ทำความรู้จัก 南蛮の菓子(Nanbangashi) ขนมที่ชาวญี่ปุ่นรับอิทธิพลมาจากต่างชาติ

หลายคนอาจจะเคยได้ยิน หรือเคยได้เรียนในวิชาประวัติศาสตร์ ว่ามีขนมไทยหลายชนิด เช่น ทองหยิบ ทองหยอด หรือฝอยทอง ที่เป็นขนมที่ได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตกที่เข้ามาทำการค้าในสมัยอยุธยา ประเทศญี่ปุ่นเองก็เช่นกัน การเข้ามาของต่างชาติ และเผยแผ่ศาสนาของคณะมิชชันนารี ทำให้ชาวญี่ปุ่นได้เรียนรู้และรับการถ่ายทอดวัฒนธรรมต่าง ๆ มาด้วย หนึ่งในนั้นก็คือ “การทำขนม” นั่นเอง

วันนี้เราจะพาเพื่อน ๆ ไปรู้จักกับ “南蛮の菓子・nanbangashi” ซึ่งเป็นชื่อเรียกรวมของขนมญี่ปุ่นที่รับอิทธิพลมาจากต่างชาติ มีความเก่าแก่หลายร้อยปี โดยถูกนำเข้ามาในประเทศญี่ปุ่นช่วงก่อน-หลัง ยุคอาซูจิ–โมโมยามะ (ประมาณ ค.ศ.1573-1603) จะมีอะไรบ้างนั้น ไปรู้จักพร้อมๆ กันเลยค่ะ

1. 金平糖・Konpeto・คอมเปโตะ

“คอมเปโตะ” เป็นหนึ่งในบรรดาขนมที่ถูกนำเข้ามาในญี่ปุ่นโดยคณะมิชชันนารีจากชาติโปรตุเกสเมื่อปี ค.ศ. 1546 ในยุคสงครามกลางเมือง ทำจากน้ำตาล มีสีสันสวยงามและรูปร่างแปลกตา จึงค่อนข้างเป็นที่สะดุดตาในหมู่ชาวญี่ปุ่น  และยังถูกนำเป็นเครื่องราชบรรณาการให้กับโอดะ โนบุนากะ ไดเมียวในสมัยนั้น

“คอมเปโตะ” ถูกนับว่าเป็นของล้ำค่า มีราคา มีเพียงแค่ขุนนางหรือซามูไรที่สามารถรับประทานได้ แถมวิธีการทำก็ถูกปิดเป็นความลับอีกด้วย ต่อมา “คอมเปโตะ”  เริ่มเป็นที่นิยมในนางาซากิ ส่งต่อไปยังเกียวโต และเอโดะ ปัจจุบัน นอกจากจะนำมารับประทานเป็นของว่าง ยังนิยมนำจัดใส่ถุง หรือขวดแก้ว เพื่อเป็นของขวัญ หรือของฝากอีกด้วย

2. カルメ焼き・karume yaki・คารุเมะ ยากิ

 

View this post on Instagram

 

A post shared by Shimokita Mom (@shimokitamom) on

“คารุเมะ ยากิ” เข้ามาในญี่ปุ่นช่วงปลายยุคมุโระมาจิ หรือประมาณ 450 ปีที่แล้ว โดยชาวโปรตุเกส มีเนื้อสัมผัสที่กรอบ ในส่วนของวิธีการทำนั้นดูเหมือนจะทำง่าย เพราะมีส่วนผสมเพียง 3 อย่าง คือ น้ำตาล น้ำ และเบกกิ้งโซดา แต่การจะย่างให้ “คารุเมะ ยากิ” ออกมารูปร่างสวยงามนั้น จำเป็นต้องกะเวลาในการผสมส่วนผสมและอุณหภูมิ จึงใช้เวลาในการฝึกฝนพอสมควร ปัจจุบัน สามารถพบเห็น “คารุเมะ ยากิ” ที่ทำขายกันสด ๆ ได้ตามเทศกาล หรือร้านค้าบริเวณศาลเจ้า

3. カステラ・kasutera・คาสเทลล่า

 

View this post on Instagram

 

A post shared by Sachi (@itsme_sachie) on

เมื่อศตวรรษที่ 16 หรือช่วงปลายยุคมุโระมาจิ ชาวโปรตุเกสได้เริ่มเข้ามาการค้าขายและเผยแพร่ศาสนา และได้นำขนมชนิดนี้เข้ามาถ่ายทอดแก่ชาวญี่ปุ่น มองภายนอก “คาสเทลล่า” ดูนุ่มฟู เหมือนกับขนมเค้ก หลายคนคงจะคิดว่าส่วนผสมและวิธีการทำคงจะเหมือนกัน แต่ส่วนผสมหลักของคาสเทลล่าคือ ไข่และน้ำเชื่อม ไม่มีเนยและน้ำมันเป็นส่วนประกอบ ชาวญี่ปุ่นชื่นชอบคาสเทลล่า เพราะสามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน เหมาะกับการทานคู่กับน้ำชา หรือเป็นของฝาก และในปัจจุบัน คาสเทลล่าก็เป็นของขึ้นชื่อของจังหวัดนางาซากิอีกด้วย

4. 有平糖・aruheitou・อารุเฮโตะ

 

View this post on Instagram

 

A post shared by サロン・エスコ (@saloon_esuko) on

มีลักษณะเหมือนลูกอม ไม่แข็ง เนื้อสัมผัสที่กรอบ ไม่ว่าจะอม หรือเคี้ยว ก็อร่อยทั้งสองแบบ “อารุเฮโตะ” บางที่ก็เรียก “อาริเฮโตะ” มีน้ำตาล เป็นส่วนประกอบหลัก เหมือนลูกอมทั่วไป แต่ อารุเฮโตะ ก็มีความพิเศษแตกต่างจากลูกอมชนิดอื่น ๆ คือ มีความทนทานต่อความชื้น เนื่องจากมีน้ำในอัตราส่วนต่ำ และยังทนต่อความร้อน ไม่ละลายง่าย ๆ เพราะถูกต้มในอุณหภูมิสูง แม้ในฤดูฝนที่มีชื้นสูงหรือในฤดูร้อน อารุเฮโตะก็คงรักษาคุณภาพและคงความอร่อยไว้ได้นานกว่าขนมทั่วไป และในการทำ อารุเฮโตะจะถูกนวดจนบาง ทำให้มีอากาศเข้าไปเยอะ ทำให้มีเนื้อสัมผัสที่กรอบนั่นเอง

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ มองเผิน ๆ ดูเป็นขนมสัญชาติญี่ปุ่นแท้ ๆ แต่แท้จริงแล้วก็ได้รับอิทธิพลจากชาวต่างชาตินั่นเอง เพื่อน ๆ ที่เคยไปเที่ยว หรือเคยชมภาพยนตร์ ละคร หรืออนิเมะญี่ปุ่น อาจจะเคยเห็นขนมเหล่านี้ผ่านตามามาบ้าง เพราะขนมเหล่านี้อยู่คู่กับชาวญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่นไปในที่สุด นอกจากนี้ยังมีขนมและอาหารอื่น ๆ  อีกหลายชนิด ที่ชาวญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลมาจากต่างชาติ จะมีอะไรบ้างนั้น แล้วจะมาเล่าสู่กันฟังในบทความต่อไปค่ะ

สรุปเนื้อหาจาก : e-okina, biyori.shizensyokuhin, gogen-allguide, kanro

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save