เสียงกลองไทโกะ (太鼓) ในการแสดงเอซา (エイサー) ที่ดังสนั่นไปทั่วทั้งเมือง คือสัญญาณที่บ่งบอกว่าฤดูร้อนได้มาเยือนจังหวัดโอกินาวะแล้ว ด้วยท่าเต้นและการร่ายรำที่พร้อมเพรียงและทรงพลัง พร้อมด้วยเครื่องแต่งกายสีสันฉูดฉาดของทีมนักแสดงหนุ่มสาวที่จัดตั้งขึ้นโดยหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นในท้องที่ต่างๆ ของจังหวัดโอกินาวะ ทำให้ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่ว่าบางท่านวางแผนที่จะมาเที่ยวจังหวัดโอกินาวะเพื่อมารับชมการแสดงนี้โดยเฉพาะเลยทีเดียว เชื่อว่าเพื่อนๆ หลายท่านคงเริ่มอยากรู้จักกับการแสดงนี้กันแล้วใช่ไหมครับ ดังนั้น วันนี้ผมจะขอแนะนำประวัติคร่าวๆ และจุดที่น่าสนใจเกี่ยวกับการแสดงเอซาให้เพื่อนๆ ได้รับทราบกันครับ
“เอซา” คืออะไรกันนะ ?
เอซา คือการแสดงพื้นเมืองของจังหวัดโอกินาวะ ซึ่งจะจัดขึ้นทุกปีในช่วงเทศกาลบง (旧盆) เพื่อต้อนรับและส่งดวงวิญญาณของบรรพบุรุษที่กลับมาเยี่ยมเยียนครอบครัวในช่วงเทศกาลบง โดยทีมนักแสดงหนุ่มสาวจะเดินขบวนผ่านพื้นที่ต่างๆ ด้วยการเต้นรำตามจังหวะเสียงดนตรี คล้ายกับการเต้นรำบงโอโดริ (盆踊り) นั่นเอง
เดิมที เอซาเป็นเพียงแค่การแสดงพื้นเมืองธรรมดาทั่วๆ ไป เท่านั้น แต่หลังจากเริ่มมีการจัดงานประกวดแข่งขันที่ชื่อว่า “เซ็นโทเอซาคองคุรุ” (全島エイサーコンクール) (ปัจจุบันคือเซ็นโทเอซามัตสึริ, 全島エイサーまつり) ที่เมืองโคซะ (ปัจจุบันคือเมืองโอกินาวะ) ตั้งแต่ปี 1956 เป็นต้นมา ก็ได้เริ่มมีการปรับเปลี่ยนดนตรีประกอบ การจัดเรียงขบวน และท่วงท่าการเต้น เพื่อให้คนดูสามารถสนุกสนานเพลิดเพลินไปกับการแสดงได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ปัจจุบัน เอซาไม่ใช่แค่การแสดงในฐานะที่เป็นศิลปะพื้นเมืองของจังหวัดโอกินาวะเท่านั้น แต่ยังแพร่ขยายไปในวงกว้างในฐานะที่เป็นการแสดงเพื่อความบันเทิงอีกด้วย
จุดเด่นของการแสดงและหน้าที่ของนักแสดงในทีม
1. การเต้น (踊り)
การเต้นอย่างพร้อมเพรียงเข้ากับหวะของเสียงดนตรี คือจุดที่เป็นเสน่ห์และน่าหลงใหลมากที่สุดของการแสดงเอซา นอกจากนี้ แม้จะเป็นบทเพลงเดียวกันแต่ท่วงท่าการเต้นของแต่ละทีมก็อาจแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากแต่ละทีมต่างมีท่าเต้นที่มีลักษณะเฉพาะตัวแตกต่างกันไป เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของการแสดงเอซาเลยก็ว่าได้
2. การแห่ขบวนกราบไหว้บูชาบรรพบุรุษ “มิจิจูเน่” (道ジュネー)
เป็นการแสดงที่จัดขึ้นเพื่อต้อนรับและส่งดวงวิญญาณของบรรพบุรุษที่กลับมาเยี่ยมเยียนครอบครัวในช่วงเทศกาลบง และเป็นการแสดงที่ได้รับความสนใจจากคนจำนวนมาก ไม่ใช่แค่เฉพาะคนในจังหวัดโอกินาวะเท่านั้น แต่ยังมีผู้ชมที่เดินทางมาจากภูมิภาคต่างๆ ของประเทศญี่ปุ่น เพื่อมารับชมการแห่ขบวนนี้ด้วย
3. หน้าที่ของนักแสดงในทีม
หากพูดถึงเอซาล่ะก็ คนทั่วไปคงจะนึกถึงกลุ่มนักแสดงที่ตีกลองใหญ่ไทโกะ (大太鼓) พร้อมกับเดินขบวนร่ายรำตามจังหวัดดนตรี ซึ่งจริงๆ แล้ว การแสดงเอซาไม่ได้มีแค่นักแสดงที่ตีกลองใหญ่ไทโกะเท่านั้น แต่จะประกอบไปด้วยนักแสดงที่ทำหน้าที่ต่างๆ ดังนี้
กลองใหญ่ไทโกะ (大太鼓)
うるま市平安座青年会
他の青年会とは違うバチさばきです。人数は年々減っているが活気のある青年会です。エイサーだけではなくハーリーや綱引きや地域の行事等などで活躍されています。 pic.twitter.com/nFB0xKJV0Z— エイサー情報 (@kt9FUPz9u5fpUE2) September 16, 2017
กลองที่มีเสียงอันทรงพลังดังสนั่นไปทั่วทั้งเมือง ผู้รับหน้าที่ตีกลองใหญ่ไทโกะจะต้องเผชิญกับความเหน็ดเหนื่อยเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องแบกกลองขนาดใหญ่ไว้กับตัวตลอดเวลาและต้องออกแรงตีให้เสียงดังมากที่สุด พร้อมกับต้องกวัดแกว่งมือเพื่อร่ายรำตามจังหวะเพลงอีกด้วย ดังนั้น ถ้าไม่ผ่านการฝึกฝนมาในระดับหนึ่งล่ะก็ จะไม่สามารถรับหน้าที่นี้ได้เลย และที่สำคัญคือ การเดินขบวนจะเคลื่อนที่ตามจังหวะของเสียงกลองใหญ่ไทโกะเป็นหลัก ดังนั้น หากตีจังหวะพลาด ก็อาจทำให้เสียขบวนได้ เรียกได้ว่าเป็นตำแหน่งที่ต้องอาศัยทักษะความแม่นยำเป็นอย่างมาก
กลองชิเมะไดโกะ (締め太鼓)
เป็นกลองที่มีขนาดเล็กกระทัดรัดกว่ากลองไทโกะ ผู้รับหน้าที่ตีกลองชนิดนี้จึงสามารถร่ายรำตามจังหวะเสียงดนตรีได้อย่างคล่องตัว นอกจากกลองชิเมะไดโกะแล้ว ยังมีกลองไทโกะอีกชนิดหนึ่งที่สามารถพบเห็นได้ในการแสดงเอซา นั่นคือกลองพาลังคู (パーランクー) ซึ่งเป็นกลองที่มีลักษณะแบนและเล็กกว่ากลองไทโกะ
ผู้ร่ายรำเทะโอะโดริ (手踊り)
คือการร่ายรำด้วยมือ ผู้ร่ายรำจะมีทั้งเพศชายและเพศหญิง โดยในบางทีมการร่ายรำของเพศชายจะมีการนำท่าคาราเต้มาปรับใช้เป็นท่ารำเพื่อให้มีความดุดันสมกับเป็นการร่ายรำของชายชาตรี ส่วนเพศหญิงจะเน้นท่ารำที่มีความงดงามอ่อนช้อย แต่อย่างไรก็ดีบางทีมอาจมีการร่ายรำเทะโอะโดริเฉพาะเพศหญิงเท่านั้น ขึ้นอยู่กับการจัดรูปแบบการแสดงของแต่ละทีม
ผู้บรรเลงเพลงประกอบจิคาทะ (地方)
沖縄市諸見里青年会#地方 pic.twitter.com/EmR6m4bhoU
— エイサー情報局 (@eisaokinawasity) November 13, 2019
ทำหน้าที่ขับร้องและบรรเลงเพลงประกอบโดยใช้เครื่องดนตรีที่มีสามสาย มีลักษณะคล้ายกีต้าร์เรียกว่าซันชิน (三線) ถือเป็นอีกหนึ่งตำแหน่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยทีเดียว โดยตอนแห่ขบวนกราบไหว้บูชาบรรพบุรุษ “มิจิจูเน่” (道ジュネー) บางครั้งอาจเห็นพวกเขายืนร้องเพลงพร้อมดีดเครื่องสายซันชินอยู่หลังท้ายรถกระบะคันเล็กๆ
ผู้คุมขบวนซะนะจา (サナジャー)
View this post on Instagram
มีลักษณะเด่นคือจะแต่งหน้าตัวเองให้มีสีขาว ผู้รับหน้าที่นี้จะไม่มีตำแหน่งยืนตายตัว สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ ทำหน้าที่เดินตรวจตราและควบคุมให้ขบวนเคลื่อนที่อย่างเป็นระเบียบพร้อมเพรียงกัน นอกจากนี้ยังทำหน้าที่คอยสร้างความครื้นเครงให้กับผู้ชมที่อยู่รอบๆ อีกด้วย
ผู้ถือธงนำขบวนฮะทะกะชิระ (旗頭)
うるま市へしきや青年会西#へしきや青年会 pic.twitter.com/NiEnqEKcM5
— エイサー情報局 (@eisaokinawasity) May 19, 2020
เป็นตำแหน่งที่ยืนอยู่หน้าสุดของขบวน จะเรียกว่าเป็นหน้าเป็นตาของทีมเลยก็ว่าได้ ผู้ถือธงนำขบวนจะทำหน้าที่โบกธงซึ่งมีความสูงและน้ำหนักที่ค่อนข้างเยอะให้เข้ากับจังหวะดนตรี โดยธงของกลุ่มผู้แสดงแต่ละทีมจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน
เป็นอย่างไรบ้างครับกับประวัติความเป็นมาและจุดที่น่าสนใจของการแสดงเอซาที่ผมได้นำเสนอในวันนี้ ส่วนตัวผมยังไม่เคยไปเที่ยวจังหวัดโอกินาวะเลยสักครั้ง แต่พอเขียนบทความนี้เสร็จ บอกตรงๆ เลยว่า เริ่มอยากจะไปชมการแสดงเอซาที่จังหวัดโอกินาวะขึ้นมาซะแล้วสิ ^_^
สรุปเนื้อหาจาก : okinawa-labo zentoeisa
ผู้เขียน : Aongsama