำเข้าจากญี่ปุ่น คือ “สตรอเบอร์รี่” ถูกจัดวางไว้อย่างสะดุดตา มีทั้ง “คิราปิกะ” ของ JA Shizuoka Keizai Ren และ “เพิร์ลไวท์” ของจังหวัดซากะ ดูราคาแล้ว แพ็คละ 650 บาท สำหรับคนไทย จัดว่าแพงเอาการ แต่ทว่าอีกด้านหนึ่ง กลับมี “สตรอเบอร์รี่เกาหลี” ซึ่งมีที่มาจากพันธุ์สตรอเบอร์รี่ที่ “รั่วไหลจากประเทศญี่ปุ่น” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539  มาวางขายในซูเปอร์ที่เดียวกัน ตัดราคาถูกกว่ากันเกือบครึ่ง แค่แพ็คละ 379 บาท เท่านั้น คุณภาพต่ำกว่าของญี่ปุ่น แต่กลับขายดีทีเดียว ทั้งที่การจัดการสินค้าหน้าร้านก็ไม่ค่อยดี บางแพ็คเห็นมีขึ้นราด้วยซ้ำ

การตัดราคาขายถูกกว่ายังไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือการที่เกาหลีใต้ “ขโมย” พันธุ์สตอร์เบอร์รี่ “ของญี่ปุ่น” เอาไปแล้วบอกว่า “เป็นของตัวเอง” แล้วส่งขายไปทั่ว (จนมาถึงเมืองไทยด้วย) ต่างหาก!!!

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า “มีคดีตัวอย่างอยู่คดีหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2539 นายคิม ชองกิล เกษตรกรชาวเกาหลีอุตส่าห์ไหว้วอนนางนิชิดะ อะซามิ  ชาวไร่สตรอเบอร์รี่จังหวัดเอฮิเมะ ผู้ซึ่งพัฒนาพันธุ์ “เรดเพิร์ล” มากว่า 6 ปี ขอทำสัญญาเพาะต้นกล้าพันธุ์เป็นเวลา 5 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าสามารถนำพันธุ์ไปเพาะปลูกได้แบบต้องจ่ายสตางค์ สัญญานี้ทำโดยเจาะจง (ว่าเพาะปลูกได้) เฉพาะนายคิมเท่านั้น แต่นายคิมผิดสัญญาโดยขายต้นกล้าให้กับคนอื่นไปทั่ว นี่มันเป็นเรื่อง “ชาวนากับงูเห่า” หรือ “ทำคุณบูชาโทษ” แท้ๆ แต่ในเกาหลีที่การหลอกลวงมันมีอยู่ทั่วไป มันดูเหมือนเป็นเรื่อง “ธรรมดา” มาก”

กระทรวงเกษตรและการประมงของญี่ปุ่นกล่าวว่า ญี่ปุ่นต้องสูญเงินราว 22,000 ล้านเยน จากการที่เกาหลีใต้เอา “สตรอเบอร์รี่พันธุ์ญี่ปุ่น” ไปปลูกขายส่งออก ซึ่งนำไปสู่แนวคิดที่ว่าจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายต้นกล้า

“กฎหมายต้นกล้า” (種苗法) นั้นเปรียบได้เหมือนกับกฎหมายลิขสิทธิ์ของพันธุ์ผักและผลไม้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้พัฒนาพันธุ์ผักหรือผลไม้สามารถผูกขาดสิทธิของตนในพันธุ์ผักหรือผลไม้ที่ตนเองพัฒนาได้ อย่างไรก็ตาม กฎหมายที่มีมาแต่เดิมยังไม่คุ้มครองสิทธิของผู้เพาะพันธุ์อย่างสมบูรณ์ ในความเป็นจริง เกษตรกรชาวญี่ปุ่นสามารถ “คัดพันธุ์เองในบ้าน” หรือ “ขยายพันธุ์เองในบ้าน” เพื่อเอาไปใช้ในปีถัดไปได้ (คือซื้อพันธุ์มาทีเดียวแล้วก็ขยายพันธุ์ใช้เอง) ซึ่งความคลุมเครือตรงนี้ก็เป็นช่องให้เกิดการนำเอาพันธุ์พืชออกไปนอกประเทศอย่างผิดกฎหมายได้

ข้อที่จะเปลี่ยนในการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้คือ “การปกป้อง และ กฎระเบียบ” จุดประสงค์ของ “การปกป้อง” คือการป้องกันการเอาพันธุ์พืชออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียอย่างผิดกฎหมาย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การสูญเสียทางเศรษฐกิจเนื่องจากผลไม้พันธุ์ดีของญี่ปุ่นถูกเอาไปเพาะปลูกที่อื่น และการสูญเสียตำแหน่งผู้นำในการแข่งขันระหว่างประเทศถือเป็นปัญหา การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะทำให้ผู้เพาะเลี้ยงสามารถกำหนดเจาะจงประเทศผู้ส่งออกและเขตพื้นที่เพาะปลูกได้ ซึ่งหากฝ่าฝืนข้อกำหนดดังกล่าวก็สามารถเอาผิดทางอาญาเช่น เสียค่าปรับ ได้ ส่วน “กฎระเบียบ” นั้น กล่าวคือ เกษตรกรในประเทศจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้เพาะพันธุ์ก่อน หากจะเพาะ “พันธุ์พืชจดทะเบียน” ในบ้านตัวเอง การเอาระบบการให้ความยินยอมมาใช้นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมสถานะการเพาะปลูกและเพื่อทราบสถานะที่แท้จริงของการรั่วไหลออกนอกประเทศ

แม้กระนั้นก็มีเสียงคัดค้านว่ากฎระเบียบดังกล่าว “เป็นการเพิ่มภาระแก่เกษตรกร” นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลว่า บริษัทเกษตรข้ามชาติที่มีเทคโนโลยีมากทุนหนา อาจใช้วิธีเพิ่มจำนวน “พันธุ์พืชจดทะเบียน” เพื่อต้อนให้เกษตรกรญี่ปุ่นซื้อพันธุ์พืชของตน อันเป็นการครอบงำเกษตรกรญี่ปุ่น

อย่างไรก็ดีผลกระทบอาจไม่ได้มากอย่างที่กังวล เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรนั้นประกอบด้วย “พันธุ์พืชทั่วไป” และ “พันธุ์พืชจดทะเบียน” และผลกระทบของการแก้ไขกฎหมายนี้เป็นเรื่องของ “พันธุ์พืชจดทะเบียน” หากเพาะปลูก “พันธุ์พืชทั่วไป” การแก้ไขกฎหมายนี้จะไม่มีผลกระทบใดๆ “พันธุ์พืชทั่วไป” ได้แก่ ผลผลิตทางการเกษตรที่มีเพาะปลูกมาแต่เดิม และผลิตภัณฑ์ที่สิทธิของผู้เพาะ “พันธุ์ที่จดทะเบียน” ดังกล่าวได้หมดอายุแล้ว แน่นอนว่า อัตราส่วนการเพาะปลูก “พันธุ์พืชจดทะเบียน” จะแตกต่างกันไปตามประเภทของผลผลิตทางการเกษตรและพื้นที่เพาะปลูก แต่จำนวน “พันธุ์พืชจดทะเบียน” นั้นอยู่ที่เพียงประมาณ 10% ฉะนั้นผลกระทบก็น่าจะมีไม่มาก

เหตุผลสำคัญที่ต้องปกป้องพันธุ์พืชที่ถูกพัฒนาในญี่ปุ่นนั้นคือ ในการพัฒนาผลไม้พันธุ์ใหม่นั้นจะต้องคัดเลือกพันธุ์ที่ดีที่สุดโดยการผสมพันธุ์กันข้ามปี จึงต้องใช้เวลาและเงินมาก ตามการประมาณการของจังหวัดยามากาตะ งบประมาณประจำปีสำหรับการซื้อสิ่งที่จำเป็นในการปรับปรุงพันธุ์คือ 20 ล้านเยน และต้องใช้คนทำงาน 6 คน ซึ่งมีค่าใช้จ่าย 5 ล้านเยนต่อคนต่อปีรวมเป็น 30 ล้านเยนต่อปี บวกทุกอย่างแล้วเป็น 50 ล้านเยนต่อปี การจะคิดค้นผลไม้พันธุ์ใหม่ให้ได้ภายในหนึ่งปีเป็นเรื่องยาก และหากจะต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ซึ่งถ้าต้องใช้เวลาสิบปีจริงก็เท่ากับว่าต้องใช้เงินถึง 500 ล้านเยน!!!

การพัฒนาผลไม้พันธุ์ใหม่ให้มีรสชาติอร่อยและหน้าตาดูดีเป็นกระบวนการที่ต้องคลุกฝุ่น ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ ผลไม้พันธุ์ดีมากมายของญี่ปุ่นนั้น ล้วนเกิดจากความมุ่งมั่นและใส่ใจของชาวญี่ปุ่นในระดับที่แทบจะเป็นงานประณีตฝีมือเลยทีเดียว

เมื่อเร็วๆ นี้ สตรอเบอร์รี่สีขาวกำลังเป็นที่นิยม แต่จากการสัมภาษณ์สถาบันวิจัยและทดลองสตรอเบอร์รี่ประจำจังหวัดโทชิกิ การได้มาซึ่งสตรอเบอร์รี่พันธุ์ใหม่นั้น มาจากการเอาสตรอเบอร์รี่สีขาวที่ได้มาโดยบังเอิญมาผสมพันธุ์ซ้ำจนได้สตรอเบอร์รี่สีขาวที่มีรสหวาน โลกของผลไม้นั้น ถึงจะเป็นยุคไฮเทค แต่ก็ยังเป็นงานที่ต้องทำมืออยู่ดี นวัตกรรมในการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ผักและผลไม้นั้นเป็นสิ่งสำคัญไม่ต่างจากนวัตกรรมในการพัฒนาการผลิตหรือการแพทย์ ซึ่งหากต้นกล้ารั่วไหล ก็ติดตามรอยได้ยาก ฉะนั้นญี่ปุ่นจึงต้องพยายามอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันไม่ให้รั่วไหลออกไปนอกประเทศ ซึ่งความพยายามอย่างหนึ่งก็คือการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว

strawberry pearlwhite
สตรอเบอร์รี่พันธุ์ “เพิร์ลไวท์” パールホワイト

ปัญหาการที่ผลไม้พันธุ์ดีของญี่ปุ่นรั่วไหวออกไปนอกประเทศ ก็คือการที่ญี่ปุ่นจะสูญเสีย “ความเป็นผู้นำตลาดในต่างประเทศ” ผลไม้เกาหลีเริ่มจะมีมามากขึ้นทุกปีๆ ในตลาดผลไม้ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากข้อมูล World’s top exports มูลค่าการส่งออกสตรอเบอร์รี่สด (ไม่แช่แข็ง) ณ ปี พ.ศ. 2562 นั้น เกาหลีนำอยู่ที่ 527 ล้านดอลลาร์ ส่วนญี่ปุ่นตามหลังอยู่ที่ 193 ล้านดอลลาร์ ห่างกันถึง 2.7 เท่า และนอกจากสตรอเบอร์รี่แล้วยังมีพันธุ์พืชอีกมากที่เพาะปลูกอย่างไม่ถูกต้อง ญี่ปุ่นคงยอมให้ทรัพย์สินทางปัญญาของเกษตรกรญี่ปุ่นรั่วไหลต่อไปอีกไม่ได้แล้ว หากยังปล่อยให้รั่วไหลไปนอกประเทศ ให้เขาปลูกกันในท้องถิ่นของเขากันได้ตามใจชอบแล้ว การจะไปเรียกร้องเอา “ค่าสิทธิ” นั้นจะเป็นเรื่องยากยิ่ง ญี่ปุ่นมาถึงยุคที่ต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้ผักและผลไม้ของญี่ปุ่นถูก “ลักเอาไป” ง่ายๆ อย่างที่เคยเป็นมา

ในการแข่งขันทางการตลาดที่มุ่งขายเอาปริมาณมากๆ กดราคาขายให้ถูกๆ โดยคิดว่าจะล่อผู้ซื้อให้หันมาซื้อสินค้าของตนนั้น ผู้บริโภคอาจชอบใจว่าได้ประหยัดเงินในกระเป๋า แต่หารู้ไม่ว่า ของถูกและดี ไม่มีอยู่จริงในโลก การนิยมแต่ “ของถูก” อาจกลายเป็นช่องทางให้บางประเทศ (ไม่ต้องบอกคงเดาออกว่าประเทศอะไร) ผลิตแต่ของเลวๆ ปริมาณมากๆ ไม่มีคุณภาพออกมาทุ่มตลาด ซึ่งสินค้าพวกนี้ซื้อไปก็ใช้ไม่ได้กลายเป็นขยะ (และเป็นการผลาญพร่าทรัพยากรอย่างเลวทรามด้วย) หรือเป็นตัวเร่งให้ผู้ผลิตทำได้ทุกอย่างเพื่อกดต้นทุนให้ถูกโดยไม่สนจริยธรรม ลักขโมยทรัพย์สินทางปัญญาที่คนอื่นเขาคิดค้นขึ้นมาด้วยหยาดเหงื่อแรงงาน “ของถูกไม่ใช่ของดี” “การซื้อของถูกคือการดูถูกคุณค่าของภูมิปัญญาและหยาดเหงื่อแรงงาน” “ของที่แพงกว่าย่อมมีเหตุผลอันควรที่มันแพงกว่า (คุณภาพดีกว่า มีต้นทุนในการคิดค้น)” หากผู้บริโภคหันมามีทัศนคติเช่นนี้ การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา กระทำผิดจริยธรรมก็จะลดน้อยถอยลงไป (เพราะผู้บริโภคอย่างเราไม่สนับสนุนสิ่งนี้) และคนที่พัฒนาสินค้าก็จะมีกำลังใจสร้างสินค้าที่ดีมีคุณภาพให้คนได้บริโภคกันต่อไป ก็ขอฝากตรงนี้ให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณานะครับ

สรุปเนื้อหาจาก nicovideo และ livedoor
ผู้เขียน TU KeiZai-man

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save