9 มรดกโลกแห่งโอกินาว่า: นากะกุสุกุ ตำนานเคียงข้างอาณาจักรริวกิว

บนเขาสูงที่เมืองนากะกุสุกุ (中城村) จังหวัดโอกินาว่ามีซากปราสาทนากะกุสุกุ (中城) ที่เป็นที่มาของชื่อเมืองอยู่ นอกจากนากะกุสุกุจะติดอันดับ 100 ปราสาทที่โด่งดังที่สุดในญี่ปุ่นแล้ว ยังเป็นหนึ่งใน 5 ปราสาทหรือกุสุกุ (城) ที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นมรดกโลกโดย UNESCO อีกด้วย แต่เรารู้จักอาณาจักรริวกิว (琉球王国) ผ่านนากะกุสุกุได้อย่างไรบ้าง? ลองไปดูกันค่ะ

ปราสาทของแม่ทัพใหญ่แห่งจูซัน

อาณาจักรริวกิวถือกำเนิดขึ้นเมื่อจูซัน (中山) หนึ่งในสามอาณาจักรในเกาะโอกินาวา ณ ขณะนั้นได้รวมอาณาจักรนันซัน (南山) และโฮคุซัน (北山) เข้าไว้ด้วยกัน โดยหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการรวมประเทศคือโกซามารุ (護佐丸) แม่ทัพใหญ่ของโช ฮาชิ (尚巴志) กษัตริย์แห่งจูซัน

หลังจากที่ยึดนาคิจินกุสุกุ (今帰仁城) ของโฮคุซันได้ โกซามารุได้อาศัยอยู่ที่นาคิจินอยู่ระยะหนึ่งก่อนจะย้ายมายังซาคิมิกุสุกุ (座喜味城) แล้วจึงย้ายมาที่นากะกุสุกุ เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นปราสาทของแม่ทัพแล้ว แน่นอนว่านากะกุสุกุก็ต้องมีโครงสร้างที่เหมาะกับการรบอยู่ เช่นการที่ปราสาทมีกำแพงกั้นอาณาเขต (郭) 3 อาณาเขตเพื่อให้ง่ายต่อการโจมตีข้าศึกที่บุกเข้ามาในปราสาท เป็นต้น

3 ยุค 3 สถาปัตยกรรมในที่เดียว

ถ้าจะมีซากโบราณสถานที่เราจะเห็นพัฒนาการการก่อสร้างของอาณาจักรริวกิวได้ชัดเจน หนึ่งในนั้นก็คงไม่พ้นนากะกุสุกุแน่นอน เมื่อเดินจากทางเข้าปราสาททะลุผ่านปีกใต้และทั้ง 3 อาณาเขตของปราสาทแล้ว เราจะเห็นการก่อหินที่ต่างออกไปในแต่ละจุด

ปีกใต้: การก่อหินแบบโนสึระสึมิ

โนสึระสึมิ (野面積み) เป็นรูปแบบการก่อสร้างที่เก่าแก่ที่สุด โดยนำหินที่ไม่ได้ผ่านการตัดแต่งมาใช้

จากขวาเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงจากการก่อหินแบบโนสึระสึมิไปเป็นนุโนะสึมิ

อาณาเขตที่ 1 และ 2: การก่อหินแบบนุโนะสึมิ

นุโนะสึมิ (布積み) หรืออีกชื่อหนึ่งคือโทฟุสึมิ (豆腐積み) เป็นรูปแบบการก่อสร้างต่อมาที่ตัดหน้าหินให้เป็นทรงสี่เหลี่ยมรับกันพอดี ทำให้ดูเหมือนผืนผ้า (นุโนะ, 布) หรือเต้าหู้ (โทฟุ, 豆腐) จนเป็นที่มาของชื่อ

ปล. จากอาณาเขตที่หนึ่ง เพื่อน ๆ สามารถมองเห็นทะเลทั้งสองฝั่งของเกาะโอกินาวาได้ เป็นวิวที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง

อาณาเขตที่ 3: การก่อหินแบบไอคาตะสึมิ

ไอคาตะสึมิ (相方積み) หรืออีกชื่อหนึ่งคือคิคโครันสึมิ (亀甲乱積み) เป็นรูปแบบการก่อสร้างที่นำหินมาตัดเป็นรูปทรงหลายเหลี่ยมให้รับกันพอดี เป็นรูปแบบการก่อสร้างแบบใหม่ที่พบได้ทั้งที่นี่และกำแพงปราสาทชูริ ด้วยรูปร่างหลายเหลี่ยมจึงทำให้ดูเหมือนกระดองเต่า (亀甲) จนเป็นที่มาของชื่อเช่นกัน

ทั้งนี้ นายพลเปอร์รี่ (Matthew Calbraith Perry) ผู้นำเรือดำมาบังคับให้ญี่ปุ่นต้องเปิดประเทศในสมัยเอโดะ (江戸時代) เคยแวะเยือนที่อาณาจักรริวกิวก่อนจะเดินทางต่อไปยังญี่ปุ่น โดยนายพลเปอร์รี่เคยแสดงความเห็นว่ากำแพงของนากะกุสุกุถูกออกแบบมาให้รับแรงกระสุนปืนใหญ่ได้ดี แม้ว่าจะยังไม่แน่ใจได้ว่าคำพูดนี้เป็นจริงหรือไม่ แต่ก็อาจกล่าวได้ว่านากะกุสุกุเป็นหนึ่งในปราสาทที่แข็งแกร่งอย่างเห็นได้ชัดก็ว่าได้

ฉากสุดท้ายของแม่ทัพผู้ภักดี

ใช่ค่ะ แม้นากะกุสุกุจะเป็นปราสาทที่ไร้เทียมทาน แต่ที่นี่ก็มีตำนานเรื่องเศร้าอยู่ หลังจากที่กษัตริย์โช ฮาชิสิ้นพระชมน์ พระโอรสโช ไทคิว (尚 泰久) ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรริวกิวองค์ต่อมาโดยได้อภิเษกกับบุตรสาวของโกซามารุ ทำให้โกซามารุมีความใกล้ชิดกับราชวงศ์ อย่างไรก็ตาม ขุนนางอีกคนหนึ่งที่มีความใกล้ชิดกับราชวงศ์คืออามาวาริ (阿麻和利) ราชบุตรเขยและเจ้าปราสาทคัตสึเรนกุสุกุ (勝連城) ผู้มีอำนาจทางการเงินจากการค้า เพื่อความอุ่นใจ กษัตริย์โช ไทคิวจึงโปรดให้โกซามารุย้ายจากซาคิมิกุสุกุมายังนากะกุสุกุที่อยู่ตรงกลางระหว่างพระราชวังชูริและคัตสึเร็นกุสุกุเพื่อเฝ้าระวังอามาวาริ

อย่างไรก็ตาม อามาวาริได้ทูลความเท็จว่าโกซามารุกำลังวางแผนกบฏและได้รับพระราชโองการให้ยกทัพมาตีนากะกุสุกุ แม้จะถูกกล่าวหา แต่โกซามารุเลือกที่จะไม่สู้กับกองทัพของอามาวาริเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจและจบชีวิตตัวเองในปราสาท โดยเรื่องเล่ากล่าวว่าโกซามารุได้ซ่อนสาส์นถึงกษัตริย์โช ไทคิวเกี่ยวแผนกบฏของอามาวาริไว้ในปากของตัวเอง ด้วยรู้ว่าอามาวาริต้องนำศีรษะของตัวเองไปถวายกษัตริย์แน่นอน ซึ่งเป็นจริงตามนั้น เมื่อกษัตริย์โช ไทคิวทรงทราบจึงให้แม่ทัพอีกคนนามอุฟุกุสุกุ เคนยู (大城賢雄) พาพระธิดา (ภรรยาของอามาวาริ) ที่คัตสึเร็นกุสุกุกลับมาก่อนจะตีคัตสึเร็นกุสุกุและนำอามาวาริมาประหาร เป็นอันสิ้นสุดความขัดแย้งในพระราชสำนักที่เป็นที่เล่าลือจนปัจจุบัน

เรื่องราวของโกซามารุได้กลายเป็นตำนานที่นิยมเล่าต่อกันมาในอาณาจักรริวกิว จนต่อมาได้ถูกนำมาประพันธ์เป็นบทละครคุมิโอโดริ (組踊) ชื่อ “นิโดเทคิอุจิ (二童敵討)” โดยทามะกุสุกุ โจคุง (玉城朝薫) โดยเนื้อหาเป็นเรื่องของบุตรชายของโกซามารุที่วางแผนลอบสังหารอามาวาริเพื่อแก้แค้นให้บิดา ซึ่งปัจจุบันคุมิโอโดริเองก็ได้รับการจดทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเช่นกัน

อาจกล่าวได้ว่าโกซามารุได้ทิ้งชื่อของตัวเองไว้ทั้งในปราสาทนากะกุสุกุและในบทละครที่เป็นมรดกโลกของโอกินาวา จึงไม่แปลกที่โกซามารุจะกลายเป็นตำนานคู่อาณาจักรริวกิวเพื่อน ๆ ที่สนใจเยี่ยมหลุมศพของโกซามารุสามารถไปเยี่ยมสักการะได้ที่ปีกตะวันออกของปราสาทนะคะ

ปราสาทของมงกุฏราชกุมารแห่งริวกิว

หลังสมัยของโกซามารุ นากะกุสุกุยังคงความสำคัญต่อในฐานะปราสาทในเขตการปกครองของมงกุฏราชกุมารแห่งอาณาจักรริวกิวค่ะ โดยมงกุฏราชกุมารแห่งอาณาจักรริวกิวจะได้รับยศเจ้าชายแห่งนากะกุสุกุ (中城王子) เจ้าชายแห่งนากะกุสุกุองค์สุดท้ายคือโช เท็น (尚典) พระโอรสในกษัตริย์โช ไท (尚泰) กษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรริวกิว เจ้าชายโช เท็นได้เสียยศตำแหน่งนี้ไปพร้อม ๆ กับที่อาณาจักรริวกิวถูกสั่งลดขั้นให้ไปเป็นจังหวัดหนึ่งของญี่ปุ่น เป็นอันสิ้นสุดตำนานของนากะกุสุกุ

ถึงอย่างนั้น นากะกุสุกุก็ยังรอดพ้นจากสงครามและยังคงเหลือเค้าความยิ่งใหญ่ในปัจจุบันให้เห็นอยู่ สมกับที่เป็นปราสาทในตำนานของอาณาจักรริวกิวค่ะ

ข้อมูลทั่วไป

เวลาทำการ: 8.30 – 17.00 น. (ช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายนจะเปิดจนถึงเวลา 18.00 น.)
วันหยุดทำการ: ไม่มีวันหยุด
โทรศัพท์: 098-935-5719
การเดินทาง:
(รถส่วนตัว)ขับรถจากสนามบินนะฮะ 1 ชั่วโมง
(รถบัส) นั่งรถสาย 152 ไปลงที่ป้ายนากะกุสุกุ (中城) แล้วต่อรถแท๊กซี่ขึ้นไปยังตัวปราสาท
ค่าเข้า:
ผู้ใหญ่/เด็ก 400 เยน
อีเว้นท์ที่ห้ามพลาด! : Gosamaru Projection Mapping งานแสดงสีเสียงที่มีทั้งระบำเชิดสิงโต การแสดงเอซา และบทละครที่เล่าเรื่องโกซามารุ โดยมีนากะกุสุกุเป็นฉากหลัง งาน-นี้-เข้า-ฟรี-ค่ะ! ติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์นี้เลย เพื่อนๆ ที่สนใจบรรยากาศงานปีก่อนๆ สามารถชมที่คลิปด้านล่างนี้ได้ค่ะ

สรุปเนื้อหาจาก
JTBパブリッシング(2017)「中城城跡」『ニッポンを解剖する!沖縄図鑑』,pp.88-89
高良倉吉(2013)「中城城跡」『沖縄の世界遺産』,pp.80-85

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save