สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านทุกท่าน ภาษาญี่ปุ่นนั้นก็มีภาษาและคำเรียกที่แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่นเหมือนกับไทยเรานะคะ ซึ่งครั้งนี้จะมาเสนอคำเรียกสิ่งของ 10 อย่าง ที่คนญี่ปุ่นเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นค่ะ ถ้าเป็นคนที่รู้ภาษาญี่ปุ่นอยู่แล้วนั้น ส่วนใหญ่อาจจะรู้จักแต่คำเรียกทั่วๆไป แต่งานนี้ต่อให้รู้ภาษาญี่ปุ่นก็ต้องมีงงกันบ้างล่ะค่ะ มาลองดูกันดีกว่าค่ะว่าแต่ละท้องถิ่นเค้าจะเรียกอะไรแตกต่างกันอย่างไรบ้าง และของ 10 อย่างที่กล่าวมามีอะไรบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ!
1.รองเท้าใส่ในอาคารเรียนของนักเรียนญี่ปุ่น
รองเท้าที่ใส่เดินในอาคารเรียนของญี่ปุ่นนั้น ทางฝั่งคันโต(ฝั่งโตเกียว) จะเรียกว่า “うわばき” (uwabaki) เป็นหลักค่ะ ส่วนจังหวัดฮอกไกโด, คุมาโมโตะ, โออิตะ จะเรียกว่า “うわぐつ” (Uwagutsu) จังหวัดวากายะมะ จะเรียกว่า “バレエシューズ”(Ballet Shoes) ฝั่งโทโฮคุจะเรียกว่า “ズック” (Zukku) เป็นต้นค่ะ
2.ข้าวโพดล่ะ? ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่าอะไร?
สำหรับข้าวโพดนี่มีความจำแม่นตั้งแต่ตอนเรียนเลยค่ะเพราะแปลกใจมาก อะไรจะยาวและศัพท์น่ารักขนาดนี้เนี้ย! ซึ่งเขาเรียกกันว่า “とうもろこし”(Tomorokoshi) ค่ะ แต่รับรองว่าถ้าไปเจอท้องถิ่นอื่นและได้ยินคำเหล่านี้ต้องมีงงกันบ้างล่ะ เช่น
ฮอกไกโด – とうきび (Tokibi)
นากาโนะ, ยามานาชิ – もろこし (Morokoshi)
โทยามะ, กิฟุ – とうなわ (Tonawa)
ฮิโรชิมะ, ชิมาเนะ – まんまん (man man) หรือมีอีกคำที่คนชิมาเนะเรียกกัน คือ とうとこ(Totoko)
มิยาซากิ – まごじょ(Magojo)
จังหวัดใกล้โตเกียวยังเรียกแตกต่างโดยสิ้นเชิง อย่างจังหวัดชิบะ เรียกว่า ぎょく (Gyoku)
ไอจิ, ยามากุจิ, เกียวโต – なんばん (Nan ban)
ภูมิภาคคินคิ, มิเอะ, โอคายามะ, โทคุชิมะ จะเรียกเหมือนย่านฮิตแถวโอซาก้า คือ なんば (nanba)
มิยะกิ, ฟุกุชิมะ, โทจิกิ และ อิบะระกิ – とうみぎ (Tomigi)
โอคายามะ – さつまきび (Satsumakibi)
คะงะวะ – こーりょん (Koryon)
โอกินาวะ – やまととーんちん (Yamatotonchin)
3.เกมชูนิ้วโป้ง คนญี่ปุ่นเขาเรียกว่าอะไรกันบ้าง?
สำหรับเกมนี้แม้แต่ผู้ใหญ่ยังหยิบมาเล่นกันบ้างบางครั้งบางคราว โดยผู้เล่นใช้เพียงนิ้วโป้งขึ้นมาคนละสองนิ้วเท่านั้น เมื่อพูดเลขใดเลขหนึ่งขึ้นมาแล้วทุกคนต้องเลือกที่จะชูนิ้วทั้งสองข้าง,ข้างเดียว หรือไม่ชูขึ้นมาเลย ซึ่งจำนวนเลขจะเท่ากับจำนวนนิ้วของผู้เล่นทั้งหมด แค่อย่าให้จำนวนนิ้วตรงกับเลขที่พูดขึ้นมาเท่านั้น ใครที่ผิดกติกาก็ต้องเก็บมือไปทีละข้าง ใครเหลือเป็นคนสุดท้ายคือผู้ชนะ ถือว่าเป็นเกมฝึกสมองที่ดีอย่างหนึ่งเลยล่ะค่ะ ซึ่งคนญี่ปุ่นเขามักเรียกว่า…
“いっせいーのせい(issei nosei)” โดยที่ที่เรียกจะเป็นทาง โตเกียว คานางาวะ อิชิคาวะ ฟุกุชิมะ กับอิบารากิค่ะ
“いっせーので(issei node)” จะเป็นทาง ฮอกไกโด เฮียวโกะ ฮิโรชิมะ และชิสุโอกะ
“指スマ(Yubisuma)” เรียกโดยจังหวัดนีงาตะ และโทยามะ ค่ะ
นอกจากนี้ก็มี “チーバリ(Chiibari)” – จังหวัดยามากุจิ, “ちーばる(Chiibaru)” – จังหวัดไอจิ, “ルンルン(runrun) อ่านว่า รุนรุน” – จังหวัดฟุคุอิ และ “せっさん(sessan)” – จังหวัดยามานาชิ
4.อาหารประเภทนี้ใช่ซุปมิโซะหมูหรือเปล่า?
สำหรับอาหารในภาพนี้ดูแล้วก็เหมือนจะเป็นซุปมิโซะใส่หมู (豚汁 อ่านว่า tonjiru หรือ butajiru) ซึ่งเป็นอาหารจากทางจังหวัดยามากาตะโดยเรียกว่า “芋煮(imoni)” ซึ่งแม้แต่ภายในจังหวัดเดียวกัน รสชาติของทางชายฝั่งและในแผ่นดินใหญ่ภายในจังหวัดนั้นยังต่างกันออกไปอีก ทั่วประเทศญี่ปุ่นนั้น มีจังหวัดที่เรียกซุปนี้ว่า 芋煮(imoni) ได้แก่ จังหวัดยามากาตะ, จังหวัดมิยะงิและจังหวัดฟุกุชิมะ ส่วนจังหวัดอื่นๆที่เหลือจะเรียกซุปนี้ว่า 豚汁(อ่านว่า tonjiru หรือ butajiru) ค่ะ
5.กระดาษแบบนี้คนญี่ปุ่นเขาเรียกว่าอะไรนะ?
โดยทั่วไปแล้วกระดาษแผ่นใหญ่ที่มีความหนาและแข็งแรงที่คนญี่ปุ่นนิยมใช้ร่างแบบ, ทำแผนที่หรือเป็นแผ่นประกาศนี้ เรียกว่า “模造紙” (mozoushi) ซึ่งในความหมายตรงๆ 模造 แปลว่าเลียนแบบ ญี่ปุ่นได้เลียนแบบกระดาษลักษณะนี้ของออสเตรเลียมาและดัดแปลงเป็นกระดาษญี่ปุ่น ซึ่งถือกำเกิดครั้งแรกในสมัยเมจิค่ะ
แต่ในจังหวัดโทะยะมะ เรียกว่า ガンピ(gampi), จังหวัดยามากาตะ – オーバンシ(obanshi), จังหวัดนางาซากิและคุมาโมโตะ เรียกว่า ヒロヨーシ(hiroyoshi), จังหวัดนีงาตะ – タイヨーシ(taiyoshi), จังหวัดกิฟุและไอจิ เรียกว่า ビーシ(bishi) และจังหวัดคางาวะ, เอะฮิเมะ และโอกินาวะ จะเรียกว่า トリノコヨーシ(torinokoyoshi)
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ 5 อย่างแรกนี่เพียงน้ำจิ้มเท่านั้น บางทีก็มีงงบ้างล่ะค่ะว่าอันนี้คือเรียกของสิ่งเดียวกันจริงดิ! แอบเอาบางคำไปถามเพื่อนคนญี่ปุ่นเขายังงงกลับมาเลยค่ะ ^^ เอาเป็นว่าจะเดินทางไปจังหวัดไหนอย่างไรลองศึกษาหรือเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมประจำท้องถิ่นเอาไว้ไม่เสียหายค่ะ ดีไม่ดีจะยิ่งทำให้การไปยังสถานที่นั้นสนุกขึ้นกว่าเดิมด้วยนะคะ
อ้างอิงเนื้อหาจาก jimococo.mag2