ใกล้เทศกาลเด็กผู้ชายซึ่งตรงกับวันที่ 5 พฤษาคมของทุกปี ในวันเด็กนั้นจะมีกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ รวมถึงการกินโมจิที่ห่อด้วยใบโอ๊ก เรียกว่า คะชิวะโมจิ (かしわもち, Kashiwa mochi) มารู้จักกับคะชิวะโมจิ และเรื่องราวเกี่ยวกับใบคะชิวะหรือใบโอ๊กกันนะคะ
ความสำคัญของคะชิวะโมจิ
คะชิวะโมจิเป็นโมจิที่นิยมรับประทานในวันเด็กเพื่อภาวนาขอให้เด็กมีความสุขและมีสุขภาพที่แข็งแรง คะชิวะโมจิทำจากส่วนผสมของแป้งข้าวจ้าว โจชินโกะ (Joshinko, 上新粉) และแป้งข้าวเหนียวอบแห้ง ชิระทะมะโกะ (Shiratama ko, 白玉粉) โดยโมจิที่ได้จะถูกนำมาห่อถั่วแดงหวานบดแล้วนำมาห่อด้วยใบโอ๊กหรือคะชิวะ
คนญี่ปุ่นมีความเชื่อในการใช้ใบโอ๊กห่อโมจิ จากการที่ต้นโอ๊กหรือคาชิวะเป็นไม้ที่ไม่ผลัดใบจนกว่ายอดอ่อนจะแตกขึ้นมา คนญี่ปุ่นจึงใช้เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรืองของผู้สืบสกุล โดยสามารถหาซื้อคะชิวะโมจิมารับประทานได้ทั้งปีไม่เฉพาะแต่ช่วงวันเด็กเท่านั้นในพื้นที่แถบคันโตรวมทั้งโตเกียว
กินใบคะชิวะหรือโอ๊กที่ห่อโมจิได้หรือไม่?
มักมีคำถามจากเพื่อนคนไทยและต่างชาติว่าสามารถกินใบไม้ไปพร้อมกับโมจิได้เลยหรือไม่ จริง ๆ แล้วคนญี่ปุ่นไม่กินใบโอ๊ก โดยจะลอกใบโอ๊กออกและกินเฉพาะโมจิ แต่หากอยากลองกินดูก็ไม่เป็นอันตราย เพียงแค่ใบโอ๊กแข็งเหนียวซึ่งอาจไปรบกวนความอร่อยของโมจิและไส้ถั่วแดงได้ อีกทั้งหากเสียดายอยากกินจริง ๆ ก็สามารถนำใบอ่อนของโอ๊กมาห่อโมจิแล้วนำไปนึ่งหรือเข้าไม่โครเวฟก่อนก็ได้ ทั้งนี้ก็มีเหตุผลอธิอบายถึงการนำใบโอ๊กมาห่อโมจินอกเหนือจากความเชื่อข้างต้นดังนี้คือ
–ใบโอ๊กมีกลิ่นหอม ทำให้โมจิมีกลิ่นหอมอร่อยชวนประทับใจ
–มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียจากสารชื่อยูเกนอล (Eugenol) ในอดีตญี่ปุ่นยังไม่มีตู้เย็น การใช้ใบโอ๊กห่อขนมจึงเป็นภูมิปัญญาของคนสมัยก่อนในการช่วยยืดอายุอาหารจากการบูดเน่าเนื่องจากแบคทีเรีย
–ช่วยรักษาความชุ่มชื้นในโมจิ ทำให้โมจินุ่มอร่อยนานแม้จะเก็บไว้ในตู้เย็น
–ป้องกันมือเลอะในขณะกินโมจิ
นอกจากความเชื่อที่ดีต่อจิตใจแล้ว ใบโอ๊กก็มีประโยชน์ทั้งสร้างรสหอมอร่อยและช่วยยืดอายุของโมจิได้ หากมาญี่ปุ่นในช่วงนี้อย่าลืมลองซื้อคะชิวะโมจิที่วางจำหน่ายอยู่ทั่วไปลองรับประทานดูนะคะ ขณะนั่งเขียนผู้เขียนนึกอยากกินคะชิวะโมจิไปค่ะ