บทความที่แล้วเราพูดถึงสิ่งของ 5 อย่างที่เรียกแตกต่างกันในภาษาญี่ปุ่นไปแล้ว มาถึงบทความนี้ที่จะมีอีก 5 อย่างมานำเสนอให้ได้ทราบกันค่ะว่า ในภาษาญี่ปุ่นนั้นเรียกสิ่งของที่เหมือนกันแตกต่างกันออกไปอย่างไรบ้าง ตามมาได้เลยค่า!
6. ขนมญี่ปุ่นชิ้นนี้เรียกว่า…

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการทานขนมญี่ปุ่น พอจะมีใครทราบบ้างไหมคะว่าขนมหน้าตาแบบนี้เรียกว่าอะไร? ภูมิภาคคันโตของญี่ปุ่นจะเรียกขนมชนิดนี้ว่า “今川焼き” (imagawayaki) เป็นขนมญี่ปุ่นอีกชนิดที่สอดไส้ถั่วแดงอยู่ข้างในค่ะ ซึ่งสำหรับใครที่รู้จักอยู่แล้วหรือไม่รู้จักเลย แล้วไปเจอขนมแบบนี้ในอีกหลายๆจังหวัด ถึงจะหน้าตาเหมือนกันแต่การเรียกที่ต่างกันเราอาจเข้าใจผิดว่าเป็นขนมคนละชนิดกันไปเลยก็ได้
大判焼き(obanyaki) หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับชื่อนี้นะคะ จังหวักที่เรียกแบบนี้ก็จะมีที่ อาคิตะ, ยามากาตะ, มิยางิ, อิบารากิ, ทตโตริ, ชิมาเนะ, ยามากุจิ, โทคุชิมะ และที่คางาวะ
二重焼き(nijuyaki) – นีงาตะ, โทยามะ, อิชิคาวะ, ฮิโรชิมะ
回転焼き(kaitenyaki) – เกียวโต, นาระ, โอซากะ และฝั่งคิวชู
おやき(oyaki) – ฮอกไกโด, อาโอโมริ และอิวาเตะ
今川焼き(imagawayaki) – โตเกียว, คานางาวะ, ไซตามะ, นากาโนะ
御座候(gozasousou) – เฮียวโกะ
7. แปรงลบกระดานภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “黒板消し”(kokubankeshi) ไม่ใช่เหรอ?

ส่วนใหญ่แล้วแปรงลบกระดานในภาษาญี่ปุ่นเขาก็จะเรียกกันว่า 黒板消し(kokubankeshi) นี่แหล่ะค่ะ ซึ่งมีความหมายตรงตัวเลย 黒板(kokuban) แปลว่า กระดานดำ และ 消し มาจากคำว่า 消す ที่แปลว่า ลบ นั่นเอง แต่จะมีอยู่แค่ที่เดียวเท่านั้นที่เรียกแตกต่างออกไปค่ะ นั่นคือที่จังหวัดคาโกชิมะ โดยจะเรียกแปรงลบกระดานกันว่า “ラーフル” (rafuru) ค่ะ
8. พลาสเตอร์ยาเรียกว่าอะไรนะ?

พลาสเตอร์ยาแปะแผลในภาษาญี่ปุ่น อาจจะรู้จักกันในชื่อที่เรียกว่า “絆創膏” (bansoukou) แต่ก็ยังมีคำเรียกอื่นๆในหลายๆจังหวัดที่เรียกแตกต่างกันออกไปค่ะ เช่น
サビオ(sabio) – เรียกโดยจังหวัดฮอกไกโด, วากายามะ และฮิโรชิมะ
カットバン(kattoban) เรียกโดยจังหวัดทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น
バンドエイド(bandoeido) ได้แก่ โตเกียว, คานางาวะ และไซตามะ
リバーテープ(ribatepu) ได้แก่ จังหวัดโออิตะ, คุมาโมโตะ และนางาซากิ
ซึ่งวิธีเรียกแต่ละแบบนี้ส่วนใหญ่แล้วเรียกตามยี่ห้อที่ผลิตเลยค่ะ ตัวอย่างเช่น バンドエイド(bandoeido) มาจากคำภาษาอังกฤษว่า Band Aid ค่ะ แต่ดูเหมือนว่ายี่ห้อ サビオ(sabio) น่าจะเลิกผลิตไปแล้วค่ะ
9. ท่านั่งเทพธิดานั้นญี่ปุ่นเขาเรียกว่าอะไรกัน?

ถ้าพูดถึงคนญี่ปุ่นแล้วการนั่งท่าเทพธิดากับพื้นดูเหมือนจะเป็นภาพจำปกติในมุมมองคนต่างชาติแน่นอน แต่เอาเข้าจริงแล้วก็ไม่รู้เลยว่าเขาเรียกท่านั่งแบบนี้ในภาษาญี่ปุ่นว่าอะไร เรียกได้ว่าวิธีเรียกของแต่ละที่นั้นน่ารักจนไม่รู้ว่าหมายถึงการนั่งและแถมยังแตกต่างกันจนทำให้งงได้ง่ายด้วยล่ะค่ะ
正座(seiza) หมายถึงท่านั่งเทพธิดา โดยจังหวัดฮอกไกโดเรียกว่า おっちゃんこ(occhanko),
จังหวัดฟุกุอิ เรียกว่า おちょきん(ochokin), จังหวัดโทยามะ เรียกว่า ちんちん(chinchin),
จังหวัดฟุกุชิมะ เรียกว่า おじゃんこら(ojankora), จังหวัดกิฟุ เรียกว่า おちょこん(ochokon),
จังหวัดเอฮิเมะ เรียกว่า おちょっぽ(ochoppo), จังหวัดคาโกชิมะ เรียกว่า きんきん(kinkin),
จังหวัดอาโอโมริ เรียกว่า ひざを折る(hiza wo oru), จังหวัดโอกินาวะ เรียกว่า ひざまずき(hisamazuki)
และจังหวัดเกียวโต เรียกว่า おっちん(occhin)
10. ไก่ทอดคาราอาเกะยอดนิยมยังเรียกว่าอะไรได้อีกล่ะ?

ของทานเล่นยอดนิยมทั้งในหมู่เด็กๆและผู้ใหญ่อย่าง “から揚げ” (karaake) หรือไก่คาราอาเกะนั้น มีอยู่จังหวัดหนึ่งที่เรียกแตกต่างออกไปค่ะ นั่นคือที่จังหวัดฮอกไกโดนั่นเอง โดยเขาจะเรียกกันว่า “ザンギ”(zangi) หากใครไปเที่ยวฮอกไกโดแล้วเจอคำนี้จำไว้เลยค่ะว่านี่คือไกคาราอาเกะร้อนๆกรอบๆแสนอร่อยที่เราคุ้นเคยกันดีเนี่ยล่ะค่ะ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ถือว่าเป็นเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆ (แต่เนื้อหายาวไปสักหน่อย)ให้ได้อ่านเล่นกันค่ะ การที่ได้คุยกับใครสักคนแล้วรู้ว่าเขาเรียกของบางอย่างแตกต่างจากที่เราเรียกมันก็แปลกดีนะคะ และบางครั้งก็ทำให้บทสนทนาสนุกขึ้นด้วย ได้เรียนรู้คำแปลกใหม่ด้วย นอกจากจะได้รู้ภาษาถิ่นของญี่ปุ่นกันไปแล้วยังทำให้รู้เลยค่ะว่าภาษาของคนประเทศเดียวกันเองเขาก็ยังมีคำเรียกที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละพื้นที่เหมือนกับบ้านเราเช่นเดียวกันค่ะ ไม่เชื่อลองไปถามเพื่อนที่เกิดทางภาคอื่นๆดูได้เลยค่ะ บางคำได้ยินต้องแปลกใจแน่นอน สำหรับวันนี้ขอลาไปก่อนนะคะ ^ ^
อ้างอิงเนื้อหาจาก jimococo.mag2